หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนพฤษภาคม 2565)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนพฤษภาคม 2565)

       ข้อมูลเดือนมีนาคม 2565 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันยังมีราคาที่สูงอยู่ ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีราคาที่ทรงตัว จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตยังมีการขยายตัวขึ้นมา เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจของต่างประเทศเริ่มดีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ของโควิดที่มีการผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเริ่มมีการผลิตสินค้าออกมา จึงทำให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวดีขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนมีการออมสูงขึ้น เนื่องจากต้องการเก็บเงินไว้เพื่อรองรับกับความผันผวนที่ยังมีอยู่ จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นทำให้ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อออกมา แต่ก็ยังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อจากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

ธันวาคม

64

มกราคม

65

กุมภาพันธ์

65

มีนาคม

65

ดัชนีราคาผู้บริโภค

101.86

103.01

104.10

104.79

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

101.68

103.77

100.72

108.58

อัตราการใช้กำลังการผลิต

65.24

65.69

64.58

68.77

ดุลการค้า

2,834.65

596.31

3,391.31

5,165.67

ดุลบัญชีเดินสะพัด

-1,611.49

-2,204.43

-651.91

1,244.85

เงินฝาก

16,406.90

16,410.38

16,592.35

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

17,857.59

17,903.25

18,034.50

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562                 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท

                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ   ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559

                  ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนมีนาคม 2565

  • ด้านอุปทาน

       - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มี.ค. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ มี.ค. 64

24,070

-21.70%

ณ มี.ค. 65

17,543

-27.12%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ มี.ค. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

7,532

42.93

บ้านเดี่ยว

6,549

37.33

ทาวน์เฮ้าส์

2,186

12.46

บ้านแฝด

640

3.65

อาคารพาณิชย์

636

3.63

รวม

17,543

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ด้านอุปสงค์

       - การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มี.ค. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ มี.ค. 64

40,906

-15.24%

ณ มี.ค. 65

38,954

-4.77%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ มี.ค. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

15,433

39.62

ทาวน์เฮ้าส์

12,796

32.85

บ้านเดี่ยว

7,043

18.08

บ้านแฝด

2,018

5.18

อาคารพาณิชย์

1,664

4.27

รวม

38,954

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่บุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
           - สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ณ ไตรมาส 1 ปี 65 มีจำนวนทั้งสิ้น 143,669 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.07% จาก ณ ไตรมาส 1 ปี 64 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 139,387 ล้านบาท
     
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
           - สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไป ณ ไตรมาส 1 ปี 65 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,539,391 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.28% จาก ณ ไตรมาส 1 ปี 64 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 4,311,547 ล้านบาท
     
  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 65

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย

6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ย

นโยบาย ธปท.

มกราคม-มีนาคม

5.87

0.50

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

หมายเหตุ : 6 ธนาคาร ประกอบด้วย ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนมีนาคม 2565

       ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 27.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ดี ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่ อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 4.77% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่ต่อไป ท่ามกลางผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อรายได้ของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ไม่มากตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว ส่งผลทำให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 3.07% ณ ไตรมาส 1 ปี 65  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยยังทรงตัวอยู่ที่ 5.87% และ 0.50% ตามลำดับ

วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกเดินเข้าสู่ภาวะถดถอย

ที่มาของภาพ :  https://myrepublica.nagariknetwork.com/uploads/media/aa_20200508122140.jpg 

       ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ผลักดันโดยสามปัจจัยที่ได้เปลี่ยนเศรษฐกิจโลกแบบหน้ามือเป็นหลังมือเพียงเวลาไม่ถึงสามเดือนนั่นคือ สงครามยูเครนกับรัสเซีย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้เงินเฟ้อ และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอ ภาวะถดถอยนี้มีศักยภาพที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ปลายปีก่อนเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด แต่ผ่านมาสี่เดือนแนวโน้มก็เปลี่ยนมาเป็นการชะลอตัวและมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงต่อไป เป็นผลจากสามปัจจัยที่เกิดขึ้นในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ได้แก่

  1. สงครามจากการส่งกำลังทหารเข้าบุกยูเครนโดยรัสเซียตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่นำไปสู่ความไม่แน่นอนและสถานการณ์สู้รบที่ยังไม่ยุติ 
  2. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐในเดือนมีนาคมเพื่อแก้ไขปัญหา    เงินเฟ้อซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก
  3.  การกลับมาระบาดของโควิด-19 ในจีนรวมถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเมืองที่มีการระบาดในเดือนเมษายนตามนโยบาย Zero Covid ที่จะกระทบเศรษฐกิจจีนมาก 

       3 ปัจจัยนี้กระทบเศรษฐกิจโลกอย่างสำคัญ ทั้งในระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและระดับโครงสร้าง ทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้จะเปลี่ยนจากฟื้นตัวมาเป็นชะลอตัว มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย รวมถึงศักยภาพเศรษฐกิจโลกที่จะถดถอยในอนาคต และเมื่อพิจารณาประเด็นสำคัญในแต่ละเรื่องจะมีรายละเอียดดังนี้

       สถานการณ์สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียรวมถึงมาตรการคว่ำบาตร ได้ทำให้การผลิตในรัสเซียและยูเครนถูกกระทบมาก โดยเฉพาะพลังงาน คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การผลิตอาหาร เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด รวมถึงโลหะที่ทั้งสองประเทศนี้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทำให้เศรษฐกิจรัสเซีย เศรษฐกิจยูเครน รวมถึงเศรษฐกิจประเทศในยุโรปที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามถูกกระทบมาก เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การขาดแคลนสินค้า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อการขยายตัวและอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลก ยิ่งถ้าสถานการณ์สงครามยืดเยื้อ ผลกระทบต่อเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกก็ยิ่งมีมาก ที่สำคัญความแตกแยกในภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่เป็นผลจากสงคราม จะกระทบความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกในแง่โลกาภิวัตน์ ทำให้ศักยภาพและประสิทธิภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะถดถอยไม่เหมือนเดิม นี่คือผลของสงคราม

       สำหรับจีน การกลับมาระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่ต้นปี ชี้และเตือนทุกประเทศว่าโรคระบาดโควิด-19 ยังไม่จบสิ้น สามารถกลับมาระบาดและส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกได้เป็นรอบๆ ภายใต้นโยบาย Zero Covid รัฐบาลจีนได้เข้าไปควบคุมการระบาด เริ่มจากมาตรการล็อกดาวน์ในบางเมืองบางส่วน เช่น นครเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม จากนั้นขยายไปสู่การล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบในเมืองที่มีการระบาด เช่น เซี่ยงไฮ้และปักกิ่งในเดือนเมษายน ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนอยู่ในระดับสองหมื่นแปดพันคนต่อวัน ขณะที่สำนักข่าว CNN ประเมินว่ามาตรการล็อกดาวน์ทั้งแบบบางส่วนและเต็มรูปแบบขณะนี้ มีการบังคับใช้อยู่ใน 27 เมืองทั่วประเทศจีน กระทบประชากรกว่า180 ล้านคน มาตรการ   ล็อกดาวน์ส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้สินค้าขาดแคลนและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมความอ่อนแอที่เศรษฐกิจมีอยู่จากปัญหาหนี้เสียในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ประกาศที่จะเร่งใช้จ่ายด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การชะลอลงของเศรษฐกิจจีนจะกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะจีนเป็นเศรษฐกิจอันดับสองของโลก เป็นหัวรถจักรสำคัญในการผลิตและการใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลก และเป็นตัวเชื่อมสำคัญในห่วงโซ่การผลิตโลก มาตรการล็อกดาวน์ของจีนจึงยิ่งจะทำให้การผลิตในเศรษฐกิจโลกถูกกระทบมากขึ้น สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อความขาดแคลนและอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลก

       ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจทั่วโลก ล่าสุดเงินเฟ้อประเทศอุตสาหกรรมเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปีและประเทศตลาดเกิดใหม่ร้อยละ 7 ต่อปี เงินเฟ้อที่สูงกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาเงินเฟ้อได้ก่อตัวมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว จากความไม่สมดุลระหว่างการใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลก ที่เร่งตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการผลิตในเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวขึ้นไม่ทัน เพราะดิสรัปชันที่โควิด-19 มีต่อกระบวนการผลิต ทำให้ราคาสินค้าบางรายการปรับสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือ แต่จากนั้นข้อจำกัดต่อการผลิตที่มีมากขึ้นจากผลของสงคราม และล่าสุดจากมาตรการล็อกดาวน์ในจีน และจากการดำเนินนโยบายแก้ไขเงินเฟ้อโดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ล่าช้า โดยเฉพาะในสหรัฐทำให้ค่าจ้างแรงงานเริ่มปรับสูงขึ้นตาม แรงกดดันเงินเฟ้อจึงมีมากและเงินเฟ้อได้แปลงสภาพเป็นปัญหาเงินเฟ้อที่ราคาสินค้าปรับขึ้นเป็นการทั่วไป ขับเคลื่อนโดยการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลวัตของราคาสินค้าขาขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐสิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 8.5 สูงสุดในรอบสี่สิบปีและประชาชนอเมริกันกว่าร้อยละ 20 มองว่าเงินเฟ้อเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญสุดขณะนี้ กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ประเมินไว้เดิมเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ

       โดยสรุปจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ปัจจัยกระทบเศรษฐกิจโลกในทางลบ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่สำคัญและจำเป็นต่อการแก้     เงินเฟ้อทั้งเพื่อลดการใช้จ่ายและลดพลวัตที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถ้าไม่ทำเร็วและปล่อยให้ยืดเยื้อ เงินเฟ้อก็จะรุนแรงและกระทบเศรษฐกิจมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เมื่อเดือนเมษายนไอเอ็มเอฟได้ปรับลดประมานการขยายตัวเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าลงเป็นร้อยละ 3.6 และล่าสุดได้เตือนว่าภูมิภาคเอเชียอาจเจอกับปัญหา Stagflation  คือภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง ซึ่งมักมากับการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่ล่าช้า ทำให้ค่าเงินของประเทศอ่อนมาก ซ้ำเติมให้เงินเฟ้อยิ่งรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจโลกปีนี้ไม่สดใสแน่นอน และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นตามมา ตราบใดที่ความไม่แน่นอนยังมีมาก สำคัญสุดคือ สถานการณ์สงครามที่ควรยุติโดยเร็ว เพื่อลดความไม่แน่นอน เพราะถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อหรือขยายวง เศรษฐกิจโลกก็จะยิ่งถูกกระทบ และยิ่งนานก็จะยิ่งเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

 

วิเคราะห์ความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนกับความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

       ความผันผวนในตลาดเงินในช่วงปีนี้เกิดขึ้นในหลากหลายส่วนทั้งตลาดบอนด์ หุ้น และยังรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนด้วย โดยค่าเงินในฝั่งเอเชียล้วนปรับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะค่าเงินเยนญี่ปุ่น โดยทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นถูกกำหนดด้วยหลากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของการค้าขายระหว่างประเทศ การลงทุน ซึ่งรวมถึงทั้งการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินและการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจ สภาพคล่องและปริมาณเงินในระบบ รวมถึงแรงเก็งกำไรในสกุลเงินที่เปิดซื้อขายได้อย่างเสรีต่างๆ ซึ่งดูเหมือนว่าในรอบนี้ ตลาดการเงินจะให้น้ำหนักกับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยมากเป็นพิเศษ ทำให้แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในวงกว้างเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย ในขณะที่เรื่องของเศรษฐกิจจีนก็ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคไม่น้อย เนื่องจากหากจีนชะลอตัวลง เศรษฐกิจภูมิภาคก็น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญด้วย ค่าเงินเยนญี่ปุ่นปีนี้ปรับอ่อนค่า -11.9% มากสุดในภูมิภาค โดยเฉพาะนับตั้งแต่เดือน มี.ค เป็นต้นมาที่เกิดการอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันซื้อขายที่ระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 20 ปี ที่ 130.6 เยน ต่อดอลลาร์สหรัฐอเมริกา จากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ที่ดูเข้มงวดขึ้นเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ และมีความเป็นไปได้ที่จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ญี่ปุ่นยังคงต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อควบคุมผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุยาวให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ทำให้ต้องซื้อพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดการเงินสูงขึ้นและเป็นผลลบต่อค่าเงิน ในส่วนของเงินบาทปีนี้อ่อนค่าทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยนับจากต้นปีอ่อนค่า -2.9% ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ดอลลาร์ และเปโซฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่เป็นจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะเรื่องของนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจจีนที่น่าจะชะลอตัวลงกว่าคาดหลังการ Lockdown และเสริมด้วยปัจจัยทางฤดูกาลของการไหลออกของเงินปันผล

       โดยแนวโน้มในระยะถัดยังคงเป็นเรื่องของการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อเนื่อง ซึ่งมองจากหลายปัจจัยที่กล่าวมาในเบื้องต้น ดอลลาร์สหรัฐอเมริกายังมีความน่าสนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ แม้ตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาอาจถูกเทขายออกมาเป็นระยะๆ แต่มองไปในอนาคตด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเงินเฟ้อที่น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อาจดึงดูดให้เกิดเงินลงทุนไหลเข้าต่อเนื่องได้

       ในส่วนของภาคเศรษฐกิจจริง แม้การอ่อนค่าของค่าเงินอาจจะเป็นประโยชน์และช่วยกระตุ้นภาคการส่งออก แต่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและผันผวนขึ้นลงอาจไม่ส่งผลดีมากนัก เสริมด้วยเรื่องของต้นทุนของผู้นำเข้าที่น่าจะสูงขึ้น และต้นทุนการนำเข้าน้ำมันที่สูงขึ้นอาจะส่งผลต่อเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของครัวเรือนในท้ายที่สุด นอกจากนี้ความผันผวนของค่าเงินเกิดขึ้นในจังหวะที่ดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาน่าจะปรับตัวขึ้นเร็ว ทำให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) นั้นแพงขึ้น จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้น โดยความผันผวนที่ยังน่าจะสูงต่อเนื่อง อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องของแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ยังมีส่วนต่างระหว่างที่ตลาดการเงินคาดไว้ กับแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอาจจะปรับขึ้นจริง โดยเฉพาะหากเมื่อเห็นตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่อาจจะเริ่มชะลอลง รวมถึงเงินเฟ้อที่อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หากมีการปรับประมาณการแนวโน้มดอกเบี้ยของ FED ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนก็จะผันผวนตามไปด้วย ซึ่งโดยรวมแม้การป้องกันความเสี่ยงอาจจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ก็ยังอาจจะคุ้มโดยเฉพาะในภาวะที่ความเสี่ยงเกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัยอย่างเช่นในปัจจุบันนี้

       สำหรับการลงทุน เรื่องการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินอาจจะดูไม่มากเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเติบโตที่ปีนี้ดูจะทำได้ไม่ดีเลย แต่ความผันผวนในตลาดการเงินต่างๆ เป็นตัวสะท้อนความเปราะบางของตลาดการเงินภาพรวมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ปีนี้นับเป็นปีที่ไม่ง่ายนักเพราะทุกตลาดดูเหมือนจะผันผวนค่อนข้างมาก ทำให้ยังคงต้องจับตาดูแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินกันต่อไป ซึ่งปัจจัยสำคัญยังคงหนีไม่พ้นเรื่องของดอกเบี้ย สงคราม และเงินเฟ้อ นั่นเอง

 

กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และงบประมาณ

ฝ่ายยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจองค์กร

แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร. บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565

1046 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย