หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนพฤษภาคม 2563)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนพฤษภาคม 2563)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนพฤษภาคม 2563)
 
          ข้อมูลเดือนมีนาคม 2563 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลง เพราะราคาน้ำมันเริ่มค่าที่ปรับตัวลดลงไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดมีทิศทางที่ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากเท่าไรนัก ส่งผลทำให้ราคายังมีทิศทางหดตัวลงมา ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้มีการชะลอตัวไปในช่วงก่อนหน้านั้นไปค่อนข้างมาก ทำให้ในเดือนนี้เริ่มกลับมาผลิตสินค้าได้บ้าง ส่งผลให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ปรับตัวขยายขึ้นมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวน้อยลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าสูงขึ้น เนื่องจากประชาชนได้มีการออมมากขึ้นหลังจากที่การลงทุนในประเภทอื่นๆ มีความผันผวนสูงตามปัจจัยเสี่ยงจากโควิดที่ได้เกิดขึ้น จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้น ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อจึงมีการปรับตัวที่สูงขึ้น แต่ก็ยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

 ธันวาคม 62

มกราคม 63

กุมภาพันธ์ 63

มีนาคม 63

ดัชนีราคาผู้บริโภค

102.62

102.78

102.70

101.82

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

97.87

103.04

100.18

102.13

อัตราการใช้กำลังการผลิต

64.02

66.75

66.06

67.22

ดุลการค้า

1,889.30

383.21

5,394.19

2,272.57

ดุลบัญชีเดินสะพัด

4,206.58

3,444.40

5,381.63

696.57

เงินฝาก

14,332.52

14,290.71

14,349.79

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

15,629.10

15,618.78

15,674.82

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                             หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                                                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
                       ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนมีนาคม 2563
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มี.ค. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ มี.ค. 62

24,241

-40.80%

ณ มี.ค. 63

21,260

-12.30%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ มี.ค. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

9,297

43.73

บ้านเดี่ยว

7,559

35.56

ทาวน์เฮ้าส์

3,130

14.72

บ้านแฝด

794

3.73

อาคารพาณิชย์

480

2.26

รวม

21,260

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        -การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มี.ค. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ มี.ค. 62

47,770

13.46%

ณ มี.ค. 63

45,678

-4.38%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ มี.ค. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

22,329

48.88

ทาวน์เฮ้าส์

13,716

30.03

บ้านเดี่ยว

6,143

13.45

อาคารพาณิชย์

1,749

3.83

บ้านแฝด

1,741

3.81

รวม

45,678

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


 

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 63

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม

5.95

1.25

กุมภาพันธ์ 5.93 1.00
มีนาคม 5.83 0.75

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
                      หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, 
             ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนมีนาคม 2563

          ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 12.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิค-19 ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมีการชะลอพัฒนาโครงการออกมา ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงไป ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 4.38% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีความเข้มงวด เนื่องจากทิศทางของหนี้ด้อยคุณภาพมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 5.83% และ 0.75% ตามลำดับ

วิเคราะห์ทิศทางภาคการคลังภายหลัง COVID-19*

         
          ปัจจุบันทางการทั่วโลกต่างเร่งมาตรการการคลัง เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ทำให้เม็ดเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.1% ของ GDP ขณะที่ในไทย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท (5.9% ของ GDP) เพื่อใช้ในการบรรเทาผลกระทบ ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ดังนั้นถ้าวิกฤติยิ่งแย่ เช่น การติดเชื้อรอบที่ 2 กลับมาอีก อาจทำให้เศรษฐกิจต้องปิดตัวนานขึ้น แล้วก็ต้องใช้งบประมาณเยียวยามากขึ้น ในขณะที่ได้เคยคาดการณ์ว่าหลังวิกฤติสิ้นสุดลง หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น ภาระรายจ่ายทางการคลังจะมากขึ้น และการเก็บภาษีจะมากขึ้น ในบทความนี้จึงขอลงรายละเอียดว่าแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ที่สูงขึ้นเป็นเช่นไร โดยปกติแล้วเมื่อรัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้น จะมี 4 วิธีในการจัดการกับหนี้ดังรายละเอียดต่อไปนี้
 
          1. ขึ้นภาษีและลดรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นแนวทางแบบปกติที่รัฐจะคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษในช่วงหลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ รัฐบาลปรับลดรายจ่าย 3.5-6.0% ของ GDP ขณะที่เก็บภาษีเพิ่มขึ้น 1-2% ของ GDP ขณะที่ของไทยเอง หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลปรับลดงบประมาณรายจ่ายถึง 2.6% ของ GDP ติดต่อกัน 4 ปี อย่างไรก็ตามสำหรับวิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ การลดรายจ่ายและเพิ่มภาษีหลังโรคระบาดจะทำได้ยาก เนื่องจากสาเหตุดังนี้
          • เศรษฐกิจโลกจะโตต่ำลงและยาวขึ้น เพราะการฟื้นตัวของภาคบริการต้องใช้เวลา ขณะที่ภาคเอกชน (ทั้งครัวเรือนและบริษัท) จะใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น
          • รายจ่ายภาครัฐจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพ นอกจากนั้นประเด็นด้านการเมืองจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกเต็มไปด้วยคนสูงอายุ ทำให้แนวโน้มในการขึ้นภาษีและลดรายจ่ายด้านสวัสดิการทำได้ยากขึ้น (เพราะหากทำจริง รัฐบาลปัจจุบันอาจไม่ได้รับเลือกตั้งอีก)
 
          2. การเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ เพราะจะทำให้มูลหนี้ที่แท้จริงลดลง โดยเฉพาะหากรัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจที่รวมเงินเฟ้อ (Nominal GDP : NGDP) เติบโตได้ดีกว่าภาระดอกเบี้ย ตัวอย่างที่ดีได้แก่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 112% และ 259% และค่อยๆ ลดลงจนไปอยู่ที่ 26% และ 43% ในทศวรรษที่ 80 ซึ่งเป็นผลจากการปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับการกดดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ (Financial repression)
 
          3. การผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากรัฐไม่มีรายได้พอจ่ายภาระดอกเบี้ย เช่น กรีซในช่วงวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป ซึ่งการผิดนัดนี้ในปัจจุบันค่อนข้างยาก เนื่องจากตลาดการเงินในปัจจุบันเชื่อมโยงกันมาก การผิดนัดย่อมทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นมาก กระนั้นก็ตามสำนักวิจัย EIU มองว่าภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า ประเทศในยูโรโซน เช่น กรีซและอิตาลี รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น แอฟริกาใต้ บราซิล และอาร์เจนตินา มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้
 
          4. การให้ธนาคารกลางรับซื้อหนี้สาธารณะของรัฐบาล (Monetize fiscal deficit) หรือการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดการเงิน หรือ QE แบบปกติ ที่ปัจจุบันธนาคารกลางสำคัญได้ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง (มากกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือน มี.ค. สูงสุดเป็นประวัติการณ์) เพื่อป้องกันวิกฤติสภาพคล่อง (Liquidity crisis) หรือจะเป็นการเข้าซื้อในตลาดแรก (หรือที่เรียกว่า Modern Monetary Theory : MMT) เพื่อให้รัฐบาลสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านตลาดรอง
 
          ข้อดีข้อหนึ่งของการทำ QE ไม่ว่าจะทางตรง-อ้อม คือสามารถกดผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลให้อยู่ระดับต่ำได้ โดยผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ลดลงจากระดับประมาณ 4% ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์มาอยู่ที่ 0.6% และ -0.4% ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการทำ QE ของทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งระดับผลตอบแทนที่ลดลง ก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลและภาคเอกชนถูกลง 
 
          แต่ความเสี่ยงหลักหนึ่งของการทำ QE คือ หากเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ธนาคารกลางจะมี 2 ทางเลือกคือ
          • หยุด QE และขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ซึ่งจะดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของรัฐและเอกชนพุ่งขึ้น
          • ยังคงดอกเบี้ยต่ำและ QE ต่อไป ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลง 
 
          อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหลังจากหมดวิกฤติ COVID-19 แล้ว ทางการทั่วโลกจะใช้การผสมกันระหว่างวิธีที่ 1, 2 และ 4 ในการจัดการปัญหาหนี้ กล่าวคือจะขึ้นภาษีบ้าง โดยเฉพาะภาษีฐานทรัพย์สิน และให้ธนาคารกลางรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลของรัฐ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบและกดผลตอบแทนพันธบัตรให้อยู่ระดับต่ำผ่านการทำ Yield Curve Control ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงปล่อย (Tolerate) ให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อทำให้หนี้สาธารณะลดลง
 
          โดยสรุปจะเห็นได้ว่าเมื่อภาพแนวนโยบายภาคการคลังของโลกเป็นเช่นนี้ แนวนโยบายการคลังของไทยก็ไม่ควรจะแตกต่างกันมาก โดยมีข้อเสนอแนะแนวนโยบายการคลังการเงินของไทย ดังนี้
 
           1. แม้ว่าภาครัฐจะมี พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจจาก COVID-19 แล้วนั้น ยังเห็นว่าในส่วน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 แบบปกติ รัฐบาลไม่ควรลดทอนงบลงทุนลง แต่ควรจะเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็ปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำลงในระดับเดียวกันกับการเพิ่มรายจ่ายลงทุน รวมถึงหยุดการว่าจ้างข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราวใหม่
 
           2. นโยบายการเงินก็ควรสอดประสานกัน โดย ธปท. ควรลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ทำมาตรการ QE รวมถึงประกาศ Yield Curve Control เพื่อช่วยกดรายจ่ายดอกเบี้ยของรัฐ ลดค่าธรรมเนียม FIDF เหลือ 0% ลงชั่วคราว ประกาศคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน นอกจากนั้น ธปท. ควรเพิ่มเป้าหมายเงินเฟ้อให้ได้ 4-5% ซึ่งจะทำได้โดยการทำให้ดัชนีค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้า (NEER) อ่อนค่าลง 20% ใน 2 ปี ซึ่งการทำเช่นนั้นจะทำให้ GDP ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และลดทอนมูลหนี้สาธารณะลงได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือแนวนโยบายการเงินการคลัง เพื่อที่จะให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในโลกยุคหลัง COVID-19 เป็นอย่างดี
 
วิเคราะห์ภาพอนาคตของไทยภายหลัง COVID-19
 
           สถานการณ์ COVID-19 เป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องและคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 18 เดือนจนกว่าจะมีวัคซีน โดยไทยเป็นประเทศที่มีการจัดการได้ดี ยังคงสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไว้ได้ แต่การบริหารจัดการสถานการณ์ก็ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกมิติของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้สถานการณ์ COVID-19 ยังตั้งคำถามใหญ่ถึงกระบวนทัศน์ในการพัฒนาและการใช้ชีวิตของมนุษย์ เมื่อพฤติกรรมประชาชน ผู้บริโภค และธุรกิจ ปรับเปลี่ยนไป โลกหลังโควิดจึงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งนี้อาจแบ่งอนาคตประเทศไทยเป็น 4 ระยะ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
 
          ระยะที่ 1 Restriction : ระยะพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
  การปิดเมืองและการเข้มงวดในการเดินทางส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ประชาชนกลับต่างจังหวัด ธุรกิจขาดสภาพคล่อง คนจนขาดรายได้ คนว่างงานเพิ่มมาก เกิดหนี้เสียและล้มละลาย รัฐช่วยเหลือทั้งทางการเงิน การคลังและเงินเยียวยา ประชาชนอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน บางส่วนตื่นตระหนก กักตุนสินค้าจำเป็นบางจนขาดแคลนหรือราคาสูง การท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องได้รับผลกระทบหนัก รวมถึงธุรกิจบริการที่ปิดชั่วคราว ธุรกิจและพนักงานบางส่วนหันไปทำงานที่บ้าน ประชาชนเรียนรู้ป้องกันตนเอง รัฐเร่งเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ กลุ่มเปราะบางต้องการความช่วยเหลือสูง ประชาชนเครียด วิตกไม่กล้าออกจากบ้าน การสื่อสารช่วงแรกสับสน เฟคนิวส์ระบาด มหาวิทยาลัยปิดตัวชั่วคราว เปลี่ยนไปเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นหลัก แต่นักศึกษายากจนบางส่วนขาดอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต
 
          ระยะที่ 2 Reopening : ระยะผ่อนคลายการควบคุม
          ธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดตัวบางส่วน ธุรกิจปรับตัวไปสู่ออนไลน์เป็นหลัก ธุรกิจอาหาร สุขภาพ การศึกษา ได้รับความนิยม ธุรกิจที่อ่อนแอทยอยปิดกิจการ ธุรกิจอื่นรัดเข็มขัด ชะลอการลงทุน พนักงานที่ตกงานเริ่มปรับตัว เพิ่มทักษะ ย้ายไปทำงานอื่นหรือกลับท้องถิ่น การว่างงานเพิ่ม กลุ่มเปราะบางมีปัญหาหนัก คนตกงานหันไปพึ่งเศรษฐกิจในชุมชน รัฐเตรียมการรับการระบาดของคลื่นต่อไป การระบาดยังกลับมาเป็นระยะ มีนวัตกรรมด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น คนตกงานจำนวนมาก เงินออมหมด เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่ม มีการประท้วงให้ช่วยเหลือคนที่เข้าไม่ถึงมาตรการ รัฐให้สวัสดิการโดยใช้ Big Data แต่ยังไม่สมบูรณ์การตกงานส่งผลกระทบต่อปัญหาครอบครัวและสังคม ประชาชนปรับตัวได้บ้างแต่รู้สึกไม่มั่นคงในอนาคต คนเริ่มกลับมาพบกันในกลุ่มสนิท โรงเรียนเปิดภายใต้การป้องกันเข้มงวด ผู้ปกครองบางส่วนให้ลูกเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน รัฐลงทุนจ้างงานชั่วคราวนักศึกษาที่เพิ่งจบและตกงาน
 
          ระยะที่ 3 Recovery : ระยะการฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย
          นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาบ้าง ธุรกิจบางส่วนเริ่มกลับมาปกติ แต่ยังรัดเข็มขัดและพยายามลดขนาดขององค์กร ไทยเป็นที่ต้องการในฐานะเป็นแหล่งอาหารของโลก ออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติใหม่ (New Normal) Work From Home กลายเป็นเรื่องปกติ หลายคนกลับไปทำงานที่บ้านเกิด (Work From Hometown) เกิดเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า แต่ดีขึ้น เริ่มมีช่องทางธุรกิจใหม่ๆ คนจนเมือง กลุ่มเปราะบางยังไม่ฟื้นตัว รัฐลงทุนสร้างงานขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเปิดโครงการใหญ่ให้คนมาเพิ่มทักษะ คนกลับมาทบทวนคุณค่าของชีวิต กลับไปทำงานที่ท้องถิ่นและงานที่ตนรัก ผู้คนสนใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ประชาชนยังมีความกังวล จนกว่าจะมีวัคซีน รัฐให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีแรงผลักดันให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เกิดนวัตกรรมในระดับชุมชน
 
          ระยะที่ 4 Restructuring : ระยะการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและการปรับตัวของสังคมใหม่ (Social New Normal)
          ประเทศทั่วโลกมุ่งพึ่งพาตนเองมากขึ้น รัฐบาลผลักดันโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืนขึ้นอย่างจริงจัง เช่น BCG (Bio-Circular-Green Economy) โลกเปลี่ยนเป็น Regional Supply Chain และมีแผนสำรองหาก Supply Chain หยุดชะงัก โรงงานปรับตัวสู่โรงงาน 4.0 ที่อยู่อาศัยปรับเป็น Mixed Use เพื่อทำงานและใช้ชีวิตไปพร้อมกัน รัฐให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์ เช่น อาหาร พลังงาน สุขภาพ และงาน การท่องเที่ยวกลับมาแบบมีคุณภาพ Virtual Tourism เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจท่องเที่ยว ธุรกิจปรับตัวเข้มแข็ง ความคล่องตัว (Agile) พื้นที่ออฟฟิศลดลง ธุรกิจและพนักงานตัวจริงจะเหลือรอด บริษัทส่วนใหญ่มีแผนจัดการวิกฤติ ฟรีแลนซ์มากขึ้น รัฐจึงออกแบบระบบประกันใหม่รองรับฟรีแลนซ์ การบริโภคฟุ่มเฟือยลดลง เน้นคุณภาพชีวิต 5G กระจายไปถึงทุกท้องถิ่น สร้างโอกาสธุรกิจให้ชุมชน เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโต รัฐเตรียมรับสังคมสูงวัยอย่างเข้มข้น พลเมืองตื่นตัว ประชาชนมีความรู้ดีขึ้น ทั้งด้านการเงิน ICT และสุขภาพ สังคมให้ความสำคัญกับเรื่องความไว้วางใจ (Trust) ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ในประเทศ ประชาชนหันมาสู่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลายประเทศมาเรียนรู้จากไทย สังคมให้คุณค่ากับความมั่นคงในชีวิตสูงขึ้น การรับราชการได้รับความนิยม
 
          โดยสรุปจะเห็นได้ว่าที่กล่าวมาเป็นภาพรวมของอนาคตประเทศไทย ที่ยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การดิสรัปของเทคโนโลยี ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและโรคระบาดใหม่ในอนาคต ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันมองให้ไกลไปในอนาคต เพื่อเตรียมการรับมือวิกฤติเชิงซ้อนของโลก พร้อมกับเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสำคัญในการ Transform ประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

 


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ "Global Vision"

 

 

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 22 พฤษภาคม 2563

2396 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย