หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนเมษายน 2566)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนเมษายน 2566)

        ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลง เพราะราคาน้ำมันมีราคาค่อนข้างทรงตัว ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดมีการปรับตัวลดลง จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวน้อยลงมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตมีการลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีคำสั่งซื้อที่เข้ามาในช่วงต้นปี จึงทำให้ในเดือนนี้การผลิตสินค้ามีการหดตัวลงไม่มากเท่าไรนัก ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีทิศทางที่เป็นบวก ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความแปรปรวนอยู่ แต่ยังไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไรนัก ทั้งนี้ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากมีค่าลดลงแต่เงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนอื่นๆ เริ่มมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น จึงส่งผลให้การออมเงินมีการหดตัวลงมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากธนาคารเริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อออกมาบ้าง ทำให้ในเดือนนี้จึงมีค่าขยายตัวขึ้นมาได้ แต่ก็ยังต้องมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

เดือน / รายละเอียด

พฤศจิกายน

65

ธันวาคม

65

มกราคม

66

กุมภาพันธ์

66

ดัชนีราคาผู้บริโภค

107.92

107.86

108.18

108.05

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

96.92

93.58

99.51

99.02

อัตราการใช้กำลังการผลิต

61.34

59.56

62.16

61.87

ดุลการค้า

541.74

962.70

-2,670.02

1,310.55

ดุลบัญชีเดินสะพัด

-550.73

967.38

-2,148.91

1,332.33

เงินฝาก

17,162.93

17,117.21

16,996.91

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

18,253.21

18,329.76

18,361.43

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562                 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                 อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ  ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559
                 ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ความไม่แน่นอนครั้งใหญ่*

ที่มาของภาพ :  https://floydfinancialgroup.com/wp-content/uploads/2019/10/uncertainworld.jpg

        เศรษฐกิจโลกขณะนี้มีความไม่แน่นอนมาก และไม่มีใครไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์ นักลงทุน หรือผู้ทํานโยบาย ที่สามารถตอบได้อย่างมั่นใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ความไม่แน่นอนที่มีมากนี้ เป็นผลจาก 3 ปัจจัย ที่กําลังกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างสําคัญ และไม่สามารถบอกได้ว่าแต่ละปัจจัยจะจบหรือไปต่ออย่างไร จะกระทบเศรษฐกิจโลกมากขึ้นแค่ไหน อีกทั้งไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศหลักเข้มแข็งพอหรือไม่ที่จะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจโลกเกิดปัญหาหรือเกิดวิกฤติใหญ่ตามมา 3 ปัจจัย ที่ว่านี้ประกอบไปด้วย

       

        1. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ที่กระทบไปทั่วโลก ทั้งความเป็นอยู่ของประชาชน ต้นทุนการผลิต ความสามารถในการทํากําไรของภาคธุรกิจและธนาคารพาณิชย์ ราคาสินทรัพย์ และการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ครัวเรือน และภาครัฐ หนึ่งปีหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกชะลอและฐานะการเงินของหลายภาคส่วนอ่อนแอลง คําถามคือ อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอีกเท่าไร และถ้าไปต่อ จะผลักดันเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่

        2. ภาวะการเงิน คือ ความไม่มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นบวกกับความระมัดระวังมากขึ้นของ สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ที่โยงกับปัญหาสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จะทําให้เศรษฐกิจโลกเกิดภาวะสินเชื่อตึงตัวหรือ credit crunch หรือไม่ หมายถึง ภาวะที่สินเชื่อหายากเพราะธนาคารระวังในการให้สินเชื่อ ไม่ปล่อยกู้ง่ายๆ ทําให้ธุรกิจถูกกระทบ เกิดปัญหาสภาพคล่อง ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ เกิดปัญหาหนี้เสียกว้างขวาง ซ้ำเติมให้ความเสี่ยงที่จะเกิดทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติทางการเงินยิ่งเพิ่มมากขึ้น

        3. ภูมิศาสตร์การเมือง สงคราม และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่เพิ่มความไม่แน่นอนและความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาสินค้า พลังงาน อาหาร วัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น การค้าโลกถูกกระทบ ความผันผวนในตลาดการเงินมีต่อเนื่อง และไม่มีใครบอกได้ว่าสถานการณ์เหล่านี้จะไปต่ออย่างไร 6-12 เดือนข้างหน้า จะมีจุดอ่อนไหวในการเมืองโลกเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นความไม่แน่นอนที่กระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก

        นี่คือความไม่แน่นอนที่เศรษฐกิจโลกมี เป็นความไม่แน่นอนที่กําลังส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจโลกทั้งในเรื่องการเติบโตและเสถียรภาพ ล่าสุดธนาคารโลกได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือร้อยละ 1.7 ซึ่งตํ่ามาก และยกระดับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

        แต่นอกจากเศรษฐกิจถดถอย อีกความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลที่จะมีต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศที่มีหนี้มากจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ที่น่าห่วงเพราะปีที่แล้วประเทศตลาดเกิดใหม่มีหนี้รวมกันมากกว่า 2.5 เท่าของรายได้ประชาชาติซึ่งสูงมาก ขณะที่ภาระชำระหนี้ของประเทศหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ที่มีหนี้สาธารณะมากก็จะอ่อนไหวในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งอาจกระทบเสถียรภาพการคลัง รวมทั้งเร่งความห่วงใยของ นักลงทุนต่อการเกิดวิกฤติ เพราะในสายตานักลงทุน วิกฤติเศรษฐกิจกับความสามารถในการชำระหนี้มักเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นอีกมิติที่ทำให้ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกมีมากขณะนี้

        สำหรับเอเชีย ในภาพรวมเศรษฐกิจเอเชียยังดูดีในแง่ความสามารถในการขยายตัว ถ้าเศรษฐกิจโลก เข้าสู่ภาวะถดถอยหรือเกิดปัญหา เพราะความเข้มแข็งของกําลังซื้อ หรือการใช้จ่ายในประเทศที่จะสามารถพยุงเศรษฐกิจภูมิภาคให้ไปต่อได้ ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอมากหรือเกิดภาวะถดถอย รวมถึงการค้าขายระหว่างกันของประเทศในภูมิภาค เพราะจีนมีความเข้มแข็งของกําลังซื้อของชนชั้นกลางที่จะใช้จ่าย ขณะที่ประเทศอย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มีการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันใหม่ให้กับประเทศ เข้ามาสนับสนุนให้การใช้จ่ายขยายตัว ประเทศอย่างอินเดียและอินโดนีเซียก็ได้ประโยชน์ทั้งจากการเติบโตของกําลังซื้อเพื่อการบริโภคของคนในประเทศ และการลงทุนของภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างสินค้าหรือฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย ทําให้ประเทศเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเติบโตแม้เศรษฐกิจโลกถดถอย

        สําหรับไทย จะมีความท้าทายมากถ้าเศรษฐกิจโลกแย่ลง เพราะพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวมาก ไม่มีกําลังซื้อในประเทศที่เข้มแข็ง ไม่มีการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ของภาครัฐและเอกชน ไม่มีการปรับตัวเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต ไม่มีการสร้างอุตสาหกรรมหรือสินค้าใหม่ที่จะเป็นฐานสร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการปรับไปสู่การใช้พลังงานสะอาด หรือวางตำแหน่งประเทศในความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เพื่อหาประโยชน์จากการย้ายห่วงโซ่การผลิตของบริษัทธุรกิจทั่วโลก นี่คือความท้าทายที่ประเทศไทยมี ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่ต้องขับเคลื่อนเพื่อให้เศรษฐกิจไทยอยู่รอดจากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและสามารถไปต่อได้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนั่นเอง

วิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสของตลาดแรงงานไทยในอนาคต

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ ตลอดจนความเจริญของเทคโนโลยี ได้ก่อเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานไทยหลายประการ ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายและโอกาสของตลาดแรงงานในอนาคตไปด้วยกันดังนี้

        ความท้าทายประการแรก คือ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ถือได้ว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ (Aged Society) และจากรายงานการคาดการณ์ประชากรในประเทศไทย โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงยอด (Super-aged Society หรือ Hyper-aged Society) คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราส่วนเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 28 ในอีกไม่ถึง 5 ปีข้างหน้านี้ (พ.ศ. 2568) และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยได้ส่งผลต่อโครงสร้างแรงงานไทยและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 2 ประการได้แก่


        (1) อัตราการขยายตัวของแรงงานลดลง เนื่องจากประชากรสูงอายุเริ่มมีความเสื่อมถอยสุขภาพกาย ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ประกอบกับอัตราการเกิดที่ลดตํ่าลงและอายุขัยของประชากรที่ยืนยาวขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมดลดลง
        (2) ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ลดลง โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่ปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่มีอายุเกิน 50 ปี มีระดับการศึกษาตํ่า และไม่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง และการปรับตัวเข้าสู่การเกษตรยุคใหม่เป็นไปได้ยาก

        ความท้าทายประการที่สอง คือ ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ประกอบกับความจำเป็นในช่วงมี่มี  การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการ จากรายงานของ World Economic Forum (2020) พบว่าบทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้น และการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ มีอัตราช้ากว่าการสูญเสียงานอันเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

        ความท้าทายประการที่สาม คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจในตลาด ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อแรงงานในหลายภาคส่วน การหันไปใช้บริการ e-commerce ทำให้แรงงานภาคบริการประจำพื้นที่ เช่น พนักงานขาย พนักงานต้อนรับและแคชเชียร์ มีความจำเป็นลดลง รวมทั้งพนักงานประจำสาขาในภาคการเงิน เนื่องจากลูกค้าหันไปใช้บริการผ่านทางอินเตอร์เน็ตและ Application รวมทั้งการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถดำเนินการต่างๆ เช่น จองตั๋ว ที่พักและร้านอาหารได้ด้วยตนเอง การประชุมตามสถานที่ต่างๆ ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นการประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ อีกทั้งสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลให้อุปสงค์การใช้สถานที่ และบริการในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารมีแนวโน้มลดลงได้ในอนาคต

​        ​​​​​​ถึงแม้ว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อการจ้างงาน และการมีงานทำในประเทศไทย แต่ปัจจัยดังกล่าวรวมทั้งนโยบายต่างๆ ของรัฐที่ออกมาเพื่อกระตุ้นความเจริญทางเศรษฐกิจก็ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ตลาดแรงงานไทยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจและอาชีพใหม่ ที่เกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การเติบโตของเขตเศรษฐกิจและการนำเข้าแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพื่อพัฒนาตลาดแรงงานและผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการหันมาใช้บริการ e-service ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับแรงงานไทยหลายประการ กลุ่มธุรกิจ logistic ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การเข้าสู่สังคมสูงอายุเพิ่มอุปสงค์ในกลุ่มธุรกิจสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุและเด็กที่อยู่ในบ้าน เป็นต้น

​        ​​​​​​โดยปกติแล้ว เมื่อเผชิญการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี แรงงานมักใช้วิธีการเปลี่ยนไปทำงานที่ใกล้เคียง  กับทักษะเดิม ส่งผลให้แรงงานที่มีทักษะตํ่ากว่าถูกเลิกจ้าง ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญในการช่วยเหลือแรงงานให้พัฒนาทักษะให้สูงขึ้น เพื่อนำไปสู่อาชีพใหม่ โดยแรงงานในปัจจุบันควรมีทักษะการคิดวิเคราะห์ขั้นสูง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การเจรจา และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงเป็นทัศนคติที่ควรปลูกฝังให้แก่แรงงานและเยาวชน เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว 

        จากนี้ไปในระดับประเทศคงต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มผลผลิตของประเทศ ในขณะที่จำนวนแรงงานลดลง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาควรมีบทบาทในการวางหลักสูตร และแผนการอบรมทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสแรงงานไทยได้แสดงศักยภาพ และลดการพึ่งพาแรงงานและองค์ความรู้จากต่างประเทศ สำหรับแรงงานปัจจุบันก็ต้องพัฒนาทักษะความรู้ของตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง สำหรับเยาวชนของชาติก็ต้องศึกษาหาความรู้ ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเพียงด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญก็คือ ต้องฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการสื่อสาร และพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นทุนมนุษย์ที่ลํ้าค่าของทุกระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างดีนั่นเอง

กลุ่มประชาสัมพันธ์

ฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์

*แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.บัณฑิต นิจถาวร  ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 27 เมษายน 2566

705 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย