หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนมีนาคม 2565)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนมีนาคม 2565)

        ข้อมูลเดือนมกราคม 2565 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมา ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีทิศทางที่ทรงตัว จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตยังมีการขยายตัวขึ้นมา เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจของต่างประเทศมีทิศทางดีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ของโควิดที่ยังทรงตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตเริ่มที่จะเร่งการผลิตสินค้าออกมาก ส่งผลให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวลดลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนมีการออมสูงขึ้น เนื่องจากต้องการเก็บเงินไว้เพื่อรองรับกับความผันผวนที่ยังมีอยู่ จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นทำให้ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อออกมา แต่ก็ยังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อจากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

 

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

ตุลาคม

64

พฤศจิกายน

64

ธันวาคม

64

มกราคม

65

ดัชนีราคาผู้บริโภค

101.96

102.25

101.86

103.01

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

97.58

100.91

101.68

103.69

อัตราการใช้กำลังการผลิต

63.12

65.17

65.24

65.91

ดุลการค้า

3,804.13

4,237.52

2,834.65

596.31

ดุลบัญชีเดินสะพัด

-1,058.00

345.80

-1,377.96

-2,204.43

เงินฝาก

16,354.10

16,380.81

16,406.90

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

17,727.43

17,713.38

17,857.59

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ   ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562                  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท

                อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ     ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559

                ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนมกราคม 2565

  • ด้านอุปทาน

        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ม.ค. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ ม.ค. 64

5,224

-57.68%

ณ ม.ค. 65

5,158

-1.26%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

        - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ม.ค. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

2,397

46.47

บ้านเดี่ยว

1,723

33.41

ทาวน์เฮ้าส์

777

15.06

อาคารพาณิชย์

169

3.28

บ้านแฝด

92

1.78

รวม

5,158

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ด้านอุปสงค์

        - การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ม.ค. 64 กับ 65 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ ม.ค. 64

8,729

-27.25%

ณ ม.ค. 65

8,014

-8.19%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

        - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ม.ค. 65 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

3,407

42.51

ทาวน์เฮ้าส์

2,511

31.33

บ้านเดี่ยว

1,412

17.62

บ้านแฝด

406

5.07

อาคารพาณิชย์

278

3.47

รวม

8,014

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 65

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย

6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ย

นโยบาย ธปท.

มกราคม

5.87

0.50

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

หมายเหตุ : 6 ธนาคาร ประกอบด้วย ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา,

ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนมกราคม 2565

                ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 1.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่ อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 8.19% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่ต่อไป ท่ามกลางผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อรายได้ของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยทรงตัวอยู่ที่ 5.87% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยยังทรงตัวอยู่ที่ 0.50% ตามลำดับ

วิเคราะห์วิกฤติยูเครนและรัสเซียกับเศรษฐกิจโลก

ที่มาของภาพ :  https://otb.cachefly.net/wp-content/uploads/2018/11/Ukraine-Russia-Flags-Fists.png

        การเข้าโจมตีประเทศยูเครนโดยรัสเซีย ได้ยกระดับความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียไปสู่สถานการณ์สงครามที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อและส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อความปลอดภัยของประเทศในกลุ่มนาโตและต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะถูกกระทบจากสามวิกฤติพร้อมกัน คือ วิกฤติโรคระบาด วิกฤติเงินเฟ้อ และวิกฤติยูเครน-รัสเซีย ซึ่งการเข้าโจมตีและส่งกำลังเข้ายึดพื้นที่ในประเทศยูเครนโดยรัสเซียไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่รัสเซียเคยปฏิบัติกับประเทศที่อยู่ในสหภาพโซเวียตมาก่อนเพื่อเข้าแทรกแซงทางการเมืองและหรือเพื่อผนวกดินแดง เช่นกรณีจอร์เจียปี 2008 และไครเมียปี 2014 แต่สถานการณ์คราวนี้แตกต่างจากสองเหตุการณ์ก่อนทั้งในแง่ความมุ่งมั่นของรัสเซียที่จะเข้าดำเนินการในยูเครน และความเป็นหนึ่งเดียวกันของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศนาโตที่จะช่วยเหลือยูเครนและตอบโต้การแผ่อิทธิพลของรัสเซียในยุโรปตะวันออก ทำให้สถานการณ์สู้รบในยูเครนจะยืดเยื้อและส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง พิจารณาจากรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. การส่งกองกำลังเข้าโจมตีประเทศยูเครนคราวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเสนอข่าวต่อเนื่องในสื่อทั่วโลกเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังของรัสเซียเข้าประชิดชายแดนยูเครน และคำเตือนจากสหรัฐและกลุ่มประเทศ นาโตถึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อรัสเซียถ้ามีการใช้กำลังทหารเข้าบุกยูเครน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เหนือความคาดหมายคือรัสเซียส่งกำลังเข้าโจมตียูเครนพร้อมกันจากสามทิศ ทั้งทางบกทางเรือทางอากาศ และในหลายพื้นที่ของประเทศยูเครน แสดงถึงความมุ่งมั่นของรัสเซียที่จะเข้าดำเนินการในยูเครนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไม่สนใจ       คำเตือนของสหรัฐและกลุ่มประเทศนาโต ขณะที่นาโตไม่สามารถส่งกำลังทหารเข้าช่วยยูเครนได้ ทำให้ยูเครนจะต้องสู้อย่างโดดเดี่ยวและอาจไม่สามารถทานกำลังทางทหารของรัสเซียได้ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศนาโต ทำให้บริบทการสู้รบจะเปลี่ยนเป็นแบบเฉพาะพื้นที่ในที่สุดและจะยืดเยื้อ

2. สหรัฐกับกลุ่มประเทศนาโตรวมถึงประเทศพันธมิตรนอกนาโตจะร่วมมือกันใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (sanction) เป็นเครื่องมือหลักในการตอบโต้รัสเซียเพื่อให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอจนไม่สามารถสนับสนุนการทำสงครามได้ โดยมุ่งไปที่สถาบันการเงินรัสเซียและอภิมหาเศรษฐีรัสเซียเพื่อไม่ให้ทำธุรกรรมกับโลกภายนอกหรือเคลื่อนย้ายทรัพย์ที่มี แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือมาตรการคว่ำบาตรแบบนี้เคยมีมาก่อนและไม่สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจทางการทหารของรัสเซียได้ ดังนั้นรอบนี้ถ้าจะให้เกิดผล มาตรการคว่ำบาตรที่กลุ่มนาโตใช้จะต้องขยายวงและหนักขึ้น เพื่อโดดเดี่ยวรัสเซียจากระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ทั้งการค้าการลงทุนและการติดต่อเดินทาง ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่จากที่ปัจจุบันระดับการพึ่งพาระหว่างรัสเซียกับประเทศต่างๆ มีสูง คือรัสเซียเป็นเศรษฐกิจอันดับหกของโลกวัดจากอำนาจซื้อของรายได้ (PPP) เป็นผู้ผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบอันดับสาม รวมถึงส่งออกอาหาร ปุ๋ย และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงจะส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน ทำให้คราวนี้มาตรการคว่ำบาตรอาจส่งผลกระทบทั่วโลกไม่เหมือนครั้งก่อนๆ และกลุ่มประเทศนาโตก็ดูเหมือนพร้อมที่จะแบกรับผลกระทบนี้

3. สถานการณ์สู้รบในยูเครนทำให้ภูมิภาคยุโรปที่เคยปลอดสงครามมากว่า 25 ปีจะกลับเข้าสู่สถานการณ์สงครามอีก ซึ่งหมายถึงความไม่ปลอดภัย และการสะสมกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อรับมือสถานการณ์ ซึ่งจะกระทบการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจในภาวะที่โลกมีปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เช่นภาวะโลกร้อน และระบบสาธารณสุขที่การระบาดของโควิดยังไม่จบ จำนวนคนติดเชื้อทั่วโลกยังมีมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อวัน ดังนั้นสถานการณ์สู้รบถ้ายืดเยื้อและขยายวง ก็จะเป็นแรงซ้ำเติมต่อการใช้ทรัพยากรในเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบความเป็นอยู่ของคนจำนวนมากโดยเฉพาะในยุโรปและรัสเซีย ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เดาได้ว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น

        ในแง่ผลต่อเศรษฐกิจ วิกฤติยูเครน-รัสเซียในรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจโลกต้องเจอกับผลกระทบจากสามวิกฤติพร้อมกัน เป็นปรากฏการณ์ที่เศรษฐกิจโลกไม่เคยเจอมาก่อน นั้นคือ วิกฤติโรคระบาดที่ยังไม่จบ วิกฤติเงินเฟ้อที่กำลังเป็นขาขึ้น กระทบความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และวิกฤติยูเครน-รัสเซียที่สถานการณ์สู้รบและมาตรการคว่ำบาตรจะดิสรัปห่วงโซ่การผลิตทำให้เศรษฐกิจโลกจะกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติยากขึ้น ที่สำคัญสามวิกฤตินี้ทับซ้อนกัน แยกกันไม่ได้ เพราะอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกเดียวกัน ทำให้ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติหนึ่งจะถูกขยายผล (amplify) ให้ยิ่งรุนแรงขึ้นด้วยพลวัตของวิกฤติอื่นที่มีอยู่

        ในระยะสั้น ผลกระทบสำคัญของวิกฤติยูเครน-รัสเซีย คือ เงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้นในเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่จะมีมากขึ้นตามความไม่แน่นอนที่ได้เพิ่มขึ้นจากผลของสงคราม กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ผลคือเศรษฐกิจโลกจะมีข้อจำกัดมากที่จะฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดรวมถึงในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะล่าช้าออกไป ที่ต้องตระหนักคือ สถานการณ์สู้รบ มาตรการคว่ำบาตร และแรงตอบโต้ที่จะมาจากรัสเซียต่อมาตรการคว่ำบาตร จะทำให้การผลิตในระบบเศรษฐกิจโลกถูกกระทบ เกิดเป็นความขาดแคลนและการเพิ่มขึ้นของราคา โดยเฉพาะราคาพลังงานที่จะดึงให้ราคาสินค้าอื่นๆ ปรับสูงขึ้นตาม ซึ่งสำคัญสุดคือราคาอาหาร ดังนั้นปีนี้จะเห็นราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นทั่วโลก กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนและกดดันให้ค่าจ้างแรงงานต้องปรับขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้         เงินเฟ้อยิ่งเร่งตัวมากขึ้นอีก เพื่อแก้ปัญหานี้ธนาคารกลางคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดการใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะกับการผลิตที่ลดลงเพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ผลคือเศรษฐกิจโลกจะชะลอ และโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะไหลเข้าสู่ภาวะ stagflation คือ เศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง และปัญหานี้จะไม่คลี่คลายจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลง นี่คือความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้า สำหรับประเทศไทยซึ่งนำเข้าน้ำมันมาก เงินเฟ้อก็จะเป็นปัญหาใหญ่ กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ต้องเตรียมรับมือทั้งจากเงินเฟ้อ ความขาดแคลน และความไม่ปลอดภัยในเศรษฐกิจโลกที่จะมีมากขึ้นตามมาอีกด้วย

วิเคราะห์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการปรับโครงสร้างการวิจัยนวัตกรรม

        เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาภาคท่องเที่ยวที่มากเกินไป ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ความท้าทายเชิงโครงสร้าง ในเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ทำให้กำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง รวมไปถึงความน่าดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลง ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะเติบโตเหมือนในอดีต เพื่อฟื้นคืนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม เพื่อยกระดับและเพิ่มผลิตภาพในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การวิจัยและพัฒนาจะช่วยยกระดับศักยภาพของประเทศได้ จำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในระดับที่ต่ำเกินไป โดยในปี พ.ศ. 2561 มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ร้อยละ 1.11 ขณะที่จากข้อมูลของ UNESCO พบว่ากลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบนเช่นเดียวกับประเทศไทย และประเทศที่มีรายได้ระดับสูงมีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 1.41 และ 2.43 ตามลำดับ 

        นอกจากนี้ในด้านการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐในแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา แม้ว่างบประมาณดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.7 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็น 2.6 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แต่ล่าสุดงบประมาณถูกปรับลดลงเหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการหดตัวกว่าร้อยละ 43 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 การที่งบวิจัยและพัฒนาถูกปรับลดลงมากเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อรับมือกับโควิด-19 แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนว่าผู้กำหนดนโยบายไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนาเท่าที่ควร ซึ่งอาจเป็นเพราะที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนาก็ยังไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมได้มากพอ การลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐที่น้อยเกินไปยังสะท้อนได้จากสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐต่อภาคเอกชน จากเดิมอยู่ที่ระดับ 28:72 ในปี พ.ศ. 2558 ลดเหลือเพียง 21:79 ในปี พ.ศ. 2562 

        ทั้งนี้บทบาทของภาครัฐในการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่น้อยเกินไปเช่นนี้ ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจที่ภาครัฐมีบทบาทหลักในการลงทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น เนื่องจากการลงทุนวิจัยและพัฒนามีต้นทุนสูง และมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ประสบความสำเร็จ การที่ภาครัฐไม่ได้สนับสนุนเงินทุนที่เพียงพอแก่ภาคเอกชนเพื่อชดเชยกับความเสี่ยง ทำให้ภาคเอกชนขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนวิจัยและพัฒนา นอกจากเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐที่น้อยเกินไปแล้ว ความเชื่อมโยงของการลงทุนวิจัยและพัฒนาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนยังมีน้อยมาก รายงานการสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยระหว่างปี 2560-2562 พบว่าเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐเกือบทั้งหมด ยังจัดสรรให้แก่หน่วยงานวิจัยของรัฐ ขณะที่การวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐมีเพียงร้อยละ 0.48-0.75 ของมูลค่าการลงทุนวิจัยภาคเอกชน 

        การที่ภาครัฐและภาคเอกชนมีความเชื่อมโยงกันน้อย ส่งผลให้เงินลงทุนวิจัยของภาครัฐไม่มีแรงมากพอที่จะกระตุ้นภาคเอกชนให้ลงทุนวิจัยและพัฒนามากขึ้น ดังนั้นจึงยากที่ประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่ร้อยละ 2 ของ GDP หรือประมาณ 3.7 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2570 ตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง ในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ภาครัฐมีบทบาทหลักในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสามารถเรียนรู้บทเรียนและประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทยได้ ดังนี้

        - สหราชอาณาจักร กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศที่ร้อยละ 2.4 ของ GDP ภายในปี พ.ศ. 2570 โครงการหนึ่งที่นำมาใช้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน ได้แก่ โครงการ Catapult Network ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างหน่วยงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม และงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้จริงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การผลิตมูลค่าสูง การบำบัดด้วยเซลล์และยีน (Cell and Gene Therapy) โครงการดังกล่าวสามารถกระตุ้นการลงทุนวิจัยและพัฒนาได้มากขึ้น จากเงินลงทุนเริ่มต้นโดยรัฐในโครงการ Catapult Network ในปี พ.ศ. 2562-2563 ราว 236 ล้านปอนด์ สามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนได้เพิ่มกว่า 2 เท่า หรือราว 508 ล้านปอนด์ 

        - สหรัฐอเมริกา มีกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้หน่วยงานวิจัยของรัฐต้องแบ่งงบประมาณวิจัยและพัฒนาส่วนหนึ่งในแต่ละปี เพื่อนำไปใช้ในโครงการ Small Business Innovation Research (SBIR) ซึ่งให้ทุนสนับสนุนแก่ SMEs ในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐและนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ในปัจจุบันเงินสนับสนุนโครงการ SBIR อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของงบประมาณวิจัยและพัฒนาของภาครัฐทั้งหมด หรือราว 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  ตัวอย่างบริษัทที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวและประสบความสำเร็จในระดับโลก เช่น บริษัท Qualcomm ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปประมวลผลรายใหญ่ของโลก บริษัท Illumina ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม บริษัท Symantec ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านความมั่นคงปลอดภัยไอที และ บริษัท EnChroma ซึ่งเป็นผู้ผลิตแว่นตาสำหรับผู้ที่เป็นตาบอดสี

        เพื่อให้นวัตกรรมเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ภาครัฐควรมีบทบาทนำในการเร่งลงทุนวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น โดยกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนา และสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชน โดยเฉพาะการให้ทุนสนับสนุนสร้างนวัตกรรมแก่ SMEs เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในระยะยาว แนวทางการสนับสนุนอาจดำเนินการผ่านหน่วยงานให้ทุนที่มีอยู่ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) รวมทั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iTAP) หรือการจัดตั้งหน่วยงานให้ทุนใหม่ที่มุ่งให้ทุนแก่เอกชนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ที่มีความคล่องตัวสูง ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว มุ่งให้ทุนงานวิจัยที่มีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนสูง มีเป้าหมายที่ชัดเจนและสามารถตอบโจทย์ ท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมได้จริง ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตนั่นเอง

กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และงบประมาณ

ฝ่ายยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจองค์กร

แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร. บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

 

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 24 มีนาคม 2565

942 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย