หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนกรกฎาคม 2565)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนกรกฎาคม 2565)

        ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2565 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันยังมีราคาที่สูงอยู่ต่อไป ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตยังมีการขยายตัวขึ้นมา เนื่องจากสถานการณ์ของโควิดในต่างประเทศมีการผ่อนคลายที่มากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเริ่มเร่งการผลิตตามคำสั่งซื้อที่เริ่มทะยอยเข้ามา จึงทำให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวดีขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากมีค่าเพิ่มขึ้นแต่เงินให้สินเชื่อมีค่าลดลง เนื่องจากประชาชนมีการออมสูงขึ้น เนื่องจากต้องการเก็บเงินไว้เพื่อรองรับกับความผันผวนที่ยังมีอยู่ จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าน้อยลง เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงผันผวนทำให้ธนาคารไม่เร่งการปล่อยสินเชื่อออกมา รวมทั้งยังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อจากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

เดือน / รายละเอียด

กุมภาพันธ์

65

มีนาคม

65

เมษายน

65

พฤษภาคม

65

ดัชนีราคาผู้บริโภค

104.10

104.79

105.15

106.62

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

100.72

109.17

90.29

97.21

อัตราการใช้กำลังการผลิต

64.58

69.33

58.54

62.42

ดุลการค้า

3,446.45

5,200.34

1,125.80

1,985.45

ดุลบัญชีเดินสะพัด

-568.22

920.40

-3,057.07

-3,716.16

เงินฝาก

16,592.35

16,834.39

16,873.17

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

18,034.50

18,205.67

18,120.15

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562                 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท

                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ   ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559

                  ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนพฤษภาคม 2565

  • ด้านอุปทาน

ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ พ.ค. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ พ.ค. 64

37,673

-23.92%

ณ พ.ค. 65

32,223

-14.46%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ พ.ค. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

13,514

41.94

บ้านเดี่ยว

12,194

37.84

ทาวน์เฮ้าส์

4,028

12.50

บ้านแฝด

1,344

4.17

อาคารพาณิชย์

1,143

3.55

รวม

32,223

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ด้านอุปสงค์

- การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ พ.ค. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ พ.ค. 64

66,095

-8.96%

ณ พ.ค. 65

67,456

2.02%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

- ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ เม.ย. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

26,780

39.70

ทาวน์เฮ้าส์

21,985

32.59

บ้านเดี่ยว

12,106

17.95

บ้านแฝด

3,396

5.03

อาคารพาณิชย์

3,189

4.73

รวม

67,456

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 65

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย

6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ย

นโยบาย ธปท.

มกราคม-พฤษภาคม

5.87

0.50

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

หมายเหตุ : 6 ธนาคาร ประกอบด้วย ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา,

ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนพฤษภาคม 2565

        ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 14.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ดี ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่ อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นมาได้เล็กน้อย 2.02% เพราะผู้บริโภคเริ่มมีรายได้ที่ดีขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมา ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และ บ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยยังทรงตัวอยู่ที่ 5.87% และ 0.50% ตามลำดับ

วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง*

ที่มาของภาพ :  https://bohatala.com/wp-content/uploads/2018/01/jjjj.jpg

        สถานการณ์ปัจจุบันหลังครบรอบ 25 ปี ที่ทางการไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float Exchange Rate Regime) โดยการตัดสินใจในครั้งนั้นนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทย จากเดิมที่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกติดกับตะกร้าเงิน (ทำให้ค่าเงินไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง จนทำให้เกิดการโจมตีค่าเงินบาท) มาเป็นการลอยตัวแบบมีการจัดการ ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมีความยืดหยุ่น สอดคล้องไปกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ขณะที่เงินบาทในปีนี้มีทิศทางอ่อนค่า สอดคล้องกับหลายสกุลเงินในเอเชีย ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบจากปัจจัยของเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่มุมมองการคาดการณ์ของตลาดสะท้อนว่าด้วยข้อจำกัดที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้แม้ว่าธนาคารกลางของประเทศแถบเอเชียเหล่านี้จะเริ่มวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น แต่จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะยังคงตามหลังดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อยู่พอสมควร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากปี 2540 เพราะในปี 2540 เงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลมาจากการปรับอ่อนค่าหลังมีการลอยตัวค่าเงินเพื่อสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของไทยในเวลานั้น อย่างไรก็ตามหากดูในเรื่องความผันผวนของค่าเงินจะพบว่าแม้เริ่มมีภาพการไหลออกของกระแสเงินลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยหลังจากที่สหรัฐฯ เร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่ค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2565 ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ซึ่งมีค่าความผันผวนอยู่ที่ประมาณ 4-6% ซึ่งสะท้อนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงช่วยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของค่าเงินบาทท่ามกลางปัจจัยไม่แน่นอนรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน ตลอดจนสถานการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัด ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงิน และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการในภาคธุรกิจควรที่จะเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมมาช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน

        นอกจากนี้วิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 ที่มีต้นตอมาจากความไม่สมดุลภายในและการผูกค่าเงิน แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความแตกต่าง เพราะต้องรับมือกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยปี 2540 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาความไม่สมดุลหลายด้าน ภาคเอกชนและสถาบันการเงินขาดการตระหนักถึงความเสี่ยง มีการใช้จ่ายและกู้ยืมเกินตัวเปิดความเสี่ยงด้าน Maturity and Currency Mismatch มีการก่อหนี้ต่างประเทศสูง และมีการเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจภาพรวมมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนตรึงไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งทำให้ถูกโจมตีค่าเงิน และทางการไทยจำเป็นต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท โดยในเวลานั้นเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิลดลงเหลือเพียง 2.8 พันล้านบาท ณ มิ.ย.2540 แต่เมื่อกลับมามองที่สถานการณ์ในปัจจุบัน จุดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงและแข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก โดยระดับเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (เงินสำรอง และ Net Forward Position) ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท ณ 24 มิ.ย.2565 ซึ่งสามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรได้เต็มจำนวน ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.2% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 นอกจากนี้ทางการได้เข้ามาดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะผ่านมาตรการ เช่น การกำหนดเกณฑ์ LTV ทำให้คลายกังวลต่อปัญหาดังกล่าวลงบางส่วน ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนการเรียนรู้บทเรียนจากอดีตและการวางแนวทางเพื่อไม่ให้ไทยซ้ำรอยเดิม อย่างไรก็ดีคงต้องยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีโจทย์จากปัจจัยภายนอกซึ่งไม่เหมือนกับในอดีต โดยปัจจุบันมีต้นตอของปัญหามาจากโควิด-19 สงครามยูเครน-รัสเซียซึ่งกระทบราคาน้ำมัน รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้มีทั้งประเด็นเฉพาะหน้าและโจทย์เชิงโครงสร้างที่ยังต้องติดตาม

        อีกประเด็นที่มีความแตกต่าง หนี้ต่างประเทศ จากบทเรียนในอดีตสะท้อนว่าประเด็นที่ต้องระมัดระวัง คือ ความผันผวนด้านอ่อนค่าของเงินบาทที่จะทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น และเมื่อดูเฉพาะในส่วนของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่มียอดคงค้างที่ 7.42 หมื่นล้านดอลลาร์ พบว่าราว 58.8% หรือ 4.37 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นหนี้ของภาคธุรกิจ ซึ่งคงต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในวิธีที่เหมาะสมกับกระแสรายรับ-รายจ่ายในรูปเงินตราต่างประเทศของแต่ละราย หนี้ของภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐขยับสูงขึ้น เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วน 228.4% ต่อจีดีพี (หนี้ครัวเรือน 90% หนี้ธุรกิจ 78.8% และหนี้สาธารณะ 59.6% ต่อจีดีพี) ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 149.8% ต่อจีดีพีในช่วงปี 2540 อย่างไรก็ดีสถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างและมีสาเหตุที่ไม่เหมือนกับช่วงวิกฤตปี 2540 โดยในปี 2540 ต้นตอปัญหามาจากการก่อหนี้ต่างประเทศและมาปล่อยกู้ผ่าน BIBF ขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบัน หนี้ของภาคเอกชนและภาครัฐส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาทจากสภาพคล่องในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้คงต้องยอมรับว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาจากการที่ต้องเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤตหลายระลอกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นแม้ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนจะเป็นโจทย์ระยะยาวที่ต้องมีการเข้าไปดูแล แต่ไม่น่าจะสร้างปัญหาในระยะสั้นเหมือนกับหนี้ BIBF ในช่วงวิกฤต 2540 และเมื่อมองลึกลงไปในมิติของเศรษฐกิจจะพบว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันมีข้อจำกัดการเติบโตด้านรายได้ในระยะข้างหน้า โดยเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องเป็นสัดส่วนสูง ดังนั้นแม้ไทยเริ่มเปิดประเทศ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึงและขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการควบคุมสถานการณ์ของโรค ทำให้ความสามารถในการหารายได้ โดยเฉพาะของธุรกิจเอสเอ็มอีและประชาชนรายย่อยยังไม่กลับมาเป็นปกติ นอกจากนี้การเติบโตของรายได้ในระยะข้างหน้ายังมีข้อจำกัดจากปัญหาด้านทักษะแรงงาน ขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก การปรับโครงสร้างสู่ธุรกิจแห่งอนาคตซึ่งยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ไทยต้องเผชิญกับสนามการค้าโลกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานและภาระด้านสาธารณสุขในระยะยาว

        ด้านสถานะของแบงก์ไทยในวันนี้มีสถานะแข็งแกร่งกว่าปี 2540 แต่มีโจทย์ในเรื่องการประคองความสามารถในการทำกำไรให้กลับมาเทียบเคียงระดับก่อนโควิด พร้อมๆ กับการดูแลปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ และการเร่งช่วยปรับโครงสร้างหนี้ในระยะยาวให้ลูกหนี้ จากจุดอ่อนในภาคธนาคารที่เคยเป็นชนวนของวิกฤตสถาบันการเงินในช่วงปี 2540 ได้รับการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการและครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า รวมถึงการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล (Basel III) ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบันมีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าในปี 2540 มาก สะท้อนจากความมั่นคงของระดับเงินกองทุนและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงมีการจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุก โดยสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.79% (ณ เมษายน 2565) ซึ่งสูงกว่าในช่วงปี 2540 สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับต่ำกว่า 100% และสัดส่วน NPL ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ 2.93% ต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดีการประคองรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ายังคงเป็นสถานการณ์ที่มีความท้าทาย ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์มีภารกิจในการดูแลช่วยเหลือลูกหนี้ (ณ เมษายน 2565 ยังมีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลืออีกประมาณ 12.1% ของสินเชื่อรวม) และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบาง เพื่อให้ภาระในการชำระคืนหนี้เหมาะสมกับศักยภาพและความสามารถในการหารายได้ของลูกหนี้ในระยะยาว

        โดยสรุปมองว่าจากประเด็นเศรษฐกิจการเงินต่างๆ ที่ยกมาเปรียบเทียบข้างต้นสะท้อนว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะไม่เหมือนกับในปี 2540 และไทยได้มีการเรียนรู้และปรับมาตรการและกฎเกณฑ์มาป้องกันการซ้ำรอย จนทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ สถานะของสถาบันการเงิน และไม่มีภาวะเก็งกำไรในวงกว้างแบบในปี 2540 อย่างไรก็ดีจากผลกระทบของปัจจัยภายนอก ทั้งวิกฤตโควิด สงครามยูเครน-รัสเซีย ปัญหาราคาน้ำมันสูง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้โจทย์ที่สำคัญ คือ การช่วยประคองภาคครัวเรือนและธุรกิจให้สามารถรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า เช่น แรงกดดันเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ/ต้นทุนที่สูง และดอกเบี้ยในประเทศที่กำลังจะขยับขึ้น พร้อมๆ กับการวางแนวทางรับมือกับโจทย์เชิงโครงสร้าง ทั้งระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น การยกระดับทักษะแรงงาน การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเร่งผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต

วิเคราะห์สัญญาณในการพิจารณาเศรษฐกิจถดถอย

        เมื่อพิจารณาถึงโอกาสความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ คงต้องพิจารณาที่ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก ในปี 2564 มูลค่าทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ คิดเป็น 22,997.50  พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 23.9% ของเศรษฐกิจโลก (อ้างอิงจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ เดือนเมษายน 2565)  เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์พยายามที่จะใช้ชี้นำถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีดังนี้

  • Inverted Yield Curve คือ ปรากฎการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น โดยปกติอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมักจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าระยะสั้น เพราะการลงทุนในระยะยาวจะมีความเสี่ยงโดยรวมจากการถือครองพันธบัตรมากกว่าระยะสั้นจากความไม่แน่นอนของอัตราเงินเฟ้อและทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต แต่หากขณะนั้นนักลงทุนมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวมาก และภาวะตลาดมีความผันผวนรุนแรง นักลงทุนจะเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากกว่าปกติจึงทำให้เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ข้อมูลปัจจุบัน ณ 17 มิถุนายน 2565  ส่วนต่างระห่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี กับ 2 ปี มีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณภาวะ Inverted Yield Curve ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี กับ 3 เดือน ยังคงชันขึ้น ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะใกล้นี้ อย่างไรก็ตามต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
  • High Yield Credit Spread คือ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) กับพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากตราสารหนี้ประเภทนี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (Below Investment Grade) หรือไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated) พบได้มากในประเทศสหรัฐฯ เมื่อส่วนต่างนี้กว้างขึ้น อาจจะสะท้อนถึงบริษัทเหล่านั้นยอมที่จะให้ผลตอบแทน (หรือ Coupon) แก่ผู้ถือตราสารหนี้ของบริษัทมากขึ้น ขณะที่บริษัทย่อมมีต้นทุนทางการเงินมากขึ้นเพื่อรักษาสภาพคล่องของบริษัทไว้ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือมีความผันผวน อย่างไรก็ตามต้องพิจารณา High-Yield Credit Spread ควบคู่กับภาวะ Inverted Yield Curve เพราะในปี 2554 แม้ว่าส่วนต่างกว้างขึ้น แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งระดับในปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะสั้น จากข้อมูลในอดีตเมื่อส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) กับพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากกว่า 5.00% และยังคงสูงต่อเนื่องจะนำไปสู่สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย 
  • ดัชนีนำเศรษฐกิจ (Leading Indicator) ในที่นี้จะพิจารณาถึง The Conference Board’s Leading Economic Indicators (LEI) ของสหรัฐฯ ที่ออกแบบมาเพื่อพิจารณาสัญญาณจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดของวัฎจักรเศรษฐกิจซึ่งจะส่งสัญญาณล่วงหน้า 7 เดือน ข้อมูลล่าสุดพบว่าการเปลี่ยนแปลงของดัชนีนำเศรษฐกิจกำลังลดลง แต่ค่าการเปลี่ยนแปลงยังอยู่เหนือ 0.0% ซึ่งอธิบายได้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ยังไม่ถึงกับเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าติดลบติดกันต่อเนื่องมากกว่า 5-10 เดือน จะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
  • ตลาดแรงงาน เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงานจะลดลง อัตราการว่างงานจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตามเครื่องชี้ภาวะตลาดแรงงานโดยส่วนใหญ่จะเป็นดัชนีตามเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่าเมื่อเศรษฐกิจถดถอยแล้วจึงจะเกิดอัตราการว่างงานสูง ดังนั้นจึงอาจเป็นเพียงสิ่งยืนยันว่าได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว หากพิจารณาถึงอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ จะพบว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำและยังไม่ได้บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

        โดยสรุปจะเห็นได้ว่าจากเครื่องชี้ภาวะดังกล่าวข้างต้น สะท้อนว่ายังไม่มีสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงสั้น สอดคล้องกับคาดการณ์ของ Bloomberg ที่คำนวณโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ มี 31.5%  อย่างไรก็ตามหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอาจจะนำไปสู่ภาวะ Inverted Yield Curve และทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท และอาจนำไปสู่การลดต้นทุนโดยการเลิกจ้างงานในที่สุด ดังนั้นการติดตามข้อมูลเศรษฐกิจและการเงินอย่างใกล้ชิด รับรู้ข่าวสารและข้อมูลให้ถี่ถ้วน เพื่อที่จะวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และงบประมาณ

ฝ่ายยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจองค์กร


แหล่งที่มาของข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565

3308 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย