หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนมกราคม 2564)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนมกราคม 2564)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนมกราคม 2564)

                ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2563 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลงเล็กน้อย เพราะราคาน้ำมันกลับมามีทิศทางที่ปรับตัวลดลงไป ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัว จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวน้อยลงมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตยังมีแนวโน้มในการปรับตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากมีการผ่อนปรนมากขึ้นจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ในเดือนนี้คำสั่งซื้อยังมีการปรับตัวได้มากขึ้นตามภาวะของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ปรับตัวได้เพิ่มสูงขึ้นมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวลดลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่เงินให้สินเชื่อมีค่าน้อยลง เนื่องจากประชาชนได้กลับมามีการออมเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนยังมีความผันผวนอยู่ จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าลดลง เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้นธนาคารได้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปมากแล้วเพื่อเสริมสภาพคล่อง จึงส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวที่น้อยลงมา รวมทั้งยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

 
ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

สิงหาคม 63

กันยายน 63

ตุลาคม 63

พฤศจิกายน 63
ดัชนีราคาผู้บริโภค

102.29

102.18

102.23

102.19
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

91.25

95.40

96.14

98.25
อัตราการใช้กำลังการผลิต

60.86

63.46

63.47

64.80
ดุลการค้า

5,377.83

3,204.56

3,493.53

1,903.40
ดุลบัญชีเดินสะพัด

3,121.96

1,314.09

1,000.26

-1,475.99
เงินฝาก

15,562.30

15,400.43

15,424.05

n.a.
เงินให้สินเชื่อ

16,609.92

16,397.14

16,310.54

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนพฤศจิกายน 2563
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ พ.ย. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ พ.ย. 62

109,000

-20.16%

ณ พ.ย. 63

98,518 

-9.62%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ พ.ย. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

52,674

53.47

บ้านเดี่ยว

27,621

28.04

ทาวน์เฮ้าส์

12,950

13.14

อาคารพาณิชย์

2,985

3.03

บ้านแฝด

2,288

2.32

รวม

98,518

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        - การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ พ.ย. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ พ.ย. 62

183,615

0.03%

ณ พ.ย. 63

173,018

-5.77%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
 

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ต.ค. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

85,170

49.23

ทาวน์เฮ้าส์

49,657

28.70

บ้านเดี่ยว

24,763

14.31

บ้านแฝด

6,910

3.99

อาคารพาณิชย์

6,518

3.77

รวม

173,018

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 63

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม

5.95

1.25

กุมภาพันธ์ 5.93 1.00
มีนาคม 5.83 0.75
เมษายน 5.50 0.75
พฤษภาคม 5.28 0.50
มิถุนายน-กันยายน 5.24 0.50
ตุลาคม 5.32 0.50

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนพฤศจิกายน 2563
 

         ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 9.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปได้อย่างช้าๆ ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่มาก จึงทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่ยังชะลอการพัฒนาโครงการออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 5.77% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่ต่อไป ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวด เนื่องจากทิศทางของหนี้ด้อยคุณภาพมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยทรงตัวอยู่ที่ 5.32% และ 0.50% ตามลำดับ

วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยกับการติดเชื้อรอบใหม่*

                  
 
        หากสถานการณ์ระบาดลุกลามขยายวงกว้างไป จนทำให้ทางการไทยประกาศปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับใกล้เคียงกับเดือน เม.ย. สถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนจะเป็นเช่นไร จึงได้ทำการศึกษาประสบการณ์การแพร่ระบาดระลอก 2 ในต่างประเทศ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศเหล่านั้น เพื่อเป็นนัยยะต่อประเทศไทย จากงานวิจัยพบว่าหากไม่นับจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วง ม.ค. - ก.พ. ในจีน อาจกล่าวได้ว่าการแพร่ระบาดในประเทศใหญ่ๆ มี 3 รอบ ดังนี้
  • โดยรอบแรกประมาณเดือน เม.ย. ที่จำนวนผู้ป่วยใหม่ทั้งในระดับโลก สหรัฐ เอเชีย รวมถึงไทย เพิ่มสูงขึ้นมาก (ยกเว้นในเกาหลีใต้ที่ระบาดมากช่วงเดือน มี.ค.) โดยจำนวนผู้ป่วยใหม่ในรอบ 7 วัน เพิ่มสูงขึ้นถึง 50-70% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดเป็นส่วนใหญ่ หลังจากนั้นจำนวนผู้ป่วยใหม่ค่อยๆ ปรับลดลง อันเป็นผลจากการปิดเมือง (Lockdown) ที่เข้มงวด
  • สำหรับการระบาดรอบ 2 อยู่ในช่วงเดือน ส.ค. ผลจากการกลับมาเปิดเมืองในช่วง พ.ค. - มิ.ย. อย่างไรก็ตามแม้ผู้ติดเชื้อใหม่จะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ติดเชื้อโดยรวมจะไม่สูงนัก คือประมาณ 10-20% (แต่เป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นในกรณีของสหรัฐ เนื่องจากเริ่มแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ แทนที่จะเป็นในเมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ค เช่นในรอบแรก) แต่ในไทย ไม่มีการระบาดรอบ 2 ในเดือน ส.ค. ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการ COVID ของไทยที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
  • ทั้งนี้ในปัจจุบันนี้หลายประเทศเริ่มมีการแพร่ระบาดรอบ 3 แล้วในเดือน ธ.ค. โดยอุณหภูมิที่หนาวเย็นขึ้นและการเปิดเมืองในช่วงก่อนหน้าเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ในไทยเป็นการระบาดรอบที่สอง
 
ในส่วนผลต่อเศรษฐกิจนั้น ในการระบาดรอบแรก การทำ Social Distancing และการปิดเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากประชาชนไม่ทันเตรียมตัว และทางการต้องปรับตัวก่อนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวมาก โดยในเดือนที่เกิดการระบาดรอบแรกหรือ 1 เดือนหลังจากนั้น ตัวเลขการค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเติบโตของ GDP หดตัวรุนแรง แต่เริ่มฟื้นขึ้นหลังจากนั้น
 
ขณะที่การระบาดรอบที่สอง ภาครัฐได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเอกชนเริ่มเตรียมการรับมือในระดับหนึ่ง ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่สูงนักเมื่อเทียบกับรอบแรก โดยเฉลี่ยอัตราการหดตัวในรอบที่สองจะเป็นครึ่งหนึ่งของรอบแรก ยกเว้นในสหรัฐและในเกาหลีใต้ที่ยอดค้าปลีกยังเป็นบวก เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนยังมีกำลังซื้อ
 
จึงเป็นไปได้ว่าในการระบาดรอบใหม่ของไทยครั้งนี้ หากรัฐบาลประกาศมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดขึ้นใกล้เคียงกับครั้งที่แล้ว รัฐบาลน่าจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2020 ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปี 2021 หดตัวเท่ากับที่เคยคาดที่ประมาณ -8% และ -1% ตามลำดับ และทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2020-21 หดตัวที่ประมาณ -7% และฟื้นตัวที่ +3% ตามลำดับ
 
ในส่วนของทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น ในช่วงที่เหลือของปี 2020 การลงทุนมีการชะลอตัวลงแต่ไม่รุนแรงนัก โดยจากการศึกษาพฤติกรรมของตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีการระบาดรอบที่สอง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา พบว่าสัปดาห์ให้หลังจากเกิดการระบาดรอบที่สองตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลงเฉลี่ย 2.4% ในสัปดาห์แรก และค่อยๆ ฟื้นตัวในสัปดาห์ต่อมา ในขณะที่หลังจากเกิดการระบาดรอบสองครบ 1 เดือน ตลาดหุ้นทั้งสามสามารถปรับตัวขึ้นมาสูงกว่าจุดเกิดการระบาดได้ โดยเป็นผลทั้งจากมาตรการกระตุ้นและการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้การระบาดลดลง
 
ภาพดังกล่าวทำให้มองว่าแม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มว่าจะปรับลดลงในสัปดาห์แรก แต่ในระยะต่อไปดัชนีจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากในภาพรวมปัจจัยด้านการลงทุนในระดับโลกระยะสั้นยังเป็นบวก ทั้งภาพการคิดค้นวัคซีน พัฒนาการการเมืองในสหรัฐที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ รวมถึงการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีไบเดน
 
ขณะที่ในส่วนของไทย หากภาครัฐมีมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวด ก็น่าจะมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากมาตรการปัจจุบัน ทั้งช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง และการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภค ที่ทำได้รวดเร็วทั้งสิ้น
ในส่วนของรายอุตสาหกรรม มองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนภายในประเทศ เช่น กลุ่มโรงแรม ศูนย์การค้า กลุ่มค้าปลีก กลุ่มสายการบิน กลุ่มขนส่งทางบกและ ทางราง และกลุ่มธนาคารอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างแรง เมื่อเทียบกับกลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสื่อสาร ที่อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงรุนแรงมากนัก หากการปิดเมืองไม่ได้เกิดขึ้นอย่างยาวนาน
 
ทั้งนี้ยังคงมุมมองเดิมที่ว่าสถานการณ์การลงทุนโลกรวมและในไทยเองจะยังไปได้ดีในช่วงไตรมาสแรกจนถึงครึ่งแรกของปี 2021 จากปัจจัยบวกทั้งในระดับโลกและมาตรการกระตุ้นของไทย แต่ในครึ่งปีหลังเป็นไปได้ที่ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การเมืองในสหรัฐ มาตรการการคลังในยุโรปที่มีปัญหา การแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า รวมถึงปัญหาในประเทศ เช่น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก และภาคส่งออกและท่องเที่ยวที่ยังหดตัวจะกดดัน                ผลประกอบการและการลงทุนโดยรวมในระยะต่อไป ส่งผลทำให้ COVID รอบสองไม่กระทบเศรษฐกิจและการลงทุนมากในระยะใกล้ แต่ในระยะไกลแล้ว ปัจจัยเสี่ยงระดับโลกต่างหาก ที่นักลงทุนไทยยังต้องจับตาและติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
 
 
วิเคราะห์แนวทางการปฏิรูปเชิงโครงสร้างให้ประสบความสำเร็จ

          ทุกคนทราบดีว่าประเทศไทยต้องการการปฏิรูป (reform) ในหลายด้าน แต่ก็พบว่าการปฏิรูปเคลื่อนที่ไปได้อย่างเชื่องช้า แม้จะมีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อปฏิรูปหลายชุด ประเทศไทยจึงอาจไม่ได้ขาดแคลนข้อเสนอในการปฏิรูป แต่อาจขาดแนวทาง วิธีการหรือกลยุทธ์ในการปฏิรูป ซึ่งโจทย์นี้เป็นประเด็นที่ควรเป็นจุดเน้นในการศึกษาของประเทศในอนาคต  
 
          องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้สังเคราะห์บทเรียนจากการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (structural reform) จำนวนมาก พบว่าการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ประสบความสำเร็จจะมีปัจจัยที่สำคัญ 6 ประการ ดังนี้  
 
          ประการแรก การได้รับมติจากประชาชนให้ปฏิรูปผ่านการเลือกตั้ง  (electoral mandate for reform)  เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของการปฏิรูป การปฏิรูปโดยรัฐบาลโดยที่ไม่ได้มีมติจากประชาชนมักจะพบข้อจำกัดมาก  อย่างไรก็ดีการปฏิรูปครั้งสำคัญที่รัฐบาลไม่ได้มติมาจากประชาชนจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อสามารถทำให้เกิดประโยชน์ที่จับต้องได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมักเป็นไปได้ยากในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง
 
          ประการที่สอง การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โดยมีหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือได้สนับสนุน (Effective Communication) การปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่สำเร็จมักมีความร่วมมือที่สอดคล้องกันระหว่างผู้ลงคะแนนเสียงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นปฏิรูป การสื่อสารให้สาธารณะทราบถึงเป้าหมายที่ชัดเจนในระยะยาวมีผลมาก การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพหมายถึงการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ภาครัฐรับฟังข้อห่วงกังวลและนำข้อเสนอไปปรับปรุง ซึ่งจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของข้อเสนอและช่วยให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ประสบผลสำเร็จมักตั้งอยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือสนับสนุน การปฏิรูปจะต้องสร้างฉันทมติในวงกว้าง ทั้งระหว่างผู้เชี่ยวชาญในประเด็นการปฏิรูปและกับประชาชน ซึ่งหลักฐานที่น่าเชื่อถือจะช่วยให้ข้อเสนอการปฏิรูปมีน้ำหนักเพียงพอเมื่อต้องเผชิญกับฝ่ายที่ต่อต้านการปฏิรูปหรือในการเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งระแวงสงสัยหรือไม่ไว้วางใจในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังปฏิรูป การปฏิรูปเชิงโครงสร้างทำให้ต้องเกิดการจัดสรรทรัพยากรในระบบใหม่ มีผู้ที่ได้และเสียประโยชน์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากภาคการเมืองจะชะลอการปฏิรูปออกไป เนื่องจากกลัวความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากต้นทุนการปฏิรูปในระยะสั้นที่เกิดขึ้นก่อนผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ดังนั้น รัฐบาลและพรรคการเมืองควรออกแบบการปฏิรูปตั้งแต่ในช่วงก่อนเลือกตั้ง (pre-campaign period) โดยใช้การสื่อสารที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเห็นประโยชน์จากการปฏิรูปและเมื่อได้รับการเลือกตั้ง รัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการปฏิรูปตามที่ได้รับการสนับสนุนทันที
 
          ประการที่สาม ปัจจัยเชิงสถาบันที่มีความเข้มแข็งและความเป็นผู้นำในการปฏิรูป (Strong Institutions and Leadership) ปัจจัยเชิงสถาบันช่วยสนับสนุนการปฏิรูปตั้งแต่การตัดสินใจปฏิรูป ไปจนกระทั่งการนำข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติ ความไว้วางใจ (trust) หรือทุนทางสังคม (social capital) มีความสำคัญและจะส่งผลกระทบอย่างสูง รวมถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบราชการ ความเป็นผู้นำเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ทั้งความเป็นผู้นำของบุคคลหรือสถาบันที่เป็นเจ้าของประเด็นปฏิรูป ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐบาลเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการปฏิรูป มากกว่าปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัจจัยความเข้มแข็งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรรคฝ่ายค้าน หรือความเข้มแข็งของรัฐสภา
 
          ประการที่สี่ ปัจจัยด้านเวลา (Times) การปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ประสบความสำเร็จมักจะใช้เวลา โดยจากการศึกษาพบว่ามักจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป การปฏิรูปที่รีบเร่งหรือตอบสนองแรงกดดันในขณะหนึ่งๆ มักจะยิ่งทำให้ผลสัมฤทธิ์เกิดขึ้นช้า การปฏิรูปบางเรื่อง เช่น ระบบบำนาญ ระบบสุขภาพ และระบบการศึกษา มักจะใช้เวลานานมาก และการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จมักจะใช้ความพยายามหลายครั้ง
 
          ประการที่ห้า การมีส่วนร่วมของฝ่ายที่ต่อต้านการปฏิรูป (Engage the opponents of reform) การปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จจะต้องให้กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงสูงเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งในระยะสั้นอาจมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้าง แต่ในระยะยาวการมีส่วนร่วมจะช่วยสร้างความไว้วางใจมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่คาดว่าจะเสียประโยชน์มีความยินดีในการเจรจาตกลง เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูป และยอมเจรจาเพื่อชดเชยการสูญเสียจากการปฏิรูป
           
          ประการที่หก การชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบทางลบ (Compensation for reform loser) กระบวนการชดเชยถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ หากรัฐล้มเหลวในการชดเชยจะทำให้การต่อต้านการปฏิรูปมีมาก แต่หากรัฐชดเชยมากจนเกินไปจะสร้างต้นทุนและความคาดหวังการชดเชยที่สูงในการปฏิรูปในอนาคตแนวทางสำคัญคือการให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะผู้ที่เสียประโยชน์หลัก การขยายเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านให้นานขึ้น และการใช้นโยบายด้านอื่นที่สามารถหักล้างผลเสียจากการปฏิรูปให้กับบางกลุ่ม ในบางกรณี เช่น การปฏิรูประบบบำนาญ อาจต้องขยายเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านให้นานไปจนถึงคนรุ่นอื่น เนื่องจากผู้มีส่วนได้เสียหลักในปัจจุบันไม่สามารถปรับพฤติกรรมการออม การทำงานและการใช้จ่ายได้ทัน
โดยสรุปจากการศึกษายังพบว่าการปฏิรูปอย่างครอบคลุม (Comprehensive reform) มีกำหนดการชัดเจนได้ผลดีกว่าการปฏิรูปเป็นประเด็นย่อยๆ กลุ่มผลประโยชน์ยากจะต้านการปฏิรูปที่ครอบคลุมและมีความสมดุลในเชิงนโยบาย และความสมดุลระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย ปัจจัยทั้งหมดนี้ล้วนทำให้การปฏิรูปสำเร็จได้จริงในหลายประเทศทั่วโลก
 
  
กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และงบประมาณ
ฝ่ายยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

963 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย