หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนพฤษภาคม 2566)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนพฤษภาคม 2566)

        ข้อมูลเดือนมีนาคม 2566 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลง เพราะราคาน้ำมันมีราคาลดลง ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีการปรับตัวลดลง จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวน้อยลงมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามา จึงทำให้ในเดือนนี้การผลิตสินค้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีทิศทางที่เป็นบวก ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความแปรปรวนอยู่ แต่ยังไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไรนัก ทั้งนี้ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนอื่นๆ เริ่มมีผลตอบแทนที่ทรงตัวและผันผวน จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากธนาคารมีการทยอยปล่อยสินเชื่อออกมา ทำให้ในเดือนนี้จึงยังมีการขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังต้องมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

เดือน / รายละเอียด

ธันวาคม

65

มกราคม

66

กุมภาพันธ์

66

มีนาคม

66

ดัชนีราคาผู้บริโภค

107.86

108.18

108.05

107.76

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

93.58

99.51

99.34

104.97

อัตราการใช้กำลังการผลิต

59.56

62.16

62.77

66.06

ดุลการค้า

962.70

-2,670.02

1,310.55

4,304.78

ดุลบัญชีเดินสะพัด

967.38

-2,148.91

1,332.33

4,778.55

เงินฝาก

17,117.21

16,996.91

17,158.16

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

18,329.76

18,361.43

18,696.03

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562                เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                 อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ   ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559
                 ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

วิเคราะห์วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยจะสิ้นสุดที่จุดไหน*

ที่มาของภาพ :  https://financeguru.sg/wp-content/uploads/2021/06/everything-interest-rate-cycle-stocks.jpg

        การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแรงหนุนสำคัญของการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตได้ดีตามอุปสงค์คงค้างของผู้บริโภค (Pent-up demand) และจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศคลี่คลาย โดยในปี 2023 นี้ ได้ปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่ระดับ 30 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน นอกจากนี้ตลาดแรงงานได้ทยอยฟื้นตัวโดยเครื่องชี้หลายมิติเข้าใกล้ระดับก่อนเกิด COVID-19 มากขึ้น ขณะที่รายได้ภาคเกษตรยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ขยายตัวชะลอลง และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ากิจกรรมการผลิตในบางอุตสาหกรรมได้กลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนเกิด COVID-19 แล้ว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องจักร อย่างไรก็ตามการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยได้หดตัวลงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาตามอุปสงค์โลกที่อ่อนแอลง แต่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกจะปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

        สำหรับเสถียรภาพราคา อัตราเงินเฟ้อไทยได้ ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3 ปีก่อน และมี สัญญาณขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนมีนาคม 2023 อยู่ที่ 2.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากระดับ 3.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามการลดลงของราคาน้ามันเชื้อเพลิงและราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ชะลอลงเช่นกัน แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 1.7% จากปีก่อน ลดลงมากจาก 1.9% ช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ดีเงินเฟ้อเริ่มขยายวงกว้างไปยังสินค้าหลายประเภทมากขึ้น ในระยะต่อไปเงินเฟ้อไทยยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี

        ด้านภาวะการเงินไทยปรับตึงตัวขึ้นเล็กน้อย จากการปรับดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สู่ระดับปกติมากขึ้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับขึ้นที่ช้ากว่าในหลายประเทศ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าและเงินเฟ้อที่สูงจากปัจจัยอุปทานเป็นหลัก โดยในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ธปท. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งละ 25 BPS จาก 0.5% ในเดือนสิงหาคม 2022 เป็น 1.75% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้พบว่าการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยแต่ละประเภทมีระยะเวลาและขนาดในการส่งผ่านไม่เท่ากันในแต่ละสถาบันการเงิน แต่ในภาพรวมสถาบันการเงินมีการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 40-60% ไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท และส่งผ่านประมาณ 40-100% ไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก นอกจากนี้ยังพบว่าการส่งผ่านในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มักจะมากกว่าการส่งผ่านในช่วงดอกเบี้ยขาลง อีกทั้งสถาบันการเงินมักส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำมากที่สุด และส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่างๆ (M-rates) รองลงมา ขณะที่ส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์น้อยที่สุด

        โดยพบว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มีการส่งผ่านดอกเบี้ยไปสู่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีหรือ MLR มากที่สุด (57%) รองลงมาคือส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจา 12 เดือน (56%) ขณะที่ส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR น้อยที่สุด (22%) ซึ่งสอดคล้องกับการสื่อสารของ ธปท. ที่ต้องการให้ระบบธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ธนาคารจึงพยายามระมัดระวังการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ M-rates เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอีก 0.4% ตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา จากการที่ ธปท. เลิกมาตรการงดเก็บ FIDF fee จาก 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝาก ส่งผลให้อัตรา ดอกเบี้ย MLR และ MRR ปรับเพิ่มขึ้นทันที 36-37 BPS ส่วนหนึ่ง ธปท. มองว่าระบบสถาบันการเงินของไทยมีฐานะเข้มแข็ง สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในระยะต่อไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการลดเงินนาส่ง FIDF และจะช่วยให้หนี้ของ FIDF ทยอยลดลงตามเป้าหมายการชำระคืนหนี้ได้ ดังนั้นการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของระบบสถาบันการเงินในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นครั้งนี้จะประกอบไปด้วยผลจากทั้งการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายและผลจากปรับอัตราเงินนำส่ง FIDF กลับไปที่อัตราเดิม 

        ทั้งนี้ประเมินวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยในรอบนี้จะขึ้นอยู่กับว่าอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะกับการ ขยายตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อไทยหลัง COVID-19  โดย ธปท. ได้ส่งสัญญาณชัดเจนจากการแถลงผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Policy normalization) ดังนั้นจึงคาดว่า ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับดังกล่าวหรือระดับ Neutral rate ได้หากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและแรงกดดันเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ Neutral rate คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในระยะยาวที่มีระดับผลผลิต ณ ระดับศักยภาพ และระดับราคาสินค้า และบริการโดยทั่วไป มีเสถียรภาพตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สะท้อนบทบาทของนโยบายการเงินที่เป็นกลาง ไม่ได้ตึงตัวหรือผ่อนคลาย โดย Neutral rate มีความสำคัญในการเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากราคากลางมักอ้างอิงถึง Neutral rate เป็น Benchmark ในการตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เนื่องจาก Neutral rate ไม่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรงและสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะเศรษฐกิจและโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายจึงต้องใช้แบบจำลองทางเศรษฐกิจต่างๆ ในการประเมิน Neutral rate ที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบัน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการ ดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่อไป

        อย่างไรก็ตามประเมินว่าจากเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1-3% ของ ธปท. และทำ Simulation เพื่อหาแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเศรษฐกิจไทย จากการศึกษาพบว่า Neutral rate ของไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อตามกรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% และบทบาทของนโยบายการเงินเป็นกลางมากขึ้น สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงติดลบน้อยลงจากปัจจุบันและเข้าใกล้ศูนย์มากขึ้นนอกจากนี้พบว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องครั้งละ 25 BPS ไปสู่ระดับ Neutral rate ที่ 2.5% จะเป็นการดำเนินการที่ทำให้เกิดการสูญเสียจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุด ทั้งนี้จากรายงานกนง. ที่ผ่านามามองว่าแม้อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่จะเกิดขึ้นในระยะถัดไป เนื่องจากผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนสูงต่อเนื่อง และอาจมีต้นทุนบางส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผ่านในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับยังมีความเสี่ยงที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อาจเพิ่มขึ้นหากเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ซึ่งเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนานต่อเนื่องจะกระทบต่อพฤติกรรมการตั้งราคาและการคาดการณ์เงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อไทยใน 3 ปีข้างหน้ามีความเสี่ยงที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงนานกว่าในอดีต

​        ​​​​​ทั้งนี้รายงานการประชุมฯ ยังระบุอีกว่าหากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำเกินไปจะก่อให้เกิด ความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ และเป็นการสะสมความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทยยังคงติดลบต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ -1.1% ในเดือนมีนาคม สะท้อนว่า ธปท. มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังระดับที่บทบาทนโยบายการเงินเป็นกลางมากขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ จึงคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาเป็นบวก และคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวไประยะหนึ่งเพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายใช้เวลาส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป ดังนั้นในกรณีที่เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องในปีนี้ตามที่คาดการณ์ไว้ นโยบายการเงินไทยจึงมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ 

        โดยคาดว่า ธปท. จะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 25 BPS ในการประชุมเดือนพฤษภาคม สิงหาคม และกันยายน สู่ระดับ Neutral rate ที่ 2.5% ในไตรมาส 3 โดยเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ประกอบกับมีความเสี่ยงในด้านแรงกดดันเงินเฟ้อจากอุปสงค์มากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยว ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนการผลิตจะยังอยู่ในระดับสูง ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ Neutral rate ในการประเมินผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเศรษฐกิจไทย ได้นำอัตราดอกเบี้ยที่ได้จากการประเมินข้างตันมาทำ Sensitivity analysis ในแบบจำลองเศรษฐศาสตร์มหภาค เพื่อหาผลกระทบต่อตัวแปรต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจพบว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจาก 0.5% สู่ระดับ Neutral rate ที่ 2.5% (Policy normalization) จะส่งผลให้ Real GDP ค่อยๆ ลดลง โดยเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด -0.6% ในไตรมาสที่ 7 หลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2022 เทียบกับกรณีที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำมากไว้เช่นเดิม โดยผ่านผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนมากที่สุด รองลงมาคือการบริโภคภาคเอกชน และการนำเข้าสินค้า

        อย่างไรก็ตามจากคาดการณ์ในปัจจุบันว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ต่อเนื่อง ประกอบกับ  แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่แม้จะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ของ ธปท. แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า จึงคาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องครั้งละ 25 BPS ไปสู่ระดับ Terminal rate ที่ 2.5% ในไตรมาส 3 ของปีนี้ และคงไว้เพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้ในปัจจุบัน กนง. อาจไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนไปสู่ระดับ Neutral rate ได้ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ แต่อาจต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไปแทนนั่นเอง

วิเคราะห์ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย

        ตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และจำนวนผู้สูงวัยยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตและปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนไปในยุคนี้ ส่งผลให้คนไทยเลือกครองตัวเป็นโสดมากขึ้น หรือแต่งงานแต่มีบุตรน้อยลง ซึ่งอัตราการเกิดที่ลดลงนี้สวนทางกับสัดส่วนผู้สูงอายุในไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เผยว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดที่มีจำนวนผู้สูงอายุถึง 28% ของประชากรในประเทศ นับเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องจับตามอง หลายธุรกิจจึงหันมาให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดผู้สูงอายุมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพ มีกำลังซื้อสูง และมีความพร้อมทางการเงิน โดยเฉพาะในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ไทย ผู้ประกอบการเริ่มหันมาเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัยที่มาพร้อมบริการด้านสุขภาพมากขึ้น ผ่านการร่วมมือกับโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพเพื่อเพิ่มบริการทางการแพทย์หรือโปรแกรมดูแลสุขภาพไว้ในโครงการฯ

        โดยข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty  Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด เผยความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พบว่าเมื่อผู้สูงอายุต้องตัดสินใจซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย ปัจจัยภายในที่ให้ความสำคัญจะเน้นไปที่ความคุ้มค่ามาเป็นอันดับแรก โดยมากกว่าครึ่ง (51%) พิจารณาจากราคาขายเฉลี่ยต่อตารางเมตรเป็นหลัก รองลงมาคือขนาดที่อยู่อาศัย 48% และตามมาด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกภายในที่อยู่อาศัย 45% ซึ่งจะต้องตอบโจทย์การอยู่อาศัยและสอดคล้องกับวิถีชีวิตในช่วงวัยเกษียณด้วย ขณะที่สองอันดับแรกของผู้บริโภคในช่วงวัยอื่น จะพิจารณาจากขนาดที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ตามมาด้วยราคาขายเฉลี่ยต่อตารางเมตร 

        ด้านปัจจัยภายนอกโครงการที่ผู้สูงอายุใช้พิจารณาเมื่อเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้น 2 ใน 3 (66%) ให้ความสำคัญกับทำเลที่ตั้งโครงการมากที่สุด ตามมาด้วยสามารถเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 55% และความปลอดภัยของทำเล 53% เนื่องจากผู้สูงอายุคำนึงถึงการใช้ชีวิตในระยะยาว จึงต้องการโครงการที่ตั้งอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก รองรับการใช้ชีวิตประจำวันด้วยตนเองได้อย่างสบายใจและปลอดภัย เลือกห้องตกแต่งครบ ประหยัดเวลา พร้อมเข้าอยู่ เมื่อต้องเลือกซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ผู้สูงอายุเกือบครึ่ง (46%) จะเลือกโครงการที่ตกแต่งให้ครบแบบพร้อมเข้าอยู่ (Fully Furnished) มากที่สุด โดยมีเหตุผลสำคัญมาจากช่วยประหยัดเวลาในการตกแต่ง 76% และไม่ยุ่งยาก สามารถย้ายเข้าอยู่ได้ทันที 70% ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าผู้บริโภคช่วงวัยอื่นๆ ขณะที่ผู้สูงอายุอีก 29% สนใจโครงการที่ไม่มีการตกแต่งใดๆ และ 25% เลือกโครงการที่ตกแต่งห้องให้บางส่วน (Fully Fitted) โดยเหตุผลที่ผู้สูงอายุเลือกห้องที่ไม่มีการตกแต่ง หรือตกแต่งห้องให้บางส่วน เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 70% ชื่นชอบการตกแต่งห้องในสไตล์ของตัวเองมากกว่า และ 37% คิดว่าสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่ได้ดีกว่า

        บ้านที่ดีต้องใกล้ชิดธรรมชาติ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตที่บ้านเป็นหลัก จึงเห็นความสำคัญของ บทบาทที่อยู่อาศัยในการเสริมสร้างสุขภาพกายควบคู่กับสุขภาพจิตที่ดี เมื่อพิจารณาคุณลักษณะภายในและบริเวณรอบบ้านที่จะช่วยให้มีสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น ผู้สูงอายุกว่า 2 ใน 3 (70%) ต้องการที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้สวนสาธารณะและใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด เนื่องจากการมีพื้นที่สีเขียวไว้พักผ่อนหย่อนใจนั้นจะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดี และมีผลทางจิตวิทยาทำให้รู้สึกสดชื่นมากขึ้น รวมทั้งต้องการพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้นภายในละแวกบ้าน 68% ตามมาด้วยยูนิตที่มีระยะห่างมากขึ้น 64% เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวและต้องการความสงบ นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังเข้าใจและให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยที่มาพร้อมแนวคิดรักษ์โลก เกือบ 2 ใน 3 (65%) คาดหวังว่าโครงการที่พัฒนาใหม่ทั้งหมดควรจะมาพร้อมกับหลังคาโซล่าเซลล์ (Solar Rooftop) เพื่อช่วยประหยัดรายจ่ายและลดการใช้พลังงานไฟฟ้า สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทางเลือก

        ส่วนพื้นที่ภายในที่อยู่อาศัยที่ผู้สูงอายุต้องการปรับปรุงเพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น อันดับแรกคือห้องนั่งเล่น 66% รองลงมาคือ ห้องนอน 59% ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้เวลาในการทำกิจกรรมประจำวันมากที่สุด จึงเห็นความสำคัญในการปรับปรุงภายในห้องนั้นให้พร้อมรองรับการทำกิจกรรมต่างๆ ขณะที่อันดับสามคือห้องน้ำ 38% เนื่องจากถือเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อเพิ่มความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกเมื่อผู้สูงอายุต้องใช้งาน ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุดนั่นเอง 

กลุ่มประชาสัมพันธ์

ฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์

*แหล่งที่มาของข้อมูล : ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)

 

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 25 พฤษภาคม 2566

968 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย