หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนมีนาคม 2566)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนมีนาคม 2566)

       ข้อมูลเดือนมกราคม 2566 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำมันมีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดค่อนข้างทรงตัว จึงส่งผลทำให้ ราคามีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตยังมีการขยายตัวขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการผลิตตามคำสั่งซื้อที่เข้ามามากขึ้นในช่วงต้นปี จึงทำให้ในเดือนนี้การผลิตสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้นมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวลดลงและมีทิศทางที่เป็นลบ ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความแปรปรวนอยู่ แต่ยังไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไรนัก ทั้งนี้ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากมีค่าลดลงแต่เงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนอื่นๆ เริ่มมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น จึงส่งผลให้การออมเงินมีการหดตัวลงมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากธนาคารเริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อออกมาบ้าง ทำให้ในเดือนนี้จึงมีค่าขยายตัวขึ้นมาได้ แต่ก็ยังต้องมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

เดือน / รายละเอียด

ตุลาคม

65

พฤศจิกายน

65

ธันวาคม

65

มกราคม

66

ดัชนีราคาผู้บริโภค

108.06

107.92

107.86

108.18

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

94.21

96.92

93.58

99.91

อัตราการใช้กำลังการผลิต

60.07

61.34

59.56

62.31

ดุลการค้า

1,465.55

541.74

962.70

-2,670.02

ดุลบัญชีเดินสะพัด

562.49

-445.22

1,102.01

-2,002.26

เงินฝาก

17,061.89

17,162.93

17,117.21

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

18,174.83

18,253.21

18,329.76

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ   ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562               เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ  ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559
                ดุดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนมกราคม 2566

  • ด้านอุปทาน
           - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ม.ค. 65 กับ 66 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ ม.ค. 65

6,589

-1.26%

ณ ม.ค. 66

4,287

-34.94%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ม.ค. 66 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

บ้านเดี่ยว

2,625

61.23

ทาวน์เฮ้าส์

569

13.27

อาคารชุด

521

12.15

บ้านแฝด

348

8.12

อาคารพาณิชย์

224

5.23

รวม

4,287

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ด้านอุปสงค์
           - การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ม.ค. 65 กับ 66 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ ม.ค. 65

9,000

-8.19%

ณ ม.ค. 66

9,955

10.61%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ม.ค. 66 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

4,454

44.74

ทาวน์เฮ้าส์

2,872

28.85

บ้านเดี่ยว

1,717

17.25

อาคารพาณิชย์

478

4.80

บ้านแฝด

434

4.36

รวม

9,955

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 66

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย

6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ย

นโยบาย ธปท.

มกราคม

6.47

1.50

ที่มา :  ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
          หมายเหตุ : 6 ธนาคาร ประกอบด้วย ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา,
          ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนมกรคม 2566

       ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 34.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ยังมีความผันผวนอยู่ค่อนข้างมาก จึงทำให้ผู้ประกอบการยังไม่เร่งการพัฒนาโครงการออกมาเท่าไรนัก ทั้งนี้ยังติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นมาได้ที่ 10.61% เพราะผู้บริโภคมีรายได้ที่ดีขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นมา ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้นที่ 6.47% และ 1.50% ตามลำดับ

วิเคราะห์ Altasia ทางออกของภาคผลิตและโอกาสเศรษฐกิจไทย*

ที่มาของภาพ :  https://i.ytimg.com/vi/mQmURCfoQtE/hqdefault.jpg

 

       หากพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการผลิตโลกในทศวรรษที่ผ่านมา หนึ่งในปัจจัยหลักเห็นจะเป็นจีน ที่เผชิญปัจจัยเสี่ยงนานัปการ ทั้งสงครามเย็น วิกฤต Covid-19 และทั้งนโยบายรัฐบาล สงครามเย็นที่ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากจีนถูกตั้งกำแพงภาษี วิกฤต Covid-19 ที่ทำให้ภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มีปัญหา และนโยบายรัฐบาลที่เข้มงวดขึ้นผ่านแนวคิด Common prosperity (ที่เน้นการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียม และจำกัดธุรกิจที่เติบโตเร็วเกินไปอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคเทคโนโลยี) และ Dual Circulation (เน้นผลิตในประเทศและลดการนำเข้า) นอกจากนั้นในส่วนของปัจจัยพื้นฐานของจีนเอง ก็เริ่มลดความน่าสนใจในการลงทุนลง โดยเฉพาะจากต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าแรงที่พุ่งสูงขึ้นระหว่างปี 2005 ถึง 2022 ค่าจ้างขั้นต่ำในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นรุนแรง จากประมาณ 0.5 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เป็น 8.3 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

       ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทั้งผู้ประกอบการต่างชาติและผู้ประกอบการชาวจีนเอง เริ่มพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากจีน แต่ก็ยากเพราะระบบห่วงโซ่การผลิตในจีนค่อนข้างจะสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จีนเป็นแกนหลัก โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบจากจีนมีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2021 จากยอดรวมทั่วโลกที่ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตามภายใต้แรงกดดันทางการค้าและการเมือง บริษัทต่างชาติหรือแม้แต่บริษัทจีนเองเริ่มตัดสินใจถอนการลงทุนออกจากจีนมากยิ่งขึ้นระหว่างปี 2020 ถึง 2022 จำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจการในจีนลดลงจากประมาณ 13,600 เป็น 12,700 ตามข้อมูลของสำนักวิจัย Teikoku Databank  ขณะที่เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า Sony มีแผนที่จะย้ายการผลิตกล้องที่จำหน่ายในญี่ปุ่นและตะวันตกจากจีนมาที่ประเทศไทย ขณะที่ Samsung ได้ลดจำนวนพนักงานชาวจีนลงกว่า 2 ใน 3 นับตั้งแต่จุดสูงสุดในปี 2013 ส่วน Dell ตั้งเป้าที่จะเลิกใช้ชิปที่ผลิตในจีนภายในปี 2024

       เมื่อย้ายออกจากจีน ผู้ผลิตเหล่านี้จะย้ายฐานการผลิตไปที่ใด คำตอบคือ ไม่มีประเทศหนึ่งเดียวประเทศใดที่จะทดแทนจีนโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการรวมตัวกันของหลายประเทศที่นิตยสาร The Economist เรียกว่า "ห่วงโซ่อุปทานทางเลือกของเอเชีย" หรือ Alternate Asia หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Altasia (อัลเทเชีย) ซึ่งสามารถไล่เลียงไปได้ตั้งแต่จากฮอกไกโดทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ผ่านเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ ไปจนถึงรัฐคุชราตทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งแต่ละประเทศมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ทักษะระดับสูงของญี่ปุ่นและรายได้มหาศาลไปจนถึงค่าแรงต่ำของอินเดียและไทย 

​​       ​​​​​หากเปรียบเทียบกับจีน บางมุมมองของ Altasia ดูดีกว่า เช่น มีประชากรวัยทำงานรวมกัน 1.4   พันล้านคน สูงกว่าจีนที่ 950 ล้านคน และ ใน 1.4 พันล้านคนนั้น 155 ล้านคนมีการศึกษาระดับอุดมศึกษาสูงกว่าจีนที่ 145 ล้านคน ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำในอินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ต่ำกว่า 3 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของค่าจ้างแรงงานจีนในปัจจุบัน นอกจากนั้นภูมิภาคนี้เป็นประเทศที่เน้นการส่งออกอยู่แล้ว โดยการส่งออกจาก Altasia ไปสหรัฐในปีที่แล้ว (ก.ย. 2021-ก.ย. 2022) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6.34 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าจีน 6.14 แสนล้านดอลลาร์ โดยสมาชิก Altasia บางส่วนยังเป็นสมาชิกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ด้วย เช่น
       (1) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RECP ยกเว้นอินเดีย บังกลาเทศ และไต้หวัน)
       (2) กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับสหรัฐ
       (3) บรูไน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม อยู่ภายใต้ข้อตกลงใหม่ของหุ้นมหาสมุทรแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งรวมถึงแคนาดา ชิลี เม็กซิโก และเปรูด้วย

       ที่ผ่านมา ผู้ผลิตจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้เข้ามาลงทุนโดยตรงใน Altasia มาสักพักหนึ่งแล้ว โดยในช่วงปี 2020 บริษัทเกาหลีใต้มีการลงทุนโดยตรงในอาเซียนและบังกลาเทศรวมมูลค่าถึง 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์ แซงหน้าการลงทุนของเกาหลีในจีน โดยซัมซุงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ขณะที่ฮุนได เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย ด้านบริษัทต่างชาติกำลังจับตามองภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยมักจะผ่านผู้ผลิตตามสัญญาของ Foxconn, Pegatron และ Wistron ของไต้หวัน ซึ่งประกอบอุปกรณ์สำหรับ Apple และอื่นๆ ที่กำลังลงทุนจำนวนมากในอินเดีย ส่วนแบ่งของ iPhone ที่ผลิตในอินเดียคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ใน 20 ของปีที่แล้วเป็น 1 ใน 4 ภายในปี 2025

       การผลิตที่ซับซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเซมิคอนดักเตอร์ กำลังย้ายไปที่ Altasia เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซียส่งออกชิปประมาณ 10% ของมูลค่าโลก ขณะที่โดยรวมแล้วประเทศในอาเซียนมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสี่ของการส่งออกชิปทั่วโลก แซงจีนที่ 18% ขณะที่ Qualcomm ผู้ผลิตชิป “fabless” สัญชาติอเมริกัน เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งแรกในเวียดนาม ขณะที่รายได้ของ Qualcomm จากโรงงานชิปในเวียดนามเพิ่มขึ้นสามเท่าระหว่างปี 2020 ถึง 2022 หรือแม้แต่ของไทยเองที่มีต่างชาติมาขอรับการส่งเสริมด้านการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นกว่า 41% ต่อปี ในปี 2022 ในอุตสาหกรรมสำคัญอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้าจากผู้ผลิตใหญ่ เช่น BYD, GWM และ Foxconn

​       ​​​​​​อย่างไรก็ตาม Altasia ยังมีข้อเสียเปรียบในประเด็นด้านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน เมื่อเทียบกับจีนเป็นตลาดเดียวที่กว้างใหญ่ เชื่อมโยงกันด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าได้โดยไม่ต้องมีซัพพลายเออร์ คนงาน และทุนข้ามพรมแดน ดังนั้น Altasia จึงต้องมีการปรับห่วงโซ่อุปทานให้มีการบูรณาการและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่า RCEP จะช่วยสนับสนุนการค้าภายใน Altasia อยู่บ้าง แต่การไหลเวียนของสินค้าต้องเผชิญกับอุปสรรคมากกว่าที่เกิดขึ้นในจีน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และประเด็นเชิงการเมืองในแต่ละประเทศ ทำให้ความเชื่อมโยงของสมาชิก Altasia ผ่านเขตการค้าเสรีต่างๆ ยังไม่เต็ม 100% อย่างไรก็ตามในระยะยาวแล้ว Altasia มีโอกาสขึ้นมาแทนจีนในแง่ของการเป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ทั้งจากแรงงานที่มีการศึกษาที่ขยายตัวขึ้น ตลาดที่ยังขยายตัว และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนนั่นเอง 

วิเคราะห์หนี้ครัวเรือนกับแนวโน้มการบริโภคในระยะยาว

       ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไทย พบว่าข้อสรุปมีความสอดคล้องกับการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือ BIS ที่สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการบริโภคในระยะสั้น แต่จะลดศักยภาพการเติบโตของการบริโภคของครัวเรือนในระยะยาว ซึ่งหมายความว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีที่คงตัวอยู่ระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นปัจจัยที่จำกัดการเติบโตของการบริโภคในภาพรวม

       หากมองภาพในระดับที่ย่อยลงมาในปี 2566 รวมถึงในอนาคตอันใกล้หลังจากนี้ มองว่าอัตราการเติบโต  ของหนี้ครัวเรือนน่าจะมีแนวโน้มที่ลดลง  เนื่องจาก
       1. ทิศทางดอกเบี้ยของไทยที่ยังคงเป็นขาขึ้น น่าจะทำให้ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่อ่อนไหวต่อการขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เช่น สินเชื่อรายย่อยที่เป็นหนี้ก้อนใหญ่วงเงินกู้ยืมต่อสัญญาค่อนข้างสูงและมีการผ่อนชำระหลายปี ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย สินเชื่ออเนกประสงค์ที่มีหลักประกัน รวมถึงสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ก็อาจทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้บางกลุ่มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
       2. แนวทางดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนของทางการไทย ซึ่งจากเอกสารทิศทางและนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าด้วยแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน  คงจะมีมาตรการและโครงการต่างๆ ออกมาเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของการแก้ไขหนี้เดิมที่เน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการดูแลการก่อหนี้ใหม่ ซึ่งในปี 2566 น่าจะเน้นไปที่การดูแลความสามารถในการชำระคืนและไม่กระตุ้นการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น

       ดังนั้นจึงคาดว่าสินเชื่อรายย่อยในระบบแบงก์ไทยในปี 2566 น่าจะเติบโตในกรอบประมาณ 3.7-4.8% ชะลอลงจากที่เคยเติบโตเฉลี่ยประมาณ 6.0% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย อาจชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่สองมาอยู่ที่กรอบประมาณ 84.0-86.5% เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ ณ สิ้นปี 2565 ที่ 86.8% และระดับ 90.1% ในปี 2564 ซึ่งแม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปี 2566 อาจมีแนวโน้มชะลอลง ทว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นความท้าทายในการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย จึงไม่ได้อยู่ที่เป้าหมายของการลดระดับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่การดูแลให้หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นใหม่มีส่วนผสมของหนี้ที่มีคุณภาพ เพื่อทยอยปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่ให้มีส่วนผสมของหนี้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพต่อไปนั่นเอง

กลุ่มประชาสัมพันธ์

ฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์

*แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Global Vision

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 23 มีนาคม 2566

592 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย