หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนมกราคม 2566)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนมกราคม 2566)

      ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2565 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลง เพราะราคาน้ำมันค่อนข้างทรงตัว ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดปรับตัวลดลง จึงส่งผลทำให้ ราคามีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตยังมีการขยายตัวขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มเร่งผลิตตามคำสั่งซื้อในช่วงท้ายปีที่มีเข้ามามากขึ้น จึงทำให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวลดลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวกอยู่ ถึงแม้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความแปรปรวนอยู่ก็ตาม จึงทำให้ยังไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไรนัก แต่ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากมีค่าเพิ่มขึ้นแต่เงินให้สินเชื่อมีค่าน้อยลง เนื่องจากการลงทุนอื่นๆ ยังมีความผันผวน จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าน้อยลง เนื่องจากธนาคารมีการทยอยปล่อยสินเชื่อออกมาบ้างแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้ในเดือนนี้จึงมีค่าหดตัวลดน้อยลงมา รวมทั้งยังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

เดือน  / รายละเอียด

สิงหาคม

65

กันยายน

65

ตุลาคม

65

พฤศจิกายน

65

ดัชนีราคาผู้บริโภค

107.46

107.70

108.06

107.92

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

100.17

98.89

94.43

96.71

อัตราการใช้กำลังการผลิต

63.72

63.34

59.84

62.63

ดุลการค้า

-1,813.50

1,431.05

1,465.55

541.74

ดุลบัญชีเดินสะพัด

-3,587.55

-55.96

562.49

-445.22

เงินฝาก

16,898.66

16,846.08

17,061.89

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

18,399.96

18,189.59

18,174.83

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562                 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ    ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559
                  ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนพฤศจิกายน 2565

  • ด้านอุปทาน
          - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ พ.ย. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ พ.ย. 64

74,874

-31.86%

ณ พ.ย. 65

77,308

3.25%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

      - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ พ.ย. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

33,910

43.86

บ้านเดี่ยว

26,882

34.77

ทาวน์เฮ้าส์

10,759

13.92

บ้านแฝด

3,387

4.38

อาคารพาณิชย์

2,370

3.07

รวม

77,308

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ด้านอุปสงค์
          - การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ พ.ย. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ พ.ย. 64

147,283

--15.54%

ณ พ.ย. 65

170,560

15.80%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

      - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ พ.ย. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

72,747

42.65

ทาวน์เฮ้าส์

53,114

31.14

บ้านเดี่ยว

28,895

16.94

บ้านแฝด

8,251

4.84

อาคารพาณิชย์

7,553

4.43

รวม

170,560

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 65

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย

6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ย

นโยบาย ธปท.

มกราคม-มิถุนายน

5.87

0.50

กรกฎาคม

5.83

0.50

สิงหาคม

5.83

0.75

กันยายน-ตุลาคม

5.90

1.00

พฤศจิกายน

5.92

1.25

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
หมายเหตุ : 6 ธนาคาร ประกอบด้วย ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา,
ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนพฤศจิกายน 2565

      ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวสูงขึ้น 3.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมีการพัฒนาโครงการออกมา แต่ก็ยังติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นมาได้ที่ 15.80% เพราะผู้บริโภคเริ่มมีรายได้ที่ดีขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมา ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 5.92% และ 1.25% ตามลำดับ

วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 บนโลกที่มีความไม่แน่นอน


ที่มาของภาพ : 

https://i2.wp.com/www.thailand-business-news.com/wp-content/uploads/2017/09/exports-thailand.jpg?fit=1200%2C800&ssl=1

      เศรษฐกิจไทยเป็นดังเรือที่เพิ่งผ่านมรสุมใหญ่คือการระบาดของโควิด-19 มาอย่างลำบาก แม้เรือลำนี้จะเริ่มเดินหน้าได้ในปี 2565 แต่ก็ต้องเผชิญกับทั้งแรงลมต้านและแรงลมหนุน จำนวนมากจากภาวะเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ในปี 2566 หลังจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์และการควบคุมการเดินทางท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตั้งแต่ต้นปี 2565 แม้เผชิญกับปัญหาของแพง แต่เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ 3.2% ในปี 2565 ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3.5% ในปี 2566 ซึ่งได้รับ “แรงลมหนุน” จากการฟื้นตัวของการบริโภคครัวเรือนและรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาในครึ่งปีหลังของปี 2566 อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาคเอกชนและการย้ายฐานการผลิตออกมาจากประเทศจีน

      แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเผชิญกับ “แรงลมต้าน” จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในโลก แรงลมต้านนอกประเทศที่สำคัญคือ เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย  โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดจากความพยายามลด   เงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มต่อไปอีก ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจจะมากกว่า 5% ณ สิ้นปี 2566  

      ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่แม้ว่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงและจะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรป นอกจากนี้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในโลกจะยังคงกดดันต่อต้นทุนการผลิตสินค้าโลก เนื่องจากการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะในตลาดพลังงานและเซมิคอนดักเตอร์สำหรับตลาดพลังงานแม้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากอุปทานที่ตึงตัว และหากรัสเซียหรือยูเครนยกระดับการตอบโต้ในสงครามก็อาจกดดันให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอีกครั้ง สำหรับปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์คาดว่าจะยังคงขาดแคลนอีกอย่างน้อย 2 ปีจนกว่าบริษัทผลิตชิปที่ย้ายออกมาจากจีนจะสามารถสร้างโรงงานแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตทดแทนชิปจากจีนได้

      เหล่านี้จะกลายเป็นแรงลมต้านจากภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในฐานะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและยังเป็นผู้นำเข้าพลังงานและวัตถุดิบเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

      สำหรับแรงลมต้านในประเทศที่สำคัญคือ ราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 อยู่ที่ 2.5% นอกจากนี้ผู้ผลิตยังได้เริ่มผลักภาระต้นทุนทั้งค่าพลังงานและค่าแรงไปยังผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคา หลังจากก่อนหน้านี้ทำได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกำลังซื้อที่หายไปเพราะการระบาดของโควิด-19 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 1.25% เป็น 2% ในสิ้นปี 2566 ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นราว 0.45% โดยเฉลี่ย 

​      ​​​​​​อย่างไรก็ดีการเปิดประเทศของจีนจะกลายเป็นแรงลมหนุนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับสองของไทยรองจากสหรัฐฯ และเป็นแหล่งรายได้หลักของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศจีนที่ต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย และยังจำกัดการเดินระหว่างประเทศของนักท่องเที่ยวชาวจีน ดังนั้นการผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เป็นความหวังสำหรับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทย แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดเป็นวงกว้างในจีนจะส่งผลต่อการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวในจีน

​​      ​​​​​นอกจากนี้สถานการณ์การเมืองในประเทศจีนและความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้บริษัทต่างชาติ ในประเทศจีนจำนวนมากต้องย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยส่วนหนึ่งย้ายมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะเวียดนามและประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมที่ย้ายมาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากอยู่ในภาคเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศและศูนย์ข้อมูล (data center) ดังนั้นประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงฐานการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้นและกลายเป็นแรงลมหนุนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย

​      ​​​​​​เพราะฉะนั้นปี 2566 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจำนวนมาก ทั้งความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่อาจคาดเดาจนเป็นความเสี่ยงต่อราคาพลังงาน ความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทาน และภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก แม้การเปิดเศรษฐกิจของจีนจะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนหากอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในจีนเพิ่มขึ้น เหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลต้องวางแผนและรีบดำเนินการ เพื่อแล่นผ่านแรงลมต้านที่เป็นความท้าทายและใช้ประโยชน์จากแรงลมหนุนให้เรือที่ชื่อว่าประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงนั่นเอง

วิเคราะห์แนวโน้มนวัตกรรมที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในปี 2566

      ในปี 2566 พบว่ามีแนวโน้มนวัตกรรมที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งจะประกอบไปด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้
      - เทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงาน (New energytech on the rise) โดยเปลี่ยนจากการใช้พลังงานปิโตรเลียมเป็น “พลังงานหมุนเวียน” เช่น ระบบกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์แบบเข้มข้น การแปลงพลังงานจากแหล่งความร้อนใต้พิภพ พลังงานชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในอนาคตก็คือ “ระบบสำรองพลังงานประสิทธิภาพสูง” เช่น การสำรองไฟฟ้าสำหรับระบบโครงข่ายพลังงาน เทคโนโลยีสำรองไฟฟ้าแบบวัสดุลิเทียมไอออนขั้นสูง ระบบแบตเตอรี่ทางเลือก เป็นต้น

      - อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอากาศยาน (Regenerating travel and aviation industries) แม้ว่าการเปิดประเทศภายหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่รูปแบบการเดินทางและท่องเที่ยวมีการปรับเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนด้วยนวัตกรรม ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ตั้งแต่การพัฒนารูปแบบตลาดที่ลดการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ การอำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การบริหารจัดการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ชุมชน รวมถึงการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่อย่าง Workation หรือ Stacation ในด้านธุรกิจการบินก็ต้องนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการปัญญาการขาดแคลนบุคลากรและทรัพยากรในห่วงโซ่การให้บริการที่ลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาและบริหารจัดการเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ
      - เทคโนโลยีเชิงลึก (Deeptech startup, a newcomers) เป็นคำตอบของการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของโลก โดยเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน ยากต่อการเลียนแบบ จึงสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันบนฐานของทรัพย์สินทางปัญญา สามารถผลักดันธุรกิจให้ขยาย-สร้างตลาดใหม่ได้ในระดับนานาชาติได้

      - ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์เนื้อหาจากข้อมูล (Sophisticated AI for data-driven content creation) ดิจิทัลได้ปฏิวัติภูมิทัศน์สื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเข้าถึงผู้คน และเปิดทางให้กับ “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” หลายล้านคนเข้ามาสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสื่อรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Creator Economy” โดยเฉพาะผู้สร้างที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ปัจจุบันสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มนุษย์ได้ออกแบบ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงในมิติอื่น เช่น Virtual influencer ที่สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางการสื่อสารได้ง่ายกว่าการใช่มนุษย์ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการรักษาภาพลักษณ์และลดต้นทุนของแบรนด์ได้อีกด้วย

      - ยุคใหม่ของเทคโนโลยีอาหาร (Next generation of foodtech) การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก พฤติกรรมการบริโภคที่เน้นอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีชีวภาพมีส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาทรัพยากรอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหาร ต่อยอดกระบวนการผลิตอาหารให้ตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อนไปพร้อมกับสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนต่อโลก

      - เทคโนโลยีความมั่นคง (Hyper Spending on Defense Tech) การพัฒนาเทคโนโลยีทาง การทหารเป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงและทางเศรษฐกิจ เช่น การเตรียมความพร้อมด้านยุทโธปกรณ์และความมั่นคงข่าวสารทำให้เกิดการลงทุนด้านนวัตกรรมทางการทหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รัสเซีย และสหราชอาณาจักรที่มีการใช้จ่ายงบประมาณด้านนี้สูงสุด อย่างไรก็ตามเมื่อมองถึงประเทศไทย รัฐบาลก็มีนโยบายในการผลักดันให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็น S-Curve โดยเน้นการส่งเสริมและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสองทาง (Dual-Use) ที่สามารถนำใช้งานได้ทั้งภารกิจด้านความมั่นคงและสำหรับภาคพลเรือนทั่วไปเชิงพาณิชย์

กลุ่มประชาสัมพันธ์
ฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์

แหล่งที่มาของข้อมูล : กิริฎา เภาพิจิตร และ กิตติพัฒน์ บัวอุบล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 19 มกราคม 2566

652 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย