หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนกรกฎาคม 2563)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนกรกฎาคม 2563)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนกรกฎาคม 2563)
 
          ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2563 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าค่อนข้างทรงตัวไม่แตกต่างจากเดือนที่ผ่านมา เพราะราคาน้ำมันยังมีราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีทิศทางที่ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากเท่าไรนัก ส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ทรงตัวปรับขึ้นไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากเริ่มมีการผ่อนปรนมากขึ้นจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ในเดือนนี้คำสั่งซื้อมีการปรับตัวได้มากขึ้นตามภาวะของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในบ้าง ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวมากขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าสูงขึ้น เนื่องจากประชาชนได้มีการออมมากขึ้นหลังจากที่การลงทุนในประเภทอื่นๆ มีความผันผวนสูงตามปัจจัยเสี่ยงจากโควิด-19 ที่ได้เกิดขึ้น จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้น ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อจึงมีการปรับตัวที่สูงขึ้น แต่ก็ยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

 กุมภาพันธ์ 63

มีนาคม 63

เมษายน 63

พฤษภาคม 63

ดัชนีราคาผู้บริโภค

102.70

101.82

99.75

99.76

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

100.18

103.02

74.91

77.87

อัตราการใช้กำลังการผลิต

66.06

67.78

51.27

52.84

ดุลการค

5,394.19

2,272.57

2,530.14

3,191.80

ดุลบัญชีเดินสะพัด

5,194.78

543.69

-654.05

63.54

เงินฝาก

14,349.79

15,236.22

15,447.05

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

15,674.82

16,321.82

16,799.96

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                             หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                                                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
                       ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนพฤษภาคม 2563
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ พ.ค. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ พ.ค. 62

40,045

-36.90%

ณ พ.ค. 63

39,263

-1.95%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ พ.ค. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

18,949

48.26

บ้านเดี่ยว

11,609

29.57

ทาวน์เฮ้าส์

6,603

16.82

บ้านแฝด

1,134

2.89

อาคารพาณิชย์

968

2.46

รวม

39,263

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        -การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ พ.ค. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ พ.ค. 62

75,778

-0.69%

ณ พ.ค. 63

68,627

-9.44%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ พ.ค. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

33,033

48.13

ทาวน์เฮ้าส์

20,691

30.15

บ้านเดี่ยว

9,648

14.06

บ้านแฝด

2,654

3.87

อาคารพาณิชย์

2,601

3.79

รวม

68,627

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 63

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม

5.95

1.25

กุมภาพันธ์ 5.93 1.00
มีนาคม 5.83 0.75
เมษายน 5.50 0.75
พฤษภาคม 5.28 0.50

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
                      หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, 
             ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนพฤษภาคม 2563

          ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 1.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิค-19 เริ่มมีทิศทางที่ทรงตัว จึงเริ่มทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะเริ่มมีการพัฒนาโครงการออกมาบ้าง ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงไปเล็กน้อย ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 9.44% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินก็ยังมีความเข้มงวด เนื่องจากทิศทางของหนี้ด้อยคุณภาพมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 5.28% รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 0.50% ด้วยเช่นเดียวกัน
 

วิเคราะห์แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจกับอียูหลังโควิด-19*

             
          สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคจะหดตัวกว่า 7.4% ในปี 2563 และกลับมาขยายตัว 6.1% ในปี 2564 นอกจากนี้อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และตัวเลขการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สืบเนื่องจากมาตรการการเงินการคลังที่รัฐบาลจำเป็นต้องนำออกมาใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ สำหรับตัวเลขการค้า คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่าในปี 2563 การส่งออกของอียูจะหดตัว 9-15% (คิดเป็น 282-470 พันล้านยูโร) และการนำเข้าจะลดลง 11-14% (คิดเป็น 313-398 พันล้านยูโร) โดยภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องจักรและยานยนต์ได้รับผลกระทบมากสุด

          ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อียูและรัฐบาลประเทศสมาชิกได้ออกมาตรการการเงินการคลังเพื่อฝ่าวิกฤติโควิด-19 แล้วหลายชุด ทั้งเงินช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับประชาชน ลูกจ้าง บริษัท SME และประเทศสมาชิก โดยในขณะนี้ประเทศสมาชิกอียูอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนองบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งมีวงเงินสูงถึง 1.85 ล้านล้านยูโร อันประกอบด้วย 
          1) กองทุนฟื้นฟู “Next Generation EU” จำนวน 7.5 แสนล้านยูโร โดยแบ่งเป็นเงินให้เปล่า 5 แสนล้านยูโร และเงินกู้ 2.5 แสนล้านยูโร 
          2) กรอบงบประมาณ Multiannual Financial Framework (MFF) จำนวน 1.1 ล้านล้านยูโร สำหรับช่วง 7 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2021-2027) โดยคาดว่าน่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในเดือน ก.ค. นี้ ทั้งนี้แผนงบประมาณดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ และจะมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจอียูทั้งระบบให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าและกลับเข้าสู่ภาวะการเติบโตได้อีกครั้ง รวมถึงเป็นบทพิสูจน์ความเป็นเอกภาพของอียูที่มักถูกวิจารณ์ว่าเริ่มอ่อนแอลงนับจากเหตุการณ์ Brexit

          แนวทางการปรับตัวเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย
แม้ว่าเศรษฐกิจของอียูมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญความท้าทายอยู่มาก แต่อียูก็ยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจยุคหลังโควิด-19 ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสและความท้าทาย ทั้งนี้ได้สรุปแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจไว้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

          1) การกระจายห่วงโซ่อุปทาน (supply chain diversification)
          ที่ผ่านมาในยุคโลกาภิวัฒน์ ภาคการผลิตโดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติต่างๆ เน้นการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนต่ำสุด ทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพาวัตถุดิบจากจีน อย่างไรก็ดีในช่วงวิกฤติโควิด-19 จีนไม่สามารถส่งออกสินค้าได้เหมือนปกติ ประกอบกับหลายประเทศได้ออกมาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้า ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงัก ทำให้หลายชาติเช่น ประเทศสมาชิกอียู ญี่ปุ่น และสหรัฐ ต้องทบทวนกลยุทธ์การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตนเองใหม่ โดยเปลี่ยนจากการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานเดียว (single-line supply chain) มาสู่การกระจายห่วงโซ่อุปทาน (supply chain diversification) ในหลายประเทศและหลายทวีปมากขึ้น รวมทั้งย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับมาในประเทศตนเอง (reshoring) โดยเฉพาะสำหรับสินค้าจำเป็น เช่น เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ อาหาร รวมทั้งวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก อลูมิเนียม และแร่ธาตุต่าง ๆ (โคบอลท์ ลิเธียม ทองแดง) ทั้งนี้หน่วยงานส่งเสริมการค้าการลงทุนของเขต         ฟลานเดอร์ประเทศเบลเยียม (Flanders Investment & Trade) มองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจเบลเยียมเริ่มตระหนักว่าไม่ควรพึ่งพาประเทศหนึ่งประเทศใดจนเกินไป และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเชื่อมโยงกับคู่ค้าต่างประเทศหลายรายขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมหลายภูมิภาคเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดกับสายการผลิต ในขณะที่สมาพันธ์ภาคธุรกิจของยุโรป (BusinessEurope) ออกมาเตือนว่านโยบายสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตกลับภูมิภาคยุโรป (reshoring) เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะจะส่งผลให้สินค้าในประเทศมีปริมาณมากเกินความต้องการ นอกจากนั้นการปกป้องทางการค้าไม่ใช่ทางออก และอียูต้องยอมรับว่าการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานไปยังนอกภูมิภาคยุโรปของภาคธุรกิจ เป็นผลจากการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ และการแสวงหาตลาดผู้บริโภคที่เกิดใหม่ พร้อมย้ำว่าการค้าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจอียูฟื้นตัว โดยอียูควรเร่งทำความตกลงทางการค้ากับคู่ค้าต่างๆ เพื่อขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ

          2) การให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์
          เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะยารักษาโรค เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติในครั้งนี้ เนื่องจากอียูต้องพึ่งพาการนำเข้าส่วนผสมยาจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของปริมาณความต้องการภายในประเทศ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากปัญหาดังกล่าวในอนาคต อียูจึงต้องการผลักดันการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศเพื่อยกเว้นอากรสำหรับเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุทานเหมือนในช่วง       โควิด-19 อีก รวมถึงการผลักดันให้ประเทศอื่นปรับมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยของยาให้สอดคล้องกัน ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าเป็นห่วงโซ่อุปทานสินค้าประเภทนี้ให้กับอียู เพราะอียูก็ยอมรับว่าแม้มีความต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทาน แต่ก็คงไม่สามารถเคลื่อนย้ายฐานการผลิตกลับมายังอียูได้ทั้งหมด

          3) การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
          วิกฤติในครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำให้ประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงงาน สิทธิมนุษยชน รวมถึงสุขอนามัยและความปลอดภัย         มีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ โดยมุ่งเน้นการร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโลกบนพื้นฐานของเศรษฐกิจสีเขียว ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน และสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนั้น  อียูยังเตรียมประกาศจะเสนอร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อบังคับให้ภาคเอกชนอียูตรวจสอบ supply chain ของสินค้าเพื่อแสดงว่าไม่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายสิ่งแวดล้อม โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ European Green Deal และจากข้อร้องเรียนที่ว่าความต้องการสินค้าด้านการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้นอาจมาจากการผลิตที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ดังนั้นในการดำเนินการค้ากับอียู ผู้ประกอบการไทยจึงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน สุขภาพและความปลอดภัย โดยอียูมีแนวโน้มจะเพิ่มระดับมาตรฐานด้านความยั่งยืนทั้งกับตัวสินค้าและกระบวนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          4) การสู้โรคระบาดด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ (3D printing)
          การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายโรงงานต้องปิดกิจการชั่วคราว และเทคโนโลยี 3D Printing ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การผลิตสินค้าจำเป็นโดยเฉพาะอุปกรณ์การแพทย์ เช่น หน้ากากป้องกันการติดเชื้อและเครื่องช่วยหายใจยังสามารถดำเนินต่อได้ แม้ว่าในปัจจุบันการผลิตด้วย 3D Printing จะยังมีต้นทุนสูงและผลิตได้น้อยชิ้น แต่ 3D Printing เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์เรื่องการสร้างความยืดหยุ่นให้กับสายการผลิต และการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติในอนาคต ดังนั้นจึงน่าจะมีการพัฒนา hardware และ software เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ 3D Printing ให้ผลิตชิ้นงานได้ในจำนวนมากขึ้นและต้นทุนต่ำลง อันจะทำให้ 3D Printing เป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทั้งสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพและเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม

          5) การใช้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
          เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อการปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด จากผลพวงของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานจากที่บ้าน ผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการสื่อสารมากขึ้น ตลอดจนทำให้เกิดการเรียนการสอน หรือการพบแพทย์ในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาผนวกกับการเดินทางท่องเที่ยว และการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นระบบ e-payment ที่ทันสมัย ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่สั่งซื้ออาหาร หรือสิ่งของอุปโภคบริโภคอื่นๆ หลังจากสถานการณ์ของการระบาดของไวรัส อาจจะทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป และเทคโนโลยีจะช่วยให้การเชื่อมโยงทางธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการพัฒนา hardware และ software เพื่อรองรับการทำงาน การประชุมและการหารือทางธุรกิจออนไลน์ รวมทั้งการพัฒนาระบบ                     e-commerce และ e-payment จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำการค้าของผู้ประกอบการไทยในอนาคตและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

          กล่าวโดยสรุป คือ ผู้ประกอบการควรต้องปรับตัวเพื่อเตรียมเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ทางธุรกิจในยุคหลัง โควิด-19 โดยควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ตลอดจนเพื่อขยายช่องทางการตลาดและเพิ่มฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น นอกจากนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน รวมถึงสุขอนามัยและความปลอดภัย โดยเข้ามาบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่มุ่งเน้นการก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัลอีกด้วย

วิเคราะห์ธุรกิจที่จะเติบโตหลังโควิด-19

          จากวงจรโควิด-19 ภาคธุรกิจจะต้องใช้เวลาเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความปกติใหม่ ซึ่งความปกติใหม่นี้เป็นภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น น่าจะเกิดขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น แต่อาจใช่หรือไม่ใช่ภาพอนาคตที่ต้องการหรือภาพอนาคตที่พึงประสงค์ (preferable future) ก็ได้ ทั้งนี้ได้วิเคราะห์ประเภทของธุรกิจที่คาดว่าจะขยายตัวขึ้นยุคหลังโควิด-19 ไว้ดังนี้

          (1) ธุรกิจออนไลน์/ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (Online Business/E-Business)
          มาตรการปิดเมืองการทำงานจากบ้าน และการรักษาระยะห่างทางสังคม (Lockdown, Work from Home andSocial Distancing) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั้งผู้บริโภคหันไปทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น จนกลายเป็นความคุ้นชิน ในขณะที่ธุรกิจต้องปรับตัวสู่การขายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์เพื่อความอยู่รอด ธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 จึงมีแนวโน้มพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นโดยทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจจะอยู่บนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ทั้งการผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยนการจำหน่ายสินค้าและบริการ และการพัฒนาระบบสำนักงานที่เชื่อมโยงข้อมูลตลอดกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจ ตั้งแต่การสั่งซื้อ การผลิต สต็อกสินค้าและวัตถุดิบ การส่งมอบสินค้า การชำระเงิน การรับประกันสินค้า การบริการหลังการขาย การทำการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการให้บริการผ่านออนไลน์ เช่น การศึกษา บริการสุขภาพทางไกล (Telemedicine) การชมภาพยนตร์ คอนเสิร์ต การท่องเที่ยว เป็นต้น

          (2) ธุรกิจจัดส่ง (Delivery Business)
          วิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจจัดส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคไม่ต้องการออกจากบ้านเพื่อลดการสัมผัสและพบเจอกับคนจำนวนมาก ทำให้มีพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งซื้อและจัดส่งอาหารปรุงสุก (food delivery) วิกฤตโควิด-19 ยังทำให้ธุรกิจจัดส่งและโลจิสติกส์ในต่างประเทศมีการพัฒนามากขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้มากขึ้น อาทิ เทคโนโลยีอัตโนมัติในการจำแนกพัสดุที่จะทำการจัดส่งการใช้ยานพาหนะขนส่งอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles: AVs) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจัดส่งในพื้นที่แออัดและพื้นที่ห่างไกล และทำให้มีระบบไร้สัมผัส (touchless system) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไวรัส เป็นต้น

          (3) ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare Business)
          สินค้าและบริการด้านสุขภาพจะมีความต้องการและจำเป็นมากขึ้นในอนาคต ทำให้ธุรกิจสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะได้รับความสนใจในการลงทุนมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการคิดวัคซีนและยารักษาโรค ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เป็นต้นและอุปกรณ์วัดและประมวลผลสุขภาพ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ ชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง นาฬิกาดิจิทัลที่วัดผลด้านสุขภาพ เป็นต้น และธุรกิจการบริการทำความสะอาดสถานที่ และฆ่าเชื้อโรคด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่นบริษัท Keenon Robotics ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ได้คิดค้นหุ่นยนต์สำหรับใช้ในโรงพยาบาลที่สามารถฆ่าเชื้อด้วยแสง UV และพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้พร้อมกัน ทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลระหว่างฆ่าเชื้อเพื่อนำมาวิเคราะห์ในการฆ่าเชื้อครั้งต่อไปได้ เป็นต้น

          (4) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล (Data Related Business)
          สถานการณ์โควิด-19 บ่งชี้ให้เห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยติดตามประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และติดตามจุดจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย รวมถึงการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า เพื่อนำเสนอสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้อย่างครบถ้วนและเหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นธุรกิจที่จะเติบโตขึ้นหลังยุคโควิด-19 จะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูล อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดเก็บข้อมูลเวลาจริงและการวิเคราะห์ข้อมูล (Real Time Data Infrastructure and Data Analytics) การเฝ้าระวังการเข้ารหัสความเป็นส่วนตัว (Privacy Encoding State Surveillance) เป็นต้น

          (5) ธุรกิจเพื่อประโยชน์สังคม (Philanthropic Business Practice)
          ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ทำให้แทบทุกองค์กรและทุกคนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า วิกฤตโควิด-19 จึงเป็นโอกาสในการแสดงตัวตน ปรัชญา แนวคิด และค่านิยมของผู้ประกอบการและธุรกิจ            และเป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าและภาพลักษณ์ของธุรกิจในมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งลูกค้า คู่ค้า            ซัพพลายเออร์ ชุมชน และประชาชน เช่น การไม่ค้ากำไรเกินควร การไม่ขายสินค้าคุณภาพต่ำ การจ่ายค่าสินค้าตรงเวลา การพยายามรักษาการจ้างงานอย่างถึงที่สุด การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการช่วยเหลือสังคม เป็นต้น ทั้งนี้การที่ธุรกิจแสดงความรับผิดชอบและยื่นมือไปช่วยเหลือผู้อื่น แม้ในยามที่ธุรกิจเองก็มีความยากลำบากจะทำให้เกิดทุนความดีและทุนด้านชื่อเสียง ที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจในอนาคต

          ธุรกิจหลังยุคโควิด-19 จึงมีแนวโน้มเป็นธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โดยจะก้าวไปไกลกว่าการทำกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเพียงเพื่อจะได้รับภาพลักษณ์ที่ดีเท่านั้น แต่จะเป็นธุรกิจที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและมีส่วนในการสร้างชาติ อีกทั้งการทำธุรกิจบนความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เป็นการสร้างความเลอค่าให้กับธุรกิจเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในอนาคตจะให้คุณค่าและยอมจ่ายราคากับสิ่งอื่น ที่นอกเหนือจากคุณสมบัติของสินค้าและบริการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าที่ธุรกิจได้มอบให้แก่สังคมและประเทศชาติ

          โดยสรุปจะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจหลังยุคโควิด-19 จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทุกธุรกิจจะต้องเริ่มต้นคิดใหม่ วางแผนใหม่ ปรับรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับความปกติใหม่หลังยุคโควิด-19 เพื่อที่จะสามารถมองหาโอกาสและความเป็นไปได้ โดยการประเมินและวิเคราะห์ภาพคาดการณ์อนาคต ทั้งภาพที่พึงประสงค์และภาพที่แย่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อันนำไปสู่การตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจและต่อสังคมได้อีกด้วย
 

 


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ทีมงาน ThaiEurope.net

 

 

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 24 กรกฎาคม 2563

2317 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย