หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนเมษายน 2565)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนเมษายน 2565)

       ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มราคาที่สูงอยู่ ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีทิศทางที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตยังมีการหดตัวลงมา เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจของต่างประเทศเริ่มมีความผันผวนท่ามกลางสถานการณ์ของโควิดและแนวโน้มของสงครามรัสเซียยูเครน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างรอดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ผลิตเริ่มชะลอการผลิตสินค้าออกมาก ส่งผลให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ปรับตัวน้อยลงมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวดีขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนมีการออมสูงขึ้น เนื่องจากต้องการเก็บเงินไว้เพื่อรองรับกับความผันผวนที่ยังมีอยู่ จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นทำให้ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อออกมา แต่ก็ยังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อจากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

 รายละเอียด

พฤศจิกายน

64

ธันวาคม

64

มกราคม

65

กุมภาพันธ์

65

ดัชนีราคาผู้บริโภค

102.25

101.86

103.01

104.10

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

100.91

101.68

103.77

101.02

อัตราการใช้กำลังการผลิต

65.17

65.24

65.69

64.80

ดุลการค้า

4,237.52

2,834.65

596.31

3,391.31

ดุลบัญชีเดินสะพัด

380.48

-1,611.49

-2,204.43

-651.91

เงินฝาก

16,380.81

16,406.90

16,410.38

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

17,713.38

17,857.59

17,903.25

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562                 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท

                 อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ     ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559

                 ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนกุมภาพันธ์ 2565

  • ด้านอุปทาน

       - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ก.พ. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ ก.พ. 64

12,459

-44.95%

ณ ก.พ. 65

10,806

-13.27%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ก.พ. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

4,523

41.85

บ้านเดี่ยว

4,012

37.13

ทาวน์เฮ้าส์

1,435

13.28

บ้านแฝด

446

4.13

อาคารพาณิชย์

390

3.61

รวม

10,806

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ด้านอุปสงค์

       - การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ก.พ. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ ก.พ. 64

20,677

-21.01%

ณ ก.พ. 65

20,357

-1.55%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

        - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ก.พ. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

8,247

40.51

ทาวน์เฮ้าส์

6,609

32.47

บ้านเดี่ยว

3,614

17.75

บ้านแฝด

990

4.86

อาคารพาณิชย์

897

4.41

รวม

20,357

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 65

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย

6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ย

นโยบาย ธปท.

มกราคม-กุมภาพันธ์

5.87

0.50

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

หมายเหตุ : 6 ธนาคาร ประกอบด้วย ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนกุมภาพันธ์ 2565

       ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 13.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่ อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.55% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่ต่อไป ท่ามกลางผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อรายได้ของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยทรงตัวอยู่ที่ 5.87% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยยังทรงตัวอยู่ที่ 0.50% ตามลำดับ

วิเคราะห์โลกาภิวัฒน์ภายหลังสงครมรัสเซีย-ยูเครน

ที่มาของภาพ :  http://2.bp.blogspot.com/-eKVau74GmkE/Vj4-nOy6WBI/AAAAAAAACDQ/hJVFWuIeOkE/s1600/globalization.gif

       "โลกาภิวัตน์" หมายถึงกระบวนการที่ประเทศต่างๆ เชื่อมต่อและพึ่งพาซึ่งกันและกันในการทำการค้าการผลิตและการลงทุน ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา      โลกาภิวัตน์เติบโตมากสุดช่วงต้นปี 2000 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตปี 1991 และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลกของจีนปี 2001 ที่ทั้งจีนและกลุ่มประเทศในสหภาพโซเวียตเดิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกอย่างสมบูรณ์

       ที่ผ่านมาปัจจัยขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์คือเศรษฐกิจเสรีนิยม เทคโนโลยี ระบบอินเทอร์เน็ต นวัตกรรม ข้อมูลข่าวสาร และการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้การค้าโลกและเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง ชนชั้นกลางเติบโต ความยากจนลดลง และทั้งจีนและรัสเซียได้ประโยชน์เต็มที่ โดยจีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก ขณะที่รัสเซียพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลกและเป็นเศรษฐกิจอันดับสิบเอ็ดของโลก ที่สำคัญโลกาภิวัตน์ได้ผ่านการทดสอบสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของโลกาภิวัตน์ที่จะทัดทานแรงกระทบที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก เบร็กซิท และล่าสุดวิกฤติโรคระบาดโควิด19 

       แต่ภายใต้ความเข้มแข็งนี้ รอยปริก็มีมากขึ้นเช่นกัน เห็นได้จากกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ก่อตัวขึ้นจากความล้มเหลวของเศรษฐกิจเสรีนิยมที่ไม่สามารถทำให้ชีวิตคนส่วนใหญ่ดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น นำไปสู่กระแสชาตินิยมที่มองว่าโลกาภิวัตน์คือตัวปัญหา และจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนที่นำไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้า การตั้งกำแพงภาษี และปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีซึ่งขัดกับหลักเสรีนิยมและ     บั่นทอนโลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ตามโลกาภิวัตน์ก็เดินหน้าต่อ ชี้ให้เห็นถึงความสามารถของโลกาภิวัตน์ที่จะปรับตัวตราบใดที่ผู้นำทางการเมืองที่เป็นผู้กำหนดนโยบายยอมให้โลกาภิวัตน์เป็นกลไกนำในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ

       แต่ที่น่าห่วงขณะนี้คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน กำลังยกระดับรอยปริในโลกาภิวัตน์ไปสู่ความแตกแยก โดยเฉพาะจากมาตรการคว่ำบาตร (Sanction) ที่รุนแรงและหลายอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยที่สหรัฐกลุ่มประเทศนาโตและประเทศพันธมิตรต้องการโดดเดี่ยวและตัดขาดรัสเซียออกจากระบบเศรษฐกิจการเงินโลก เพื่อกดดันให้รัสเซียยุติสงคราม มาตรการเหล่านี้ได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจการเงินและการค้าโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

       1.มาตรการคว่ำบาตรแสดงให้เห็นถึงอำนาจและอิทธิพลที่กลุ่มประเทศตะวันตกมีในระบบเศรษฐกิจการเงินโลกในปัจจุบัน และความพร้อมที่ประเทศเหล่านี้จะใช้การเปลี่ยนกฎเกณฑ์การค้าและการเงินระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือ เพื่อ "เล่นงาน" ประเทศที่ไม่เป็นมิตร ด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งรวมถึงการยึดทรัพย์หรือห้ามไม่ให้บุคคล บริษัท และรัฐบาล เช่น ธนาคารกลางเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์ทรัพย์สินที่มีอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยหรือมักไม่เกิดขึ้นมาก่อน

       2.มาตรการคว่ำบาตรเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตกับสินทรัพย์ที่มีในต่างประเทศของทุกประเทศ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ถ้าประเทศเลือกที่จะยืนผิดข้างกับผลประโยชน์ของประเทศตะวันตก ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะทำโดยประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม

       3.มาตรการคว่ำบาตรได้สร้างความไม่ปลอดภัยให้กับการทำธุรกิจระหว่างประเทศในอนาคต ที่กฎเกณฑ์การค้าและการเงินในโลกอาจเปลี่ยนได้ด้วยเหตุผลทางการเมือง เป็นความเสี่ยงและความไม่แน่นอนใหม่ที่การทำธุรกิจ การลงทุน และการถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศต้องตระหนัก ชี้ให้เห็นว่าระบบโลกาภิวัตน์อ่อนไหวมากต่อการเมืองระหว่างประเทศ

       จากความไม่แน่นอนนี้ ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคือโลกาภิวัตน์จะเล็กลงและนโยบายเศรษฐกิจระดับประเทศ และการทำธุรกิจของภาคเอกชนต้องปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่มาตรการคว่ำบาตรได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าเกิดขึ้นได้ โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ

       1.โลกาภิวัตน์จะแตกขั้วเป็นอย่างน้อยสองกลุ่ม คือ กลุ่มประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐกลุ่มประเทศนาโต้และพันธมิตร และกลุ่มที่สองที่เป็นเศรษฐกิจคู่ขนานและเป็นทางเลือกใหม่นำโดยจีน รัสเซียและประเทศที่เป็นแนวร่วม ซึ่งประเทศในแต่ละกลุ่มก็จะค้าขายระหว่างกันเป็นหลัก ทำให้ประเทศที่เหลือจะต้องเลือกว่าจะอยู่กลุ่มไหนหรือจะพยายามวางตัวให้เข้าได้กับทั้งสองกลุ่ม

       2.ความสามารถของประเทศที่จะอยู่ได้ด้วยตนเอง ลดหรือไม่พึ่งพาประเทศอื่นในการอยู่รอดทางเศรษฐกิจ (Self-sufficient) จะมีความสำคัญมากขึ้นๆ ในการทำนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องมุ่งไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและความเพียงพอในเรื่องอาหาร พลังงาน สาธารณสุข เทคโนโลยี ความรู้ความสามารถในการผลิต การหารายได้ และคุณภาพของประชากร

       3.ภาคเอกชนต้องปรับตัวกับเศรษฐกิจโลกและระเบียบการค้าโลกที่จะไม่เหมือนเดิม มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากขึ้น เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลง อัตราเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น สินค้ามีให้เลือกจำกัด นวัตกรรมจะลดลง การลงทุนต่างประเทศจะไม่ปลอดภัยเหมือนเดิม 

       ทุกอย่างจะกลับมาให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศทำให้การแข่งขันจะสูงและอ่อนไหวง่ายต่อการผูกขาดจากพลังของผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศ ทำให้ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจลดลง นี่คือเศรษฐกิจโลกใหม่และความเป็นไปได้ที่รออยู่ข้างหน้า คำถามคือกลุ่มประเทศตะวันตกจะยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่ ที่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศจะดึงเศรษฐกิจโลกและโลกาภิวัตน์ให้ถอยหลังกลับไปเป็นสิบๆ ปี

 

วิเคราะห์ Inverted Yield Curve ในสหรัฐฯ ที่มีต่อนัยทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทย

       การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของตลาดการเงินโลกที่แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นของการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์ความไม่สงบในยูเครน ส่งผลทำให้ปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีแนวโน้มทวีความรุนแรงต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วอีกหลายครั้งในปีนี้ 

       ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดหวังในระดับสูง เมื่อตลาดมีความคาดหวังเพิ่มมากขึ้น การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ที่อาจบ่งบอกถึงการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต โดยทั่วไปแล้วเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะมีความชันเป็นบวก นั่นคือ ยิ่งพันธบัตรมีระยะเวลายาวนานขึ้น ผลตอบแทนที่จะได้รับจากพันธบัตรนั้นจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพื่อให้เกิดความสมเหตุสมผลในการถือครองพันธบัตรตามช่วงระยะเวลา

       อย่างไรก็ตามในปัจจุบันรูปร่างเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีความแตกต่างออกไป โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นช่วงระยะเวลาต่ำกว่า 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีความชันสูงมาก ในทางตรงกันข้ามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวในช่วงระยะเวลา 2 – 10 ปี กลับมีอัตราผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกันมาก ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีรูปร่างแบนราบในแนวนอน ลักษณะเส้นกราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเช่นนี้ ก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Inverted Yield Curve ซึ่งรูปแบบเช่นนี้บ่งบอกถึงความคาดหวังของตลาดต่อการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่มีรูปร่างแบนราบก็บ่งบอกถึงความกังวลที่ตลาดมีต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในท้ายที่สุด  ซึ่งภาวะ Inverted Yield Curve ถือเป็นเครื่องมือในการบ่งบอกโอกาสการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ

       โดยทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ Inverted Yield Curve ขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ มักจะเกิดภาวะถดถอยตามมาในระยะเวลา 1.5 – 2 ปี ตามมา โดยประเด็น Inverted Yield Curve กลับมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนอีกครั้ง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ กลับมา Inverted อีกครั้ง สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี และ 10 ปี ถือเป็นการ Inverted ครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2562                                             

       สำหรับประเทศไทยภาวะ Inverted Yield Curve ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องด้วยปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทยที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยระยะสั้นมีทิศทางสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยมีทิศทางเคลื่อนไหวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่าภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้จะมีการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่แนวโน้มการเติบโตอาจไม่แข็งแกร่งดังที่มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า อันเป็นผลมาจากความเสี่ยงจากสถานการณ์สงครามในยูเครนต่อภาคการส่งออกและปัญหาอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนในประเทศ ดังนั้นในช่วงระยะที่ผ่านมา พบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของไทยช่วงที่ต่ำกว่าอายุ 1 ปี ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แสดงให้เห็นถึงการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม

       ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับตัวเหนือระดับ 2.5 % เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งผลกระทบต่อเนื่องของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ภาคธุรกิจที่ระดมทุนผ่านทางตลาดตราสารหนี้มีต้นทุนในการระดมทุนเพิ่มมากขึ้น ส่วนประชาชนที่มีการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ อาจได้รับผลตอบแทนที่ลดลงจากราคาของพันธบัตรที่ลดลงในตลาดตราสารหนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นในปัจจุบันเส้นกราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยจึงมีลักษณะที่แตกต่างจากอัตราผลตอบแทนของสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง การเกิด Inverted Yield Curve ขี้นจึงไม่ได้ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยตรง แต่ก็แสดงให้ถึงความเสี่ยงในอนาคต ที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่รวดเร็วในปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการจ้างงานในสหรัฐฯ และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และงบประมาณ

ฝ่ายยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจองค์กร

แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร. บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 21 เมษายน 2565

665 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย