หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนมิถุนายน 2563)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนมิถุนายน 2563)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนมิถุนายน 2563)
 
          ข้อมูลเดือนเมษายน 2563 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลง เพราะราคาน้ำมันมีการปรับตัวลดลงไปเป็นอย่างมาก ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดมีทิศทางที่ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากเท่าไรนัก ส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่หดตัวลงมาค่อนข้างสูง ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ในเดือนนี้คำสั่งซื้อมีการปรับตัวลดลงตามภาวะของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่หดตัวลงไปเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวมากขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าสูงขึ้น เนื่องจากประชาชนได้มีการออมมากขึ้นหลังจากที่การลงทุนในประเภทอื่นๆ มีความผันผวนสูงตามปัจจัยเสี่ยงจากโควิด-19 ที่ได้เกิดขึ้น จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้น ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อจึงมีการปรับตัวที่สูงขึ้น แต่ก็ยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

 มกราคม 63

กุมภาพันธ์ 63

มีนาคม 63

เมษายน 63

ดัชนีราคาผู้บริโภค

102.78

102.70

101.82

99.75

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

103.04

100.18

103.02

75.85

อัตราการใช้กำลังการผลิต

66.75

66.06

67.78

51.87

ดุลการค

383.21

5,394.19

2,272.57

2,530.14

ดุลบัญชีเดินสะพัด

3,444.40

5,381.63

696.57

-654.05

เงินฝาก

14,290.71

14,349.79

15,236.22

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

15,618.78

15,674.82

16,318.84

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                             หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                                                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
                       ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนเมษายน 2563
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ เม.ย. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ เม.ย. 62

29,636

-42.85%

ณ เม.ย. 63

24,514

-17.28%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ เม.ย. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

10,274

41.91

บ้านเดี่ยว

9,001

36.72

ทาวน์เฮ้าส์

3,728

15.21

บ้านแฝด

938

3.82

อาคารพาณิชย์

573

2.34

รวม

24,514

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        -การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ เม.ย. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ เม.ย. 62

57,845

4.53%

ณ เม.ย. 63

55,878

-3.40%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ เม.ย. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

27,131

48.55

ทาวน์เฮ้าส์

16,787

30.04

บ้านเดี่ยว

7,673

13.73

อาคารพาณิชย์

2,155

3.86

บ้านแฝด

2,132

3.82

รวม

55,878

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


 

  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่บุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
    - สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ณ ไตรมาส 1 ปี 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 138,238 ล้านบาท หดตัวลดลง 12.99% จาก ณ ไตรมาส 1 ปี 62 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 158,872 ล้านบาท
     
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
    - สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไป ณ ไตรมาส 1 ปี 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,028,974 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.05% จาก ณ ไตรมาส 1 ปี 62 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 3,872,200 ล้านบาท
     
  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 63

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม

5.95

1.25

กุมภาพันธ์ 5.93 1.00
มีนาคม 5.83 0.75
เมษายน 5.50 0.75

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
                      หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, 
             ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนเมษายน 2563

          ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 17.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิค-19 ทำให้ผู้ประกอบการมีการชะลอพัฒนาโครงการออกมา ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงไป ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.40% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีความเข้มงวด เนื่องจากทิศทางของหนี้ด้อยคุณภาพมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการหดตัวลงมาตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจมีการหดตัวลงไป ส่งผลทำให้มีการปรับตัวลดลงมา 12.99% ณ ไตรมาส 1 ปี 63 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 5.50% แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงที่อยู่ที่ 0.75%  
 

วิเคราะห์ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ต้องระวัง*

             
          ช่วงนี้ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 เริ่มมีการรายงานออกมาจากประเทศต่างๆ ซึ่งตัวเลขชี้ให้เห็นชัดเจนถึงผลกระทบที่รุนแรงของวิกฤติโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจทั่วโลก การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ในทุกประเทศอุตสาหกรรมหลักออกมาติดลบ เช่น สหรัฐอเมริกา -4.8% กลุ่มสหภาพยุโรป -3.8% อังกฤษ -2.2% เท่ากับเยอรมนี อิตาลี -4.7% และหนักสุดฝรั่งเศส -5.8% สำหรับเอเชีย การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกติดลบ 6.8% ญี่ปุ่น -3.4% และไทยที่ติดลบ 1.8%
 
          นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของปี และช่วงไตรมาส 2 คือเดือน เม.ย. ถึง มิ.ย. การหดตัวของเศรษฐกิจคงจะมีมากขึ้น จากมาตรการล็อคดาวน์เศรษฐกิจที่เกือบทุกประเทศใช้ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะติดลบมากกว่าไตรมาส 1 ในทุกประเทศ และการที่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส ถือเป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ หรือ Recession ดังนั้นชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะถดถอย คำถามคือ ภาวะถดถอยนี้จะนานแค่ไหน และจะแย่กว่านี้หรือไม่ในช่วงครึ่งหลังของปี
 
          ในขณะที่ไอเอ็มเอฟประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจากหลายประเทศชี้ว่าผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจโลกนั้น รุนแรงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม คืออาจติดลบถึง 3% ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปีหน้ามีความไม่แน่นอน และอาจลากยาวกว่าที่ประเมินไว้ หมายความว่าการฟื้นตัวแบบตัววีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจไม่เกิดขึ้น ตรงกันข้ามการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้เวลาและอาจลากยาวถึงปีหน้า แต่จะยาวแค่ไหนคงขึ้นอยู่ว่าจากนี้ไปจะมีปัจจัยลบอื่นๆ หรือไม่ ที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจ รวมถึงความเข้มแข็งของนโยบายที่ภาคทางการของประเทศต่างๆ จะดำเนินการที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
 
          ในประเด็นนี้ถ้าจะเข้าใจง่ายๆ ก็คือ จากจุดนี้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาใหม่หลังจากประเทศต่างๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นควรทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่จะไปได้ดีหรือเร็วแค่ไหน จะขึ้นอยู่กับปัจจัยและความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจจากนี้ไป รวมถึงนโยบายของภาคทางการที่จะออกมา นี่คือ ความเสี่ยง คือจะมีปัจจัยลบอีกหรือไม่ที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจถูกกระทบ ทำให้การฟื้นตัวสะดุดและต้องล่าช้าออกไป
 
          ในเรื่องนี้องค์กรเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรรัม (World Economic Forum) ได้ออกรายงานผลสำรวจความเห็นนักบริหารความเสี่ยงมืออาชีพทั่วโลก 350 คน ว่าประเมินความเสี่ยงที่จะมากระทบเศรษฐกิจและธุรกิจจากนี้ไปอย่างไร โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งคำตอบที่ได้คือ 10 ความเสี่ยงสำคัญที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญขณะนี้เรียงตามลำดับดังนี้
          1. ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลากยาว
          2. ภาวะล้มละลายในภาคธุรกิจทั้งบริษัทใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี
          3. อุตสาหกรรมสำคัญที่อาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ เช่น ธุรกิจการบิน
          4. การว่างงานที่สูงและนาน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว
          5. การจำกัดการเดินทางและการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดน
          6. ปัญหาหนี้และฐานะการคลังของประเทศ โดยเฉพาะจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังทำกันอยู่
          7. ผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต
          8. วิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่จากปัญหาหนี้ที่มีอยู่
          9. การระบาดของอาชญากรรมไซเบอร์และการขโมยข้อมูล
          10. การระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 หรือโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น
 
          นี่คือความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจกังวล ซึ่งถ้าเกิดขึ้นโดยเฉพาะถ้าหลายความเสี่ยงเกิดขึ้นพร้อมกันก็จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยากและล่าช้าออกไป เป็นความห่วงใยที่มีเหตุมีผล เพราะหลังการผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง กิจกรรมเศรษฐกิจคงจะยังอ่อนแอ การว่างงานจะมีมากและในบางประเทศจะยืนอยู่ในระดับสูง ขณะที่บริษัทธุรกิจเองโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีก็ยังอ่อนแอ บางรายสู้ไม่ไหวต้องปิดกิจการ บางอุตสาหกรรมไม่สามารถฟื้นได้ เพราะประชาชนไม่ใช้จ่ายหรือเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้จ่าย เช่น การท่องเที่ยวซึ่งกระทบธุรกิจการบิน นโยบายควบคุมการระบาดระหว่างประเทศอาจกระทบการเคลื่อนย้ายสินค้าและการเดินทางข้ามพรมแดน กระทบห่วงโซ่การผลิต ทำให้การผลิตมีต้นทุนมากขึ้น หรือมีข้อจำกัดจนขยายการผลิตไม่ได้ ในบางประเทศการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐอาจทำให้ฐานะการคลังของประเทศอ่อนแอ และจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ถ้าเศรษฐกิจของประเทศไม่ฟื้นตัว ในประเทศที่ภาคเอกชนมีหนี้สูง ความอ่อนแอของเศรษฐกิจก็อาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นในภาคเอกชน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นกว้างขวางจนเป็นปัญหาเชิงระบบก็อาจนำไปสู่การเกิดเป็นวิกฤติการเงินได้ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ความเสี่ยงของการกลับมาระบาดรอบ 2  รอบสามของโควิด-19 หรือมีการระบาดในรูปแบบอื่นทำให้ทางการต้องกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองเข้าควบคุมอีก ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมาก
 
          โดยสรุปจะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้คือความเสี่ยงที่จะทำให้กระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากนี้ไปมีความไม่แน่นอนสูง เป็นเรื่องที่ทั้งภาคเอกชนและภาคทางการจะต้องตระหนักและช่วยกันระมัดระวัง เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในกรณีของไทยที่ต้องระวังมาก คือการกลับมาระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 หลังมาตรการผ่อนคลาย ซึ่งมีให้เห็นแล้วในหลายประเทศในเอเชีย ทำให้ไทยจะประมาทไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจถูกกระทบตามมาด้วย

 
วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจถดถอยและตกต่ำ
 

           เศรษฐกิจถดถอย คือ Recession กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง หรือ Great Depression นั้น ต่างกันอย่างไร และมีโอกาสไหมที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเศรษฐกิจโลกขณะนี้จะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงในอนาคต จากความเสี่ยงต่างๆ แต่ต้องบอกว่าตอบยาก เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงนั้นเกิดขึ้นครั้งเดียวในรอบ 90 ปีที่ผ่านมา และความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นการเรียนรู้กันอยู่ แต่ที่แน่ๆ คือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้นรุนแรงกว่าเศรษฐกิจถดถอยมาก คือ เศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวหรือตกต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้น 90 ปีที่แล้ว ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำกินเวลานานเกือบ 4 ปี คือ เกิดระหว่างเดือน ส.ค. ปี 1929 ถึง มี.ค.1933 นาน 43 เดือน และหลังจากขยายตัวได้ 1 ปี เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็กลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีก
 
          นอกเหนือจากการหดตัวของเศรษฐกิจในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันก็คือมีการว่างงานในระดับที่สูงต่อเนื่องตลอดช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ คือ อัตราการว่างงานสูงเกิน 10% ราคาสินค้าปรับลดลงต่อเนื่อง คือ เกิดภาวะเงินฝืดพร้อมกันไปด้วย ธุรกิจต้องปิดตัวลงมากจนกระทบฐานะของธนาคารพาณิชย์ มีธนาคารจำนวนมากต้องปิดกิจการ ทำให้ผู้ฝากเงินกับธนาคารเหล่านี้เสียหาย และจำนวนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและกระทบไปทั่วโลก ผ่านการลดลงของการค้าระหว่างประเทศ และการดึงกลับของเงินลงทุนต่างประเทศ ทำให้หลายประเทศถูกกระทบในลักษณะเดียวกัน ช่วงปี 1930s ที่เกิดปัญหาขึ้น เศรษฐกิจไทยช่วงนั้นก็ถูกกระทบ ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลง กระทบการส่งออกและรายได้ของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหาด้วยการลดเงินเดือนข้าราชการและเพิ่มภาษี เพื่อให้มีรายได้พอที่จะใช้จ่าย ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง หมายถึงเศรษฐกิจที่ทรุดลงแบบซึมยาวที่ลึกและนาน
 
           ต่อคำถามที่ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเปลี่ยนไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงได้อย่างไร ในเรื่องนี้ ถ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1929 และปีต่อๆ มา จะเห็นว่าปัญหาเริ่มจากการปรับลดรุนแรงของตลาดหุ้นเมื่อเดือน ต.ค. ปี 1929 ถือเป็นจุดเริ่มต้น หรือตัวกระตุ้นต่อสถานการณ์ที่นำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการว่างงาน แต่หลังจากนั้นมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากระทบ ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอมากขึ้นจนเกิดเป็นเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง ซึ่งปัจจัยที่เข้ามากระทบที่สำคัญในช่วงนั้นที่นักเศรษฐศาสตร์พูดกันมากคือ การดำเนินนโยบายของรัฐที่แทนจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว กลับทำให้เศรษฐกิจยิ่งอ่อนแอจนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง เช่น การตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่กระทบการส่งออก การประหยัด ลดการใช้จ่าย และขึ้นภาษีของภาครัฐ เพื่อดูแลฐานะการคลังของประเทศ ที่ทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศยิ่งชะลอ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งมีผลต่อความต้องการใช้จ่ายในประเทศ เหล่านี้คือตัวอย่างของนโยบายในช่วงนั้นที่มีผลซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจ
 
           กลับมาดูเหตุการณ์ปัจจุบัน การปรับลดของตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นหลังการระบาดของไข้หวัดโควิด ยังไม่ลึกมากเมื่อเทียบกับปี 1929 และหลังจากนั้นนโยบายของภาคทางการก็เข้าไปช่วยเหลือเพื่อฟื้นเศรษฐกิจเต็มที่ ตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1929 คือมีการลดอัตราดอกเบี้ยและอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด ทำให้ตลาดหุ้นที่ปรับลดลงสามารถประคองตัวได้ ไม่ปรับลดต่อเนื่อง ด้านการคลัง เกือบทุกประเทศ กู้เงินเพื่อนำมาฟื้นเศรษฐกิจ เฉลี่ยประมาณ 8-10% ของรายได้ประชาชาติ และยกเว้นกรณีสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา การปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรเพื่อปกป้องการผลิตภายในประเทศยังไม่เกิดขึ้น และคงไม่เกิดขึ้นเป็นการทั่วไป ด้วยนโยบายเหล่านี้ เศรษฐกิจโลกน่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายในแง่การฟื้นตัว เทียบกับที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1929 - 30 แสดงว่าผู้ทำนโยบายได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากเหตุการณ์ในอดีต และพยายามหลีกเลี่ยงนโยบายที่อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจ
 
           นอกเหนือจากนโยบายแล้วจะมีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ที่ถ้าเกิดขึ้นสามารถมีพลังทำให้ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกขณะนี้จะแย่ลงจนมีความเสี่ยงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงอาจเกิดขึ้น ในประเด็นนี้ต้องยอมรับว่าตอบยากมาก แต่มี 3 เรื่อง ที่ควรระมัดระวังและตั้งการ์ดสูงเพื่อลดความเสี่ยง แม้ในบางเรื่องโอกาสเกิดขึ้นจะน้อย แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะโลกขณะนี้เป็นโลกของความไม่แน่นอนที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง
 
          1. วิกฤติการเงิน ซึ่งทุกครั้งจะเกิดจากความเป็นหนี้ที่มีมากเกินไป จนเศรษฐกิจที่ชะลอลงทำให้การชำระหนี้มีปัญหา เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้างจนกระทบเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ กลายเป็นวิกฤติการเงิน หนี้ในที่นี้หมายถึง หนี้ภาครัฐ หนี้บริษัทเอกชน และหนี้ครัวเรือน ดังนั้นประเทศใดมีหนี้สูงในทั้งสามประเภทต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
 
           2. การกลับมาระบาดรอบ 2 รอบ 3 ของไวรัสโควิด ในขนาดที่ทางการจำเป็นต้องแก้ปัญหาการระบาดด้วยการปิดเมืองอีก ทำให้เศรษฐกิจถูกกระทบมาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงักและส่งผลกระทบต่อความสามารถในการหารายได้ และการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ครัวเรือน และภาครัฐ แต่ผลกระทบลักษณะนี้อาจเป็นผลกระทบของโรคระบาดอื่นที่ไม่ใช่โควิดก็ได้ หรือเป็นผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่กระทบหลายประเทศพร้อมกัน ที่ทำให้การผลิตในระบบเศรษฐกิจโลกถูกกระทบ
 
           3. สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่บานปลายเป็นสงครามเย็น หรือประทุขึ้นเป็นข้อพิพาธที่รุนแรงเฉพาะจุด เฉพาะพื้นที่ ทำให้สถานการณ์ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงในภูมิศาสตร์การเมืองโลกตึงเครียด สร้างความไม่แน่นอน กระทบกิจกรรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

 


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.บัณฑิต นิจถาวร เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

 

 

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 19 มิถุนายน 2563

1473 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย