หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนมิถุนายน 2565)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนมิถุนายน 2565)

       ข้อมูลเดือนเมษายน 2565 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันยังมีราคาที่สูงอยู่ต่อไป ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตยังมีการหดตัวลงมา เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้นได้มีการเร่งการผลิตไปมากแล้วตามคำสั่งซื้อที่มีเข้ามา ส่งผลให้ผู้ประกอบการเริ่มมีการชะลอการผลิตลงไป จึงทำให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ปรับตัวน้อยลงมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวลดลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนมีการออมสูงขึ้น เนื่องจากต้องการเก็บเงินไว้เพื่อรองรับกับความผันผวนที่ยังมีอยู่ จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นทำให้ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อออกมา แต่ก็ยังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อจากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

มกราคม

65

กุมภาพันธ์

65

มีนาคม

65

มีนาคม

65

ดัชนีราคาผู้บริโภค

103.01

104.10

104.79

105.15

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

103.77

100.72

109.17

90.89

อัตราการใช้กำลังการผลิต

65.69

64.58

69.33

58.91

ดุลการค้า

596.31

3,391.31

5,165.67

1,088.16

ดุลบัญชีเดินสะพัด

-2,204.43

-651.91

1,244.85

-3,350.63

เงินฝาก

16,410.38

16,592.35

16,834.39

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

17,903.25

18,034.50

18,205.67

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562               เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท

                 อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ   ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559

                 ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนเมษายน 2565

  • ด้านอุปทาน

       - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ เม.ย. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ เม.ย. 64

30,372

-19.15%

ณ เม.ย. 65

27,272

-10.21%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ เม.ย. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

11,807

43.29

บ้านเดี่ยว

9,973

36.57

ทาวน์เฮ้าส์

3,436

12.60

บ้านแฝด

1,159

4.25

อาคารพาณิชย์

897

3.29

รวม

27,272

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ด้านอุปสงค์

       - การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ เม.ย. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ เม.ย. 64

52,950

-10.67%

ณ เม.ย. 65

50,754

-4.15%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ เม.ย. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

20,047

39.50

ทาวน์เฮ้าส์

16,703

32.91

บ้านเดี่ยว

9,159

18.04

บ้านแฝด

2,607

5.14

อาคารพาณิชย์

2,238

4.41

รวม

50,754

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 65

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย

6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ย

นโยบาย ธปท.

มกราคม-เมษายน

5.87

0.50

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

หมายเหตุ : 6 ธนาคาร ประกอบด้วย ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนเมษายน 2565

       ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 10.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ดี ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่ อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 4.15% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่ต่อไป ท่ามกลางผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อรายได้ของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยยังทรงตัวอยู่ที่ 5.87% และ 0.50% ตามลำดับ

วิเคราะห์วิกฤติอาหารโลกกับการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น

ที่มาของภาพ :  http://adventmessenger.org/wp-content/uploads/World-Food-Crisis.jpg  

       วิกฤติอาหารในเศรษฐกิจโลก คือ ภาวะขาดแคลนอาหารและราคาอาหารแพงขึ้น กำลังส่อเค้าทวีความรุนแรง กระทบชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก ประเทศไทยแม้เป็นประเทศส่งออกอาหารก็ต้องไม่ประมาท เพราะวิกฤติอาหารจะไม่จบง่ายโดยเฉพาะถ้าสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียยืดเยื้อ ทำให้ต้องพร้อมที่จะเตรียมรับมือ ความไม่เพียงพอของอาหารเทียบกับความต้องการบริโภคเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจโลกมาตลอด แม้เทคโนโลยีด้านการเกษตรและการผลิตอาหารจะดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความแปรปรวนของธรรมชาติ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนที่กระทบการผลิตในภาคเกษตรทำให้อาหารขาดแคลน อีกส่วนคือปัญหาในการกระจาย คือ กระจายอาหารที่เศรษฐกิจโลกผลิตได้ไปสู่ประเทศที่ขาดแคลน ปีที่แล้วประมาณว่าประชากรโลกเกือบ 200 ล้านคนขาดอาหาร เป็นผลจากภาวะโลกร้อนที่กระทบการผลิตอาหาร เช่น คลื่นความร้อนในอินเดียและอากาศแห้งในบราซิล สหรัฐอเมริกา แคนาดา ซึ่งทั้งหมดเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก นอกจากนี้วิกฤติโควิดก็มีผลทำให้อาหารขาดแคลน เพราะดิสรัปชันในการขนส่ง ทำให้อาหารที่ผลิตได้ขนส่งไม่ได้ รวมถึงต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ราคาอาหารจึงปรับสูงขึ้นตาม และที่สำคัญรายได้ของประชาชนที่ลดลงจากผลของวิกฤติโควิดก็ทำให้การเข้าถึงอาหารมีปัญหาโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

       ปีนี้สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียยิ่งทำให้สถานการณ์การขาดแคลนอาหารเลวร้ายมากขึ้น เพราะกระทบอุปทานอาหารในเศรษฐกิจโลกใน 3 ทาง ได้แก่

  1. สงครามทำให้การผลิตสินค้าเกษตรในเศรษฐกิจโลกชะงักงัน เพราะทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก สองประเทศนี้ส่งออกข้าวสาลีรวมกันประมาณร้อยละ 30 ของการส่งออกข้าวสาลีทั้งหมดในโลกและประมาณร้อยละ 20 ของการส่งออกข้าวโพด ผลคือการผลิตสินค้าเกษตรลดลงจากผลของสงคราม ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับสูงขึ้น
  2. สงครามกระทบการผลิตปุ๋ยซึ่งรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ เพราะการผลิตก๊าซธรรมชาติและแร่โปแตชที่ใช้มากในอุตสาหกรรมปุ๋ยถูกกระทบ การขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นทำให้การใช้ปุ๋ยลดลงกระทบผลผลิตต่อไร่ ผลคือปริมาณสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น กระทบต้นทุนการผลิตอาหาร ปริมาณการผลิตอาหาร และราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญการขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยที่แพงทำให้เกษตรกรทั่วโลกจะลดการใช้ปุ๋ย ขณะที่ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรทั่วโลกแพงขึ้น ทั้งหมดจะกระทบการผลิตสินค้าเกษตรในทุกประเภทและการผลิตอาหาร ส่งผลให้การขาดแคลนอาหารในเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงขึ้น
  3. สงคราม มาตรการคว่ำบาตร การปิดล้อมเมืองท่า เช่น เมืองมาริอูโปลในยูเครน ทำให้การเคลื่อนย้ายและส่งออกสินค้าและอาหารที่ผลิตได้ทำได้ลำบาก เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในประเทศผู้ซื้อที่ไม่สามารถนำเข้าสินค้าได้แม้มีเงินที่จะจ่าย เช่น กรณีอียิปต์ที่พึ่งข้าวสาลีนำเข้าจากยูเครนมาก ผลคือปัญหาการกระจายอาหารที่มีอยู่ยิ่งหนักขึ้นกว่าเดิม ทำให้ภาวะขาดแคลนอาหารกระจายไปทั่วไม่ใช่เฉพาะในประเทศที่ยากจน

       นี่คือ 3 สาเหตุที่ทำให้โลกขาดแคลนอาหาร ได้แก่ สงคราม ภาวะโลกร้อน และสถานการณ์เศรษฐกิจ ทำให้การผลิตอาหารลดลง กระจายไม่ทั่วถึง และราคาแพงขึ้น ล่าสุดดัชนีราคาสินค้าอาหารของ FAO เพิ่มขึ้น ขณะที่กว่า 50 ประเทศขณะนี้ขาดแคลนอาหารและรุนแรงสุดคือ เอธิโอเปีย ซูดานใต้ มาดากาสก้าใต้ และเยเมน ที่สำคัญภาวะดังกล่าวทำให้กว่า 20 ประเทศขณะนี้ เริ่มเข้าแทรกแซงกลไกตลาดเรื่องอาหารด้วยมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น ห้ามส่งออกอาหารที่ผลิตได้หรือที่นำเข้ามาเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ มาตรการเหล่านี้แม้ดูดีในแง่การคุ้มครองประชาชนให้มีอาหารเพียงพอ แต่ก็จะทำให้การแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในระดับโลกทำได้ยากขึ้น เพราะการจำกัดการเคลื่อนย้ายอาหารระหว่างประเทศ

       ภาวะการขาดแคลนอาหารในเศรษฐกิจโลกคงกระทบประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ไทยจะบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักและปลูกได้เองไม่ใช่ขนมปังที่ใช้แป้งสาลีและเป็นผู้ส่งออกอาหารมากกว่านำเข้า กระทบทั้งจากราคาอาหารที่สูงขึ้นและการส่งออกและนำเข้าอาหารในตลาดโลกที่จะมีข้อจำกัดมากขึ้น ที่สำคัญความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามบวกกับการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจแพร่หลาย จะทำให้ภาวะการขาดแคลนอาหารยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ประเทศไทยจึงไม่ควรประมาทและควรเตรียมพร้อมเพื่อลดผลกระทบในกรณีเลวร้าย เช่น ภาวะโลกร้อนที่กระทบการผลิตอาหาร หรือหาประโยชน์จากสถานการณ์ขาดแคลนเพราะภาคเกษตรไทยมีศักยภาพที่จะทำอะไรได้อีกมาก และเป็นฐานรายได้หลักของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะเดียวกันภาคเกษตรไทยก็เป็นสาขาการผลิตที่ใหญ่ ผลิตผลต่ำ และปรับตัวช้า ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะตอบสนองกับปัญหาได้อย่างทันการ

       ดังนั้นสิ่งที่ทางการควรทำคือเตรียมตัว โดยใช้โอกาสที่ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นและความต้องการในต่างประเทศมีมากสร้างแรงจูงใจให้การผลิตในภาคเกษตรของประเทศขยายตัวแบบก้าวกระโดด สร้างแรงจูงใจผ่านระบบตลาดให้แรงงานที่ว่างงานมากในปัจจุบันและเงินทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีกลับเข้าภาคเกษตร ทำในทุกประเภทการผลิตทุกสินค้าในทุกระดับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้ผลผลิตเกษตรและอาหารในประเทศขยายตัว ทั้งเพื่อเพิ่มพูนปริมาณสต๊อกอาหารที่ประเทศมีเพื่อเตรียมตัวกับภาวะเลวร้ายและเพื่อหารายได้จากการส่งออก ถ้าใช้โอกาสนี้ขยายรายได้ของภาคเกษตรได้มาก รายได้คนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะขยายตัว เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัว ที่สำคัญทางการต้องตระหนักในเรื่องนี้และพร้อมยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ผลผลิตการเกษตรและปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สามารถเคลื่อนย้ายภายในประเทศ ผลิตและนำเข้าได้อย่างเสรี เพื่อลดข้อจำกัดให้การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารสามารถขยายตัวได้ง่ายขึ้น มีประชาชนและผู้เล่นรายใหม่เข้ามามีส่วนร่วม การแข่งขันมีมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ถ้าทำได้ประเทศไทยก็จะอยู่กับวิกฤติอาหารโลกได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น และได้ประโยชน์ในแง่การเติบโตของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

 

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าเงิน

       ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและมีความผันผวนสูงมากขึ้น โดยค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาจากระดับประมาณ 32.20 บาทต่อดอลลลาร์ มาอยู่ที่ประมาณ 34.50 บาทต่อดอลลาร์หรืออ่อนค่าลงกว่า 7% ในช่วงเวลาเพียงประมาณ 4 เดือน ซึ่งในแง่ของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านนำเข้าและส่งออกนั้น การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินมีผลกระทบต่อต้นทุนของสินค้าหรือราคาขายของสินค้าอย่างมาก ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปรับตัว และควรต้องศึกษาแนวทางในการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนี้

       ถ้าหากจะถามว่าค่าเงินเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยอะไร คำตอบคือมีหลายปัจจัย แต่หากจะพิจารณาแบบง่ายๆ ก็อาจมองเงินแต่ละสกุลเสมือนเป็นสินทรัพย์หรือสินค้าชนิดหนึ่ง ดังนั้นค่าเงินแต่ละสกุลจะขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานดังเช่นสินค้าทั่วๆ ไป ในฝั่งของอุปสงส์นั้นก็คือความต้องการเงินบาท ถ้ามีความต้องการมากขึ้นค่าเงินบาทก็จะแข็งขึ้น ถ้าต้องการน้อยค่าเงินบาทก็อ่อนตัวลง ซึ่งความต้องการนี้อาจมาจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการค้าหรือการบริการของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วนรวมราว 70% ของ GDP ไทย (สถิติก่อนโควิด-19) ดังนั้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ความต้องการเงินบาทลดลงจากภาคการท่องเที่ยวที่ลดลง จึงส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อค่าเงินเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเป็นตัวสะท้อนผลตอบแทนจากการลงทุน ดังนั้นเงินทุนจึงมักจะย้ายจากประเทศที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำไปสู่ประเทศที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง เช่น การที่ประเทศญี่ปุ่นตรึงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ (-0.1%) ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุนและส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์เยนอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

       สำหรับในด้านอุปทานหรือปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐซึ่งเป็นผู้ใช้กลไกต่างๆ ในการกำหนดปริมาณเงินในระบบ เช่น การกำหนด Reserve Requirement Ratio (RRR) หรือระดับสินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องกันไว้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ซึ่งระดับ RRR จะส่งผลต่อปริมาณเงินที่สามารถนำไปปล่อยกู้ได้ เช่น กรณีที่ RRR ต่ำลง ธนาคารจะมีเงินเหลือมากขึ้นและสามารถนำไปปล่อยกู้ได้มากขึ้น เงินในระบบก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ค่าของเงินประเทศนั้นๆ ลดลงได้ ตัวอย่างเช่น การปรับลด RRR ของธนาคารกลางจีนในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารมีสภาพคล่องสูงขึ้น และมีเงินเหลือไปปล่อยกู้เพิ่มขึ้น จึงทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงนั่นเอง

       ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมของภาคธุรกิจ แต่กลับมีผลต่อต้นทุน รายได้ และผลกำไรของผู้ประกอบธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยสำหรับผู้นำเข้า ค่าเงินที่อ่อนลงก็ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น หากราคาสินค้าไม่เปลี่ยนแปลง ก็ทำให้กำไรลดลง อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ส่งออก ค่าเงินที่อ่อนลงอาจเป็นผลดี เพราะทำให้ราคาสินค้าในสายตาของต่างชาติถูกลง และผู้ส่งออกก็ได้รายได้มากขึ้นเมื่อแปลงค่าเงินต่างประเทศกลับมาเป็นเงินไทย นอกจากนี้ค่าเงินยังมีผลต่อผู้ลงทุนที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งในปัจจุบันผู้ลงทุนไทยก็มีการไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศหรือทางอ้อมที่ผ่านผู้ลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนต่างๆ ซึ่งการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศเมื่อแปลงเป็นเงินบาทมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็ส่งผลให้กำไรเมื่อแปลงเป็นค่าเงินบาทลดลงได้

       ด้วยการที่ค่าเงินอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจและการลงทุนได้นั้น ผู้ประกอบการและผู้ลงทุน จึงควรให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งในส่วนนี้อาจเลือกใช้เครื่องมือที่เป็น FX Forward กับธนาคารพาณิชย์ หรือใช้ USD Futures ในตลาด TFEX เพื่อล็อกอัตราแลกเปลี่ยนและจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ดีเครื่องมือแต่ละประเภทก็มีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่น ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินและทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะใช้บริการ FX Forward ได้สะดวก หากแต่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กตลอดจนผู้ลงทุนทั่วไปก็อาจเข้าถึงบริการ FX Forward ได้ยากกว่า ดังนั้นอาจพิจารณาใช้ USD Futures แทน เพราะไม่จำเป็นต้องมีวงเงินหรือความสัมพันธ์กับธนาคารพาณิชย์ ไม่ต้องแสดงเอกสารแสดงว่ามีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ อีกทั้งสามารถทำธุรกรรมในขนาดเล็ก (1,000 USD ต่อสัญญา หรือประมาณ 34,000 บาท) ได้ และยังสามารถใช้บริการเสริมเพื่อนำสถานะใน USD Futures ไปแลกเป็นเงิน USD จริงที่ธนาคารก่อนที่สัญญาครบกำหนดอายุได้

       โดยสรุปแล้วความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนสามารถบริหารจัดการได้ โดยผู้ใช้ควรเลือกเครื่องมือในการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตน และที่สำคัญก็คือไม่ว่าจะใช้เครื่องมือใดก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจกลไกของเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยง ต้นทุนและข้อจำกัดในการใช้งานด้วย เพื่อที่จะช่วยทำให้การลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์เอาไว้นั่นเอง

 

กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และงบประมาณ

ฝ่ายยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจองค์กร

แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร. บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 23 มิถุนายน 2565

825 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย