หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566)

       ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลง เพราะราคาน้ำมันค่อนข้างทรงตัว ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดปรับตัวลดลง จึงส่งผลทำให้ ราคามีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตยังมีการหดตัวลง เนื่องจากผู้ประกอบการได้เร่งการผลิตตามคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้าแล้ว จึงทำให้ในเดือนนี้การผลิตสินค้ามีการปรับตัวลงมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นแลยังมีทิศทางที่เป็นบวกอยู่ ถึงแม้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความแปรปรวนอยู่ก็ตาม จึงทำให้ยังไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไรนัก แต่ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนอื่นๆ ยังมีความผันผวน จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากธนาคารเริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อออกมาบ้าง ทำให้ในเดือนนี้จึงมีค่าขยายตัวขึ้นมาได้ แต่ก็ยังต้องมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

เดือน / รายละเอียด

กันยายน

65

ตุลาคม

65

พฤศจิกายน

65

ธันวาคม

65

ดัชนีราคาผู้บริโภค

107.70

108.06

107.92

107.86

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

98.89

94.43

97.18

93.77

อัตราการใช้กำลังการผลิต

63.34

59.84

61.09

59.67

ดุลการค้า

1,431.05

1,465.55

541.74

962.70

ดุลบัญชีเดินสะพัด

-55.96

562.49

-445.22

1,102.01

เงินฝาก

16,846.08

17,061.89

17,162.93

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

18,189.59

18,174.83

18,253.21

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562                เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ   ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559
                  ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนธันวาคม 2565

  • ด้านอุปทาน
           - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ธ.ค. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ ธ.ค. 64

80,837

-30.54%

ณ ธ.ค. 65

85,353

5.59%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ธ.ค. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

37,404

43.82

บ้านเดี่ยว

29,696

34.79

ทาวน์เฮ้าส์

12,028

14.09

บ้านแฝด

3,614

4.24

อาคารพาณิชย์

2,611

3.06

รวม

85,353

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ด้านอุปสงค์
           - การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ธ.ค. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ ธ.ค. 64

167,464

-15.47%

ณ ธ.ค. 65

194,914

16.39%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ธ.ค. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

83,570

42.88

ทาวน์เฮ้าส์

60,190

30.88

บ้านเดี่ยว

32,889

16.87

บ้านแฝด

9,570

4.91

อาคารพาณิชย์

8,695

4.46

รวม

194,914

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่บุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
           - สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ณ ไตรมาส 4 ปี 65 มีจำนวนทั้งสิ้น 208,339 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.41% จาก ณ ไตรมาส 4 ปี 64 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 174,467 ล้านบาท
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
           - สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไป ณ ไตรมาส 4 ปี 65 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,741,133 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.32% จาก ณ ไตรมาส 4 ปี 64 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 4,501,452 ล้านบาท
  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 65

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย

6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ย

นโยบาย ธปท.

มกราคม-มิถุนายน

5.87

0.50

กรกฎาคม

5.83

0.50

สิงหาคม

5.83

0.75

กันยายน-ตุลาคม

5.90

1.00

พฤศจิกายน

5.92

1.25

ธันวาคม

6.07

1.25

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
หมายเหตุ : 6 ธนาคาร ประกอบด้วย ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา,
ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนธันวาคม 2565

       ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวสูงขึ้น 5.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาโครงการออกมา แต่ก็ยังติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นมาได้ที่ 16.39% เพราะผู้บริโภคมีรายได้ที่ดีขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นมา ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ดีขึ้น ส่งผลทำให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 19.41% ณ ไตรมาส 4 ปี 65 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นที่ 6.07% ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยมีการทรงตัวอยู่ที่ 1.25% ตามลำดับ

วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่จะถดถอย


ที่มาของภาพ :  https://miro.medium.com/max/700/1*Q73WXdY6x_h4vSCOoWffuQ.png

       ในช่วงต้นปีสถานการณ์เศรษฐกิจโลกดูเหมือนจะดูดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐและทั่วโลกชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้เกิดความหวังที่ Soft Landing หรือการชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเงินเฟ้อลดลงแต่การว่างงานไม่สูงขึ้น และเศรษฐกิจไม่เกิดภาวะถดถอย โดยเศรษฐกิจยุโรปดูดีขึ้นจากฤดูหนาวที่อบอุ่นทำให้ราคาพลังงานดิ่งลง ขณะที่เศรษฐกิจของจีนที่ดีขึ้น ผลจากการยกเลิกนโยบาย Zero COVID ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว อย่างไรก็ตามยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าเศรษฐกิจโลกรอดพ้นจากภาวะถดถอย โดยแม้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐจะตกลงต่อเนื่อง เนื่องจากพลังงานและสินค้าที่ถูกลง แต่เมื่อเงินเฟ้อลดลง เศรษฐกิจก็ชะลอลงเช่นกัน โดยยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่วัดโดยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ Conference Board ก็ลดลงอย่างรวดเร็วเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วง 4 วิกฤติก่อนหน้า

       

       หากพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ที่ Fed พิจารณาเป็นหลัก พบว่าชะลอตัวแรงสุด ตั้งแต่ ต.ค. 2021 โดยเพิ่มขึ้น 4.4% จาก 4.7% ในเดือนก่อนช้าที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2021 ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคหดตัว -0.2% ต่อเดือน ต่อเนื่องจากเดือน พ.ย. ที่ -0.3% เนื่องจากครัวเรือนสหรัฐลดการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลจับจ่ายช่วงวันหยุดและเพิ่มการออม โดยอัตราการออมส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% ในเดือน ธ.ค. จาก 2.9% ในเดือน พ.ย. เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มวิตกกังวลในอนาคต ทำให้มองว่า

       1. เงินเฟ้อที่ชะลอต่อเนื่อง ท่ามกลางการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ลดลง และการออมที่เพิ่มขึ้นแม้รายได้จะปรับเพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าประชาชนกังวลในสภาพเศรษฐกิจในอนาคต ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession หรือไม่ จึงเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายและเริ่มเก็บออมอีกครั้ง ภาพนี้สอดคล้องกับยอดค้าปลีกที่เริ่มลดลงต่อเนื่อง

       2. หากพิจารณาดัชนี Core PCE เทียบกับดอกเบี้ยนโยบาย จะเห็นว่าในปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกันแล้ว และในแนวโน้มระยะต่อไป เงินเฟ้อ Core PCE มีแนวโน้มจะปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มต่อ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก

       ภาพนี้บ่งชี้ว่าจากนี้ไปนโยบายการเงินกำลังเข้าสู่ “ช่วงตึงตัว” หรือ Restrictive Zone ซึ่งในทุกครั้งที่เกิดภาวะเช่นนี้ เศรษฐกิจจะเริ่มมีแนวโน้มแย่ลง และนำไปสู่ภาวะ Recession ได้ทั้งสิ้น นอกจากนั้นหากพิจารณาในมิติผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐ อาจกล่าวได้ว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย (Earning Recession) แล้ว เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่ในไตรมาส 4 ออกมาแย่ลงทั้งสิ้นในทุกอุตสาหกรรม ด้วยภาพดังกล่าวจึงเห็นการปลดพนักงานออกต่อเนื่อง แต่อัตราการว่างงานของสหรัฐยังคงอยู่เพียง 3.5% และการขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งใหม่ก็ต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง

       ด้านการเติบโตของค่าจ้างเริ่มลดลง แต่ยังคงอยู่ประมาณ 5% ขณะที่บางบริษัทยังต้องเพิ่มค่าจ้างขึ้นต่อเนื่อง เช่น Walmart กล่าวว่าจะเพิ่มค่าจ้างเริ่มต้นจาก 12 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เป็น 14 ดอลลาร์ (หรือเพิ่ม 16%) เมื่อรายได้ลดลง แต่ต้นทุน (ด้านแรงงาน) เพิ่มขึ้น บริษัทก็จะมี 2 ทางเลือก คือ ขึ้นราคาสินค้าและบริการ (ซึ่งอาจเสี่ยงต่อยอดขายที่ลดลงต่อ) หรือปลดคนงานออก ซึ่งเชื่อว่าบริษัทจะเลือกทั้งสองทางเลือก แต่อาจเลือกอย่างหลังมากกว่า ซึ่งจะทำให้รายได้ทั้งของประชาชนและบริษัทมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ถ้าบริษัทเลือกอย่างแรกมากกว่า ก็จะทำให้เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ Fed ยังต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และนำมาสู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น

       หากเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็น่าจะดึงยุโรปไปด้วย แม้ว่าราคาพลังงานจะ ลดลง แต่ยูโรโซนก็มีปัญหาเงินเฟ้อแฝงอยู่เช่นกัน ดังที่เห็นได้ชัดเจนจากการเติบโตของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 3% เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่ไม่ขยายตัว ภาพดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางยุโรปเตือนว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก ตรงกันข้ามกับความคาดหวังของนักลงทุนที่คาดว่าจะลดลง เงินดอลลาร์ที่อาจแข็งค่าขึ้น (ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงกลางปี หากตลาดการเงินมีความผันผวนมากขึ้น) จะทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลง และเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ

       ด้านเศรษฐกิจจีน แม้ว่าการสิ้นสุดของนโยบายซีโรโควิดในจีน จะทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดีในระยะต่อไป แต่ก็จะทำให้การนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่จีนเป็นผู้บริโภคหลัก ซึ่งจะทำให้ราคาโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อโลกในระยะต่อไป เห็นได้จากการที่ในปัจจุบัน ยุโรปไม่มีปัญหาเรื่องราคาก๊าซ เนื่องจากคลังเก็บก๊าซของยุโรปที่ถูกเติมเต็มส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของจีนในปี 2022 ต่ำกว่าระดับปกติ 20% แต่หากอุปสงค์ในจีนมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว จะทำให้ราคาก๊าซทั่วโลกพุ่งขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป

       ด้วยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย นโยบายการเงินสหรัฐที่กำลังเข้าสู่ Restrictive Zone ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่กำลังเกิดภาวะ Earning Recession และทำให้ต้องขึ้นราคาสินค้า และ/หรือปลดคนงานออกในระยะต่อไป รวมถึงราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ทำให้เงินเฟ้ออาจไม่ลดลงง่าย และทำให้ Fed อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด จึงยังคงเชื่อว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ยังคงมีสูงเป็นอย่างยิ่ง

วิเคราะห์เศรษฐกิจกลุ่ม CLMV ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

       เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 ยังคงขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาด COVID-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5%, สปป.ลาวและเมียนมา 3.0% และเวียดนาม 6.2% 

       ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว การ  บริโภคภายในประเทศมีปัจจัยบวกจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการจ้างงานในเวียดนามในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 ขณะเดียวกันภาคบริการจะได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสำคัญต่อ CLMV คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-35% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 โดยจีนอนุมัติให้กรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมากัมพูชาและสปป.ลาว ได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถเดินทางมาได้เร็วๆ นี้

       ในขณะที่นโยบายการเงินใน CLMV มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2566 แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่จะไม่ลดลงเร็วมากเนื่องจากราคาจะยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับค่าเงินที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าในบางประเทศ เช่น สปป.ลาวและเมียนมา จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าอยู่ในระดับสูงต่อไป ธนาคารกลางกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเล็กน้อยในปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

       อย่างไรก็ตาม สปป.ลาวมีเสถียรภาพค่อนข้างเปราะบางในด้านราคา ด้านการคลัง และด้านต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพในระยะต่อไป โดย สปป.ลาวเผชิญเงินเฟ้อสูง ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนหนึ่งจากเงินกีบอ่อนค่ารุนแรงและฐานะทางการคลังที่ไม่แข็งแรงนัก สะท้อนจากภาระการชำระหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศของภาครัฐที่สูง เฉลี่ยประมาณ 1.2-1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วง 4 ปีข้างหน้า ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนกันยายน 2565 สำหรับเมียนมา สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในระยะปานกลางและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศซบเซาต่อเนื่อง

       ในขณะที่การลงทุนจากไทยไป CLMV ซบเซาในช่วงปี 2565 แต่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับต่ำในปี  นี้ ปัจจัยกดดันในช่วงที่ผ่านมาได้แก่ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง เงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งเพิ่มต้นทุนต่อธุรกิจ และความเสี่ยงรายประเทศ เช่น สถานการณ์การเมืองในเมียนมา ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน นอกจากนี้การลงทุนในต่างประเทศจำเป็นต้องใช้เวลาการเตรียมความพร้อมค่อนข้างนาน และสถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลให้โครงการต่างๆ ถูกเลื่อนออกไปในปี 2566 ปัจจัยกดดันดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ แต่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง ตลอดจนข้อจำกัดการเดินทางภายในภูมิภาคที่หมดไปจะกระตุ้นให้การลงทุนสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในระยะปานกลางมองว่า CLMV ยังเป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจต่อนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมีค่าแรงค่อนข้างต่ำ ตลาดในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง และมีสนธิสัญญาการค้าเสรีต่างๆ กับประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี นอกจากนี้ยังสามารถเป็นฐานการผลิตไปตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดียได้อีกด้วย

       ส่วนประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อ CLMV มากที่สุด ได้แก่ ความตึงเครียดระหว่าง จีน สหรัฐฯ และไต้หวัน ซึ่งอาจลุกลามมาถึงแถบทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นช่องทางการค้าสำคัญในภูมิภาคและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานขาดตอนในภาคการผลิตได้ นอกจากนี้ชาติมหาอำนาจมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของตน ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อผู้ส่งออกใน CLMV ที่จะเผชิญต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็อาจส่งผลบวกต่อ CLMV เช่นกัน ผ่านแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่ง CLMV ได้เปรียบทั้งด้านที่ตั้งที่ใกล้กับจีน รวมถึงค่าแรงต่ำและข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ขณะเดียวกันชาติมหาอำนาจอาจเร่งการแข่งขันกันเพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้มากขึ้น เช่น โครงการ Belt and Road Initiative ของจีน หรือ Indo-Pacific Economic Framework ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ CLMV ในระยะต่อไปผ่านความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพของแต่ละประเทศนั่นเอง

กลุ่มประชาสัมพันธ์
ฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์
แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Global Vision

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566

946 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย