หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนพฤษภาคม 2564)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนพฤษภาคม 2564)

         ข้อมูลเดือนมีนาคม 2564 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำมันกลับมามีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมา ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัว จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตมีแนวโน้มในการขยายตัว เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังมีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัวอยู่ ทำให้ในเดือนนี้คำสั่งซื้อมีการปรับตัวได้เพิ่มขึ้นตามภาวะของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่มากขึ้นมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากประชาชนได้เริ่มมีการออมเพิ่มขึ้น เพราะการลงทุนค่อนข้างมีความผันผวน จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารได้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปช่วยในการเพิ่มเสริมสภาพคล่อง จึงส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นมาได้ แต่ก็ยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

เดือน / รายละเอียด

ธันวาคม 63

มกราคม 64

กุมภาพันธ์ 64

มีนาคม 64

ดัชนีราคาผู้บริโภค

99.70

99.79

98.88

99.11

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

96.04

102.11

99.26

107.61

อัตราการใช้กำลังการผลิต

63.16

66.60

65.06

69.59

ดุลการค้า

2,834.49

1,893.71

2,136.61

3,358.37

ดุลบัญชีเดินสะพัด

-828.94

-673.34

-1,071.44

-806.16

เงินฝาก

15,721.73

15,715.25

15,738.10

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

16,810.96

17,019.02

17,161.84

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562             เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท

               อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็นร้อยละ   ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559

               ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนมีนาคม 2564

  • ด้านอุปทาน
  • ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มี.ค. 63 กับ 64 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ มี.ค. 63

28,528

-12.30%

ณ มี.ค. 64

22,338

-21.70%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ มี.ค. 64 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

9,956

44.57

บ้านเดี่ยว

8,765

39.24

ทาวน์เฮ้าส์

2,225

9.96

บ้านแฝด

841

3.76

อาคารพาณิชย์

551

2.47

รวม

22,338

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ด้านอุปสงค์
  • การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มี.ค. 63 กับ 64 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน (ยูนิต)

การเติบโต (%)

ณ มี.ค. 63

45,684

-4.38%

ณ มี.ค. 64

38,723

-15.24%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ มี.ค. 64 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน (ยูนิต)

สัดส่วน (%)

อาคารชุด

16,911

43.67

ทาวน์เฮ้าส์

11,846

30.59

บ้านเดี่ยว

6,404

16.54

บ้านแฝด

1,882

4.86

อาคารพาณิชย์

1,680

4.34

รวม

38,723

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่บุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
        - สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ณ ไตรมาส 1 ปี 64 มีจำนวนทั้งสิ้น 139,387 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.83% จาก ณ ไตรมาส 1 ปี 63 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 138,238 ล้านบาท
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
        - สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไป ณ ไตรมาส 1 ปี 64 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,311,547 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.01% จาก ณ ไตรมาส 1 ปี 63 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 4,028,974 ล้านบาท
     
  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 64

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย

6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ย

นโยบาย ธปท.

มกราคม

5.38

0.50

กุมภาพันธ์-มีนาคม

5.34

0.50

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

หมายเหตุ : 6 ธนาคาร ประกอบด้วย ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนมีนาคม 2564

         ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 21.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปได้อย่างช้าๆ ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่มาก อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กลับมาระลอกใหม่ จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 15.24% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่ต่อไป ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวด เนื่องจากทิศทางของหนี้ด้อยคุณภาพมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจมีการหดตัวลงไป ส่งผลทำให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.83% ณ ไตรมาส 1 ปี 64  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยทรงตัวอยู่ที่ 5.34% และ 0.50% ตามลำดับ

วิเคราะห์แนวทางในการตั้งรับเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวได้ช้า*

ที่มาของภาพ :  https://www.theyeshivaworld.com/wp-content/uploads/2014/02/slow-economy.jpg

         เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังฟื้นตัวท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยล่าสุดมีแนวโน้มรุนแรงทำให้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด จากผลกระทบของการระบาดและความไม่เพียงพอของการฉีดวัคซีนที่ทำให้ประเทศไม่มีแนวป้องกันสำคัญด้านสาธารณสุข คำถามคือถ้าเป็นเช่นนี้ จะตั้งรับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอย่างไรในแง่นโยบาย

         เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังฟื้นตัว นำโดยประเทศอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มกลับเป็นปกติ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และการกลับมาใช้จ่ายของครัวเรือนโดยใช้เงินที่เก็บออมไว้ ทั้งหมดส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวและหลายประเทศรวมถึงไทยก็ได้ประโยชน์จากการส่งออก ที่สำคัญการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากำลังกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลไปถึงการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังถ้าการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเข้มแข็ง กดดันให้เงินทุนระหว่างประเทศไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไทยกลับสู่สหรัฐอเมริกา ขณะที่ต้นทุนการเงินในระบบเศรษฐกิจโลกจะปรับสูงขึ้น ทั้ง 2 เรื่องเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไทย รวมถึงสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจจากความผันผวนของเงินทุนระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้น

         สำหรับเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก ไอเอ็มเอฟได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของประเทศหลัก อย่าง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลียขึ้น สะท้อนความเข้มแข็งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการคืนสู่สภาพปกติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากผลของการฉีดวัคซีนที่ได้ลดความรุนแรงของการระบาดลง ตรงข้ามกับสถานการณ์ของประเทศในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ที่ไอเอ็มเอฟลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ของทั้งกลุ่มลงเป็นร้อยละ 4.9 เพราะการระบาดของโควิดที่กลับมารุนแรง ยกเว้นในเวียดนาม และจากที่ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนทำได้ช้าเทียบกับประเทศอื่นๆ

         กรณีของไทย ก่อนการระบาดของโควิดรอบปัจจุบันเดือนมีนาคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขับเคลื่อนโดยการขยายตัวของการส่งออกและการบริโภคในประเทศที่ได้ประโยชน์จากมาตรการของรัฐ แต่โมเมนตัมการฟื้นตัวกลับมาชะงักงันเมื่อเกิดการระบาดรอบสาม ซึ่งเป็นการระบาดระหว่างคนในประเทศด้วยเชื้อที่แพร่กระจายได้เร็ว และเทียบกับปีที่แล้ว ประเทศไทยก็การ์ดตกทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้การระบาดกระจายตัวเร็ว กระทบความเชื่อมั่นและความต้องการใช้จ่ายของประชาชน สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่ว่าการระบาดจะยืดเยื้อแค่ไหน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมาตรการภาครัฐที่ออกมาควบคุมการระบาดว่าเข้มข้นแค่ไหน เท่าที่หลายฝ่ายประเมินถึงขณะนี้ มาตรการภาครัฐออกมาแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่เข้มข้น ไม่มีล็อกดาวน์ ไม่มีเคอร์ฟิว มีแต่การปิดสถานบริการและปรับเวลาเปิดปิดร้านอาหารและห้าง ทำให้การควบคุมสถานการณ์โควิดรอบนี้จะใช้เวลา ไม่จบเร็ว ทำให้ผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะลากยาว นักวิเคราะห์หลายสำนักได้เริ่มปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ลง และตลาดหุ้นก็ตอบรับความเป็นไปได้นี้ด้วยราคาหุ้นที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้จะตั้งรับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอย่างไร ซึ่งมี 6 ความเห็นในเรื่องนี้ โดยพิจารณาจากประสบการณ์ประเทศไทยในการแก้โควิดในปีที่ผ่านมาว่า เราเรียนรู้อะไรบ้าง บวกกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ว่าอะไรควรเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

         1. เศรษฐกิจจะฟื้นตัวไม่ได้ถ้าการระบาดของโควิดยังไม่นิ่ง หมายถึงการหาจุดสมดุลที่จะแก้การระบาดพร้อมกับประคับประคองเศรษฐกิจนั้นทำได้ยาก ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ดังนั้นการทำนโยบายต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการลดการระบาดเป็นอันดับแรก ทุ่มทรัพยากรเต็มที่ด้วยมาตรการที่เข้มแข็งแม้จำเป็นต้องล็อกดาวน์และมีผลต่อเศรษฐกิจ แต่ก็จะเป็นผลระยะสั้น เทียบกับถ้าการระบาดยืดเยื้อ เพราะมาตรการป้องกันหรือควบคุมอ่อนเกินไป ผลต่อเศรษฐกิจจะลากยาวและมีมาก

         2. เมื่อการระบาดลดลง แนวคิดที่จะสร้างประเทศให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ควบคุมการระบาดได้ดีเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเหมือนที่ทำได้ปีที่แล้วช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน ที่ไม่มีการระบาดในประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้อีกแล้ว เพราะความหย่อนยานของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมการเข้าออกข้ามพรมแดนเพื่อให้ประเทศปลอดการระบาด เห็นได้จากการระบาดในรอบสองที่เชื้อเข้ามาจากเมียนมา และรอบสามที่เชื้อเข้ามาจากกัมพูชา ดังนั้นจะไม่สามารถสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนได้ว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ควบคุมการระบาดได้ แม้อัตราการฉีดวัคซีนจะต่ำ ต่างกับเวียดนามที่ทำได้เพราะการควบคุมการเข้าออกทางชายแดนมีความเข้มแข็งกว่าไทยมาก ดังนั้นทางออกทางเดียวที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวในการฟื้นเศรษฐกิจ คือ การฉีดวัคซีนและระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง

         3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญจากนี้ไปคือ การฉีดวัคซีนที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนให้มีเพียงพอและสร้างสมรรถภาพให้กับระบบสาธารณสุขในการฉีดวัคซีนที่จะทำได้เร็วและทั่วถึง รวมถึงการดูแลรักษาผู้ป่วย วิธีที่จะทำได้เร็วคือ การเปิดเสรีในการนำเข้าวัคซีนที่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และใช้กลไกตลาดในการกระจายวัคซีน ที่ผ่านมาการผูกขาดการฉีดวัคซีนโดยรัฐสร้างปัญหาทั้งในแง่ประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความเสี่ยงที่จะมีการรั่วไหลคือ อภิสิทธิ์ชนได้รับวัคซีนก่อนเวลาที่เปิดให้ประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะช่องว่างของเวลาจากนี้ไปถึงเดือนมิถุนายน ก่อนที่วัคซีนในประเทศจะผลิตได้จะสำคัญสุด และอาจเป็นช่วงเวลาที่การระบาดจะเร่งตัวมากสุด

         4. มาตรการเยียวยาอย่างที่ได้ทำไปมีเหตุผล แต่มีต้นทุนสูงในแง่การใช้ทรัพยากร เพราะเป็นการใช้เงินกู้ที่ต้องชำระคืน ขณะที่ผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีไม่มาก เพราะเป็นการเปลี่ยนมือคนใช้เงินจากคนที่ออมและให้รัฐบาลกู้ มาเป็นคนที่ได้รับแจกเงิน ในทางเศรษฐศาสตร์เป็นการใช้จ่ายภาครัฐที่มีค่าตัวทวีคูณต่ำ เพราะชดเชยด้วยการกู้ยืมในประเทศที่ลดการใช้จ่ายส่วนหนึ่งของภาคเอกชน เป็นมาตรการที่ควรทำชั่วคราวกรณีฉุกเฉิน ไม่ใช่ทำต่อเนื่อง ดังนั้นจากนี้ไปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรพิจารณาลดขนาดการเยียวยาลง ให้เฉพาะกับผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจริงๆ ไม่เปิดกว้าง เพราะจะเกิดปัญหาวินัยทางศีลธรรม คือมีคนพร้อมที่จะไม่ทำงาน เพราะเลือกรอการแจกเงินจากภาครัฐ

         5. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญกับการสร้างงานให้คนที่ตกงานและต้องการทำงานมีงานทำ และเมื่อทำงานแล้วก็ได้เงินจากภาครัฐ ไม่ใช่แจกเงิน งานที่สร้างขึ้นมาถ้าออกแบบได้ดีสามารถให้ผลต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หรือช่วยแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจหรือสังคมมี นอกจากนี้การมีระบบให้คนตกงานสามารถใช้เวลาว่างปรับทักษะแรงงานของตน สร้างความสามารถใหม่ในการทำงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิตอื่นๆ ที่กำลังขยายตัว เช่น อุตสาหกรรม และช่วยย้ายแรงงานออกจากสาขาเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยจากผลของโควิด เช่น ท่องเที่ยว แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่สำคัญมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ในวงกว้าง

         6. บทบาทนำที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ประเทศกลับมาแข่งขันได้และขยายตัวต่อไปได้ ต้องมาจากภาคเอกชน ไม่ใช่ภาครัฐ เพราะภาคเอกชนมีทรัพยากรและความรู้ ขณะที่ภาครัฐภาระหนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก จึงควรให้ความสำคัญต่อการรักษาวินัยทางการคลังและการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้ฐานะทางการคลังของประเทศเกิดปัญหา ตรงกันข้ามภาครัฐต้องใช้เวลาที่มีแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ เปิดเสรีให้ภาคธุรกิจมีการแข่งขัน และสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจและคนรุ่นใหม่สร้างนวัตกรรมและลงทุน สิ่งเหล่านี้จะสำคัญมากต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ

วิเคราะห์แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงิน

         ปกติโดยทั่วไปเมื่อพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจ มักจะคิดถึงนโยบายการคลัง อันได้แก่การเพิ่มหรือลดภาษี และ/หรือการใช้จ่ายของรัฐเป็นหลัก ในขณะที่หากคิดถึงนโยบายการเงิน ก็มักจะคิดถึงการเพิ่มหรือลดดอกเบี้ย โดยหากเศรษฐกิจร้อนแรง ธนาคารกลางก็จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น แต่หากเศรษฐกิจซบเซา ทางแก้หนึ่งคือการลดดอกเบี้ย (ซึ่งในทางปฏิบัติคือการเพิ่มปริมาณเงินในระบบจนดอกเบี้ยที่เป็นราคาของเงินลดลง) ทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง ผู้คนก็อยากจะกู้ยืมเพื่อจับจ่ายและลงทุนมากขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่สิ่งที่จะชี้วัดปริมาณเงินได้ในทุกสถานการณ์ ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ผู้คนขาดความเชื่อมั่น ต่อให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยอย่างไรก็ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะผู้คนไม่มั่นใจในอนาคต จึงไม่กู้เงิน ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่มั่นใจว่าสินเชื่อที่ปล่อยไปจะกลายเป็นหนี้สูญ (NPL) หรือไม่

          หากกล่าวในศัพท์เศรษฐศาสตร์ กรณีนั้นแปลว่าอัตราการหมุนของเงิน (Money velocity) ลดลง หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ เงินไม่หมุน ซึ่งสาเหตุหลักคือระบบธนาคารไม่ดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งทางแก้ของกระบวนการดังกล่าวคือ การเพิ่มปริมาณเงินไปอย่างมหาศาล อันเป็นที่มาของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) โดยมีตรรกะที่ว่าการอัดปริมาณเงินไปเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้การหมุนของเงินลดลง ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปได้

          ในปัจจุบันมีแบบจำลองนโยบายการเงินใหม่ที่ได้รวมถึงเครื่องมือทางการเงินยุคใหม่ เช่น การให้ Soft loan การพักชำระหนี้ การแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงการควบคุมเส้นผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) เข้าร่วมกับเครื่องมือหลักของนโยบายการเงิน อันได้แก่ การลดดอกเบี้ย ซึ่งผลการวิจัยพบว่าเครื่องมือใหม่ๆ มีส่วนช่วยทำให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเครื่องมือหลักในการทำนโยบายการเงิน คือ การเพิ่มหรือลดปริมาณเงินเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสภาวะที่อัตราการหมุนของเงินลดลงอย่างต่อเนื่องตามสภาวะเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน หรือหากกล่าวอย่างง่ายคือ เศรษฐกิจแย่ เงินไม่หมุน ทางแก้คือต้องเพิ่มปริมาณเงินขึ้นมาก (กว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง) ซึ่งเมื่อทำเช่นนั้น เงินบาทจะอ่อนค่าลง รายได้จากการส่งออกรูปเงินบาทจะเพิ่มขึ้น ปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ผู้ส่งออกมีรายได้มากขึ้น จ่ายเงินเดือนพนักงานมากขึ้น ค่าจ้างเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อเริ่มขึ้น เศรษฐกิจเริ่มผลิตเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น พนักงานบริษัทส่งออกก็นำเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น ผู้ผลิตในประเทศขายของได้มากขึ้น ก็จะขึ้นเงินเดือนพนักงานง่ายขึ้น และเริ่มลงทุนมากขึ้น

          หากพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ของไทยเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า NEER ของไทยแข็งกว่า 24% ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2015 เป็นต้นมา นั่นแปลว่าไทยเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับคู่ค้าคู่แข่งของไทยกว่า 24% ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา นั่นแปลว่า ไทยเล่นตามกติกา แต่คู่ค้าคู่แข่งของไทย ไม่ได้เล่นอย่างที่ไทยเล่น ค่าเงินเขาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับไทย ก็จะทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ ถ้าไทยไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญ

​​​​​อย่างไรก็ตามในระยะหลังได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการทำนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้

         (1) การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดปริมาณการออกพันธบัตร ธปท. ที่มีอยู่ในระบบกว่า 5.5 แสนล้านบาทนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งชดเชยกับการที่กระทรวงการคลังต้องออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นกว่า 5.5แสนล้านบาทเช่นเดียวกัน ทำให้สภาพคล่องในระบบไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยไม่ผันผวนมากนัก

         (2) ปริมาณทุนสำรองของไทยที่ลดลงกว่า 6.1 พันล้านดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า ธปท. เข้าช่วยแทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงอย่างมีเสถียรภาพ

          กล่าวโดยสรุปเชื่อว่า ธปท. ยุคปัจจุบันเริ่มมีการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และทำให้เศรษฐกิจและตลาดการเงินมีเสถียรภาพขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกในยุคปัจจุบัน อันจะเป็นการช่วยฟื้นฟูให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเกิดการขยายตัวได้ต่อไปนั่นเอง

 

กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และงบประมาณ

ฝ่ายยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจองค์กร

 

แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 21 พฤษภาคม 2564

410 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย