หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนธันวาคม 2563)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนธันวาคม 2563)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนธันวาคม 2563) 


          ข้อมูลเดือนตุลาคม 2563 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะราคาน้ำมันเริ่มกลับมามีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นไป ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัว จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตยังมีแนวโน้มในการปรับตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากมีการผ่อนปรนมากขึ้นจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ในเดือนนี้คำสั่งซื้อยังมีการปรับตัวได้มากขึ้นตามภาวะของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ปรับตัวได้เพิ่มสูงขึ้นมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวลดลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าน้อยลง เนื่องจากประชาชนได้มีการออมเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้นจึงเริ่มหันมาลงทุนในประเภทอื่นๆ ที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น จึงส่งผลให้การออมเงินมีการหดตัวลงมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าลดลง เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้นธนาคารได้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปมากแล้วเพื่อเสริมสภาพคล่อง จึงส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวที่น้อยลงมา รวมทั้งยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

 กรกฎาคม 63

สิงหาคม 63

กันยายน 63

ตุลาคม 63

ดัชนีราคาผู้บริโภค

101.99

102.29

102.18

102.23

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

86.25

91.25

95.40

96.00

อัตราการใช้กำลังการผลิต

57.58

60.86

63.46

63.20

ดุลการค้า

4,112.97

5,377.83

3,204.56

3,170.27

ดุลบัญชีเดินสะพัด

1,867.16

3,121.96

1,314.09

984.95

เงินฝาก

15,557.73

15,562.30

15,400.43

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

16,592.70

16,609.92

16,397.14

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                             หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                                                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
                       ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนตุลาคม 2563
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ต.ค. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ต.ค. 62

99,685

-18.52%

ณ ต.ค. 63

93,007

-6.70%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ต.ค. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

50,558

54.36

บ้านเดี่ยว

24,899

26.77

ทาวน์เฮ้าส์

12,585

13.53

อาคารพาณิชย์

2,774

2.98

บ้านแฝด

2,191

2.36

รวม

93,007

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        -การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ต.ค. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ต.ค. 62

165,779

0.30%

ณ ต.ค. 63

155,647

-6.11%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ต.ค. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

75,826

48.72

ทาวน์เฮ้าส์

45,192

29.03

บ้านเดี่ยว

22,424

14.41

บ้านแฝด

6,301

4.05

อาคารพาณิชย์

5,904

3.79

รวม

155,647

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 
  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 63

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม

5.95

1.25

กุมภาพันธ์ 5.93 1.00
มีนาคม 5.83 0.75
เมษายน 5.50 0.75
พฤษภาคม 5.28 0.50
มิถุนายน-กันยายน 5.24 0.50
ตุลาคม 5.32 0.50

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
                      หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, 
             ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนตุลาคม 2563

          ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 6.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการ        ฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปได้อย่างช้าๆ ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่มาก จึงทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่ยังชะลอการพัฒนาโครงการออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 6.11% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่ต่อไป ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวด เนื่องจากทิศทางของหนี้ด้อยคุณภาพมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 5.32% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยทรงตัวอยู่ที่ 0.50% 
 

วิเคราะห์การควบคุมโควิดกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย*

                  
         ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย คือ ไม่มีการระบาดของโควิด-19 มานานกว่า 5 เดือน ทำไมจึงไม่ใช้ความได้เปรียบจากการไม่มีการระบาดในประเทศเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ต่อยอดไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เร็วและเศรษฐกิจไม่หดตัวมากอย่างที่ประเมินกัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าไทยจะควบคุมโรคได้ดี แต่ทำไมเศรษฐกิจยังหดตัวรุนแรง แม้ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศก็คือ ความอ่อนแอของกำลังซื้อในประเทศ ที่เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด แต่ที่ลึกกว่านั้นคือวิกฤติคราวนี้กระทบภาคต่างประเทศของไทยมาก คือทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจไม่ได้ประโยชน์จากการส่งออกและการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจจะฟื้นก็ต้องมาจากการใช้จ่ายในประเทศอย่างเดียว หมายถึง การใช้จ่ายของภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด ก็คือ การบริโภคของครัวเรือน แต่การบริโภคของครัวเรือนขณะนี้มีข้อจำกัดมากจากการชะลอตัวของรายได้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ การว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ระดับของหนี้ครัวเรือนที่สูงและความเหลื่อมล้ำในประเทศที่มีมาก ปัจจัยท้ายสุดนี้ทำให้คนในประเทศจำนวนมากไม่มีเงินออมและอยู่ลำบากในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง และการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น 
         
          ความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมีเห็นได้จากตัวเลขความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้น ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำได้แย่ลงจนคนที่เคยมีรายได้เหนือเส้นความยากจนเมื่อ 5 ปีก่อน ปัจจุบันรายได้ลดลงต่ำกว่าเส้นความยากจน ทำให้จำนวนคนยากจนในประเทศเพิ่มขึ้นมาก ตัวเลขจากธนาคารโลกชี้ว่าอัตราความยากจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 ปี 2558 เป็นร้อยละ 9.8 ปี 2561 สวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และล่าสุดอย่างที่ทราบว่าจำนวนประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐจากผลกระทบของวิกฤติโควิดนี้อาจมีมากถึง 40 ล้านคน หรือเกือบเท่ากับ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งสูงมาก แสดงว่าคนรายได้น้อยหรือคนไม่มีรายได้ในประเทศนั้นมีจำนวนมาก คนส่วนใหญ่จึงไม่มีกำลังซื้อที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ และต้องพึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นหลัก ทำให้การใช้จ่ายจากภาครัฐและกำลังซื้อที่มาจากคนที่มีรายได้มีเงินออม จำเป็นต้องออกมาทดแทน
           
          อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกันคือ ถ้าประเทศคุมโควิดได้ดี ทำไมนักลงทุนต่างประเทศไม่นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อหาประโยชน์จากภาวะแวดล้อมทางสาธารณสุขที่ปลอดภัย ตรงกันข้ามกับเห็นว่านักลงทุนต่างชาติปิดโรงงาน และย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน แม้แต่นักลงทุนญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นในประเทศไทยมานาน นี่เป็นอีกเรื่องที่ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงความอ่อนแอที่ประเทศไทยมี ที่ไม่ได้เป็นประเทศเป้าหมายที่น่าลงทุนของประเทศอื่นอย่างแต่ก่อน ทำให้แม้จะควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่นักลงทุนต่างประเทศเลือกที่จะไปลงทุนที่อื่น หรือย้ายฐานการผลิตออกไปประเทศอื่นแทน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจาก 3 เรื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
           
          1. ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่มีต้นทุนสูงในการทำธุรกิจ ต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานของไทยได้เพิ่มขึ้นมากและไม่ได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเหมือนแต่ก่อน ขณะที่คุณภาพและทักษะของแรงงาน รวมถึงความรู้ภาษาอังกฤษ ทัศนคติและความมีวินัยก็อาจด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ที่สำคัญประเทศไทยมีต้นทุนแอบแฝงในการทำธุรกิจในรูปของเงินใต้โต๊ะและการทุจริตคอร์รัปชันที่นักธุรกิจต้องเจอ ที่นับวันจะยิ่งรุนแรง เห็นได้จากรายงานความเห็นของนักลงทุนต่อการทำธุรกิจในประเทศไทย (The Global Competitiveness Report 2017-18, WEF) ที่ชี้ว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นข้อจำกัดอันดับต้นๆ ของการทำธุรกิจในประเทศไทย ล่าสุดในการจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ คะแนนประเทศไทยก็ลดลงอีกในปี 2562 คือได้คะแนน 36 จาก 100 เทียบกับ 37 คะแนนในปี 2561 ขณะที่อันดับประเทศก็เพิ่มเป็น 101 ของประเทศที่มีคอร์รัปชันน้อย จากอันดับ 99 ปีก่อนหน้า สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่ามีปัญหามากในการทำธุรกิจ
 
          2. การแข่งขันที่มีน้อยลง ก็เป็นอีกประเด็นที่นักลงทุนเป็นห่วง จากบทบาทที่มากขึ้นของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศที่มีอำนาจครองตลาดและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายของฝ่ายการเมือง จากความใกล้ชิดที่บริษัทเหล่านี้มีกับนักการเมือง รัฐบาลและระบบราชการของประเทศ ผลคือในสายตาต่างประเทศ ประเทศไทยมีปัญหาในการแข่งขันที่ไม่ตรงหรือเอียง (Unlevel Playing Field) ระหว่างบริษัทไทยขนาดเล็ก บริษัทต่างชาติ เทียบกับบริษัทไทยขนาดใหญ่ เห็นได้จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทานสิทธิในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่จัดสรรโดยรัฐมักจะไม่มีบริษัทที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศในธุรกิจนั้นๆ เข้าแข่งขัน ผู้ได้สัมปทานจะเป็นบริษัทใหญ่ของประเทศกับบริษัทแนวร่วมต่างชาติที่จัดตั้งขึ้น ผลคือ อำนาจทางเศรษฐกิจของบริษัทใหญ่นับวันจะมากขึ้น ผลวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2562 ชี้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ 5% แรกของประเทศมีสัดส่วนรายรับสะสมสูงถึง 85% ของรายรับทั้งหมด มีส่วนแบ่งยอดขายมากถึง 46% และสัดส่วนกำไรกว่า 60% อำนาจทางธุรกิจแบบนี้ไม่จูงใจให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าแข่งขัน ขณะที่ผู้บริโภคเสียประโยชน์
 
          3. ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายและประสิทธิภาพของระบบราชการ ก็เป็นอีกข้อจำกัดที่นักลงทุนต่างประเทศพูดถึงในรายงานฉบับเดียวกัน คือ นโยบายทางการไม่แน่นอน เปลี่ยนบ่อย ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจที่จะลงทุน ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายของรัฐบาลทุกสมัยจะเน้นการทำโครงการใหม่ๆ เพื่อสร้างคะแนนนิยมระยะสั้นด้วยเหตุผลทางการเมือง รวมทั้งหาประโยชน์จากงบประมาณ มากกว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ประเทศมี หรือทำในสิ่งที่เศรษฐกิจต้องการ เพื่อผลของการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว วิธีการแบบนี้ทำให้การทำนโยบายไม่มีความต่อเนื่อง ขาดตอน เกิดความสูญเสีย ต่างกับประเทศที่มีแผนงานชัดเจน สามารถดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือ โดยการแข่งขันที่เปิดกว้างต่อยอดไปสู่การลงทุนของภาคเอกชน เพื่อนำพาการพัฒนาประเทศ
           
          สามเรื่องนี้คือ เหตุผลหลักที่ทำให้ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุนจากต่างประเทศแม้สถานการณ์ด้านสาธารณสุขของไทยจะอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นการเสียโอกาสที่น่าเสียดาย ทำให้ประเทศต้องพึ่งการใช้จ่ายในประเทศจากการกู้เงินเป็นหลัก เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งแม้การฟื้นตัวกำลังเกิดขึ้น แต่ก็ช้า ไม่ทั่วถึงและเปราะบาง
          
          สรุปคือถ้าจะมองเรื่องทั้งหมดอย่างมีเหตุมีผล คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นตอสำคัญที่ทำให้ประเทศมีปัญหามากจนเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นอย่างที่ควร โดยเฉพาะในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น มาจาก 2 เรื่องหลัก ดังนี้
          1. ปัญหาธรรมาภิบาล หรือความพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งในภาครัฐ คือ ฝ่ายการเมือง ภาคราชการและภาคเอกชน เมื่อคนในระดับนำของประเทศไม่พร้อมจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ประเทศจึงมีปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำหรือการบังคับใช้กฎหมาย
          2. ระบบการเมืองของประเทศไม่ทำงานสนองตอบปัญหาที่ประเทศมี เนื่องจากคนที่เข้ามามีอำนาจและมีหน้าที่ทางการเมืองไม่สามารถประนีประนอม (compromise) และหาจุดร่วมกันได้เพื่อนำพาประเทศให้ดีขึ้น เมื่อทำไม่ได้ ผลก็คือ ความแตกแยกและระบบการเมืองที่ยืนห่างจากปัญหาของประเทศ
          ถ้าประเทศมีธรรมาภิบาล มีระบบการเมืองที่รับผิดชอบ คนในประเทศก็จะใช้ความรู้ความสามารถสร้างชีวิต สร้างนวัตกรรม สร้างการผลิตภายใต้กลไกการแข่งขัน นำประเทศไปสู่การพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น แต่เมื่อไม่มีทั้งธรรมาภิบาลและการเมืองที่รับผิดชอบ สิ่งที่ได้ก็คือบ้านเมืองที่อนาคตดูยาก เพราะคนแย่งกันล็อบบี้การเมืองเพื่อหาประโยชน์ ใช้อิทธิพลการเมืองและเส้นสายระบบราชการสร้างระบบค่าเช่าเพื่อหาประโยชน์ นี่คือความสำคัญของธรรมาภิบาล ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถที่จะเติบโตได้มากอย่างเท่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง
 
 
 
วิเคราะห์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยมีแนวโน้มคงตัวต่อเนื่อง
 

          จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูงแต่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง เพราะธุรกิจและครัวเรือนที่ต้องการสภาพคล่องยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง อย่างไรก็ตามนโยบายการเงินควรเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น และมาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง สำหรับมาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงควรเร่งเบิกจ่ายและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางอย่างตรงจุด ควบคู่กับการเร่งดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้จากเหตุผลดังนั้นทำให้คาดการณ์ว่าโอกาสที่ ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมีน้อยลง เนื่องจาก
          - เศรษฐกิจไทยที่ในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวน้อยลง เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้าค่อนข้างมากจาก -12.1%YOY มาอยู่ที่ -6.4%YOY จากการฟื้นตัวที่เร็วกว่าคาดของการใช้จ่ายเพื่อบริภาคภาคเอกชนที่หดตัวเพียง -0.6% จากไตรมาสก่อนที่หดตัวถึง -6.8% สะท้อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวถึง 3.4%YOY และ 18.5%YOY จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัวน้อยลง เป็นผลทำให้ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีน้อยลง
          - แนวโน้มความสำเร็จของการผลิตวัคซีน COVID-19 จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า โดยจากผลการทดสอบวัคซีนเบื้องต้นในระยะที่ 3 จาก Pfizer และ Moderna’s พบว่ามีประสิทธิภาพในการต้าน COVID-19 สูงถึง 90% และ 94.5% ตามลำดับ สะท้อนถึงโอกาสที่จะผลิตวัคซีนได้สำเร็จมีค่อนข้างมาก ซึ่งประเมินว่าวัคซีนจะถูกแจกจ่ายเป็นวงกว้างจนก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ปัจจัยข้างต้นนี้จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือนฟื้นตัว ซึ่งเป็นสิ่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยในระยะต่อไป และจากการที่ ธปท. ให้ความสำคัญต่อการดูแลอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ นโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลาย (Low for long) จึงยังมีความจำเป็น โดยมองว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อเนื่องในปี 2021 และผ่อนปรนเงื่อนไขของมาตรการที่ได้ดำเนินไป รวมถึงดำเนินมาตรอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อดูแลค่าเงินบาท
          - สินเชื่อภาคธุรกิจ SMEs ยังคงหดตัวและความเข้มงวดของมาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยอัตราการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจ SMEs (วงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 500           ล้านบาท) ในไตรมาสที่ 3 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -3.1%YOY แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการ soft loan สำหรับอัตราการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (วงเงินสินเชื่อมากกว่า 500 ล้านบาท) ยังคงขยายตัวได้สูงถึง 10.8%YOY แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 13.0%YOY ในด้านมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินต่อภาคธุรกิจมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs ดังนั้น ธปท. จึงเตรียมผ่อนคลายเกณฑ์มาตรการ soft loan เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดังกล่าวแก่ SMEs มากขึ้น
          - ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-PerformingLoan: NPL) ยังคงปรับสูงขึ้น แต่มาตรการการปรับโครงสร้างหนี้มีส่วนช่วยให้ NPL ไม่ปรับสูงขึ้นมาก โดยภาพรวม NPL ต่อสินเชื่อรวมใน       ไตรมาส 3 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.14% (จาก 3.09% ในไตรมาส 2 ปี 2020) จากสัดส่วน NPL ของภาคธุรกิจที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.07% มาอยู่ที่ 3.24% ซึ่งปรับแย่ลงทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs อย่างไรก็ดีสัดส่วน NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องจาก 3.12% มาอยู่ที่ 2.91% โดยเป็นการปรับลดลงของสินเชื่ออุปโภคบริโภคทุกประเภท ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และการบริหารหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ธปท. จึงมีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาจพิจารณาการใช้มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการหนี้เสียเพิ่มเติม
          - นับตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคมจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่าถึง 3.3% ซึ่งเป็นการแข็งค่าอันดับที่สองในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับสูงขึ้นหลังจากมีข่าวดีเกี่ยวกับการพัฒนาการผลิตวัคซีน COVID-19 ทำให้มีเงินไหลเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะไทยที่ยังมีเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์ไทย ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ธปท. จึงอาจพิจารณาดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท เช่น การลดการออกพันธบัตรรัฐบาลธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อลดการเข้ามาเก็งกำไร มาตรการชะลอการเก็งกำไรในทองคำ การส่งเสริมให้มีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น และผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการนำรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศกลับเข้าไทย นโยบายด้านการคลังอาจเข้ามามีส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ในระยะต่อไป โดยอาจมีการพิจารณาชำระหนี้ต่างประเทศเพื่อจ่ายเงินดอลลาร์และลดความต้องการเงินบาทในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนลง อีกทั้งการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในระยะต่อไปก็จะมีส่วนช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้เช่นกัน

 


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.บัณฑิต นิจถาวร เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

 

 

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 25 ธันวาคม 2563

961 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย