หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนมีนาคม 2563)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนมีนาคม 2563)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนมีนาคม 2563)
 
          ข้อมูลเดือนมกราคม 2563 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำมันมีค่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็ยังมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมา ส่งผลทำให้ราคามีทิศทางขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลต่างๆ ทำให้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งการผลิตสินค้าให้ทันกับคำสั่งซื้อที่มีเข้ามา จึงทำให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ขยายตัวสูงขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวลดลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนได้มีการออมมากขึ้นหลังจากที่ภาวะตลาดทุนมีความผันผวน ส่งผลให้การออมเงินมีการปรับตัวสูงขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารได้ทยอยปล่อยสินเชื่อมา ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อจึงมีการขยายตัวได้เล็กน้อย แต่ก็ยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

 ตุลาคม 62

พฤศจิกายน 62

ธันวาคม 62

มกราคม 63

ดัชนีราคาผู้บริโภค

102.74

102.61

102.62

102.78

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

96.50

97.36

97.87

102.38

อัตราการใช้กำลังการผลิต

62.79

63.19

64.02

66.48

ดุลการค้า

2,089.98

1,969.10

1,889.30

383.21

ดุลบัญชีเดินสะพัด

2,905.19

3,375.16

4,108.67

3,444.40

เงินฝาก

14,270.06

14,276.45

14,332.52

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

15,485.94

15,498.99

15,629.10

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                             หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                                                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
                       ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนมกราคม 2563
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ม.ค. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ม.ค. 62

4,153

-60.12%

ณ ม.ค. 63

10,109

143.41%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ม.ค. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

5,628

55.67

บ้านเดี่ยว

2,648

26.19

ทาวน์เฮ้าส์

1,336

13.22

บ้านแฝด

294

2.91

อาคารพาณิชย์

203

2.01

รวม

10,109

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        -การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ม.ค. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ม.ค. 62

12,779

15.63%

ณ ม.ค. 63

11,795

-7.70%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ม.ค. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

5,858

49.67

ทาวน์เฮ้าส์

3,348

28.38

บ้านเดี่ยว

1,662

14.09

อาคารพาณิชย์

526

4.46

บ้านแฝด

401

3.40

รวม

11,795

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 

 
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่บุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
    - สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ณ ไตรมาส 4 ปี 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 171,252 ล้านบาท หดตัวลดลง 11.17% จาก ณ ไตรมาส 4 ปี 61 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 192,805 ล้านบาท
     
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
    - สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไป ณ ไตรมาส 4 ปี 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,010,235 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.67% จาก ณ ไตรมาส 4 ปี 61 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 3,795,009 ล้านบาท
     
  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 63

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม

5.95

1.25

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
                      หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, 
             ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนมกราคม 2563

          ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 143.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเริ่มมีปัจจัยบวกเข้าบ้างในส่วนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีความชัดเจน ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการเริ่มมีการพัฒนาโครงการออกมา ทำให้อุปทานในตลาดมีการขยายตัวขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์มีหดตัว 7.70% เพราะการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเริ่มเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากทิศทางของหนี้ด้อยคุณภาพมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และ บ้านเดี่ยว ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการหดตัวตามความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ส่งผลทำให้มีการปรับตัวลดลงมาที่ 11.17% ณ ไตรมาส 4 ปี 62 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 5.95% 
 

วิเคราะห์ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว*

          ปัจจุบันเป็นห่วงกันว่าเศรษฐกิจไทยคงจะขยายตัวได้น้อยมากในครึ่งแรกของปีนี้ เพราะมีปัจจัยลบต่างๆ รุมเร้า ได้แก่
          1. ความตื่นตระหนกเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาที่ยังมีการระบาดอยู่
          2. ปัญหาภัยแล้งที่จะรุนแรงยิ่งขึ้นในไตรมาส 2 
          3. ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไรดีขึ้นและน่าจะเป็นปัญหาเช่นนี้ทุกๆ ปีจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่สำคัญ เช่น การใช้รถไฟฟ้าแทนรถที่ใช้เครื่องสันดาปภายใน
          4. ความล่าช้าของการผ่านกฎหมายงบประมาณ แต่หากการเมืองขาดเสถียรภาพก็อาจเป็นปัจจัยที่จะกระทบกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้อีกบ่อยครั้งในอนาคต
 
          ปัญหาข้อที่ 1 เป็นเรื่องสำคัญที่กำลังส่งผลกระทบที่รุนแรงมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏนั้นส่วนใหญ่จะมองว่าน่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีของ SARS ที่มีผลกระทบรุนแรง แต่ในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ไม่น่าจะเกิน 3-5 เดือน เมื่อควบคุมการระบาดของโรคได้ เมื่อค้นพบยารักษาและเมื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันได้ก็จะทำให้สภาวการณ์กลับมาสู่ปกติได้ในเวลาไม่นานมากนัก และหากจีดีพีชะลอตัวลงในไตรมาส 1 ก็จะเร่งตัวในไตรมาส 2 ถึง 4 เพื่อทดแทนผลผลิตที่ลดลงไปได้ส่วนหนึ่ง ในระหว่างนี้ก็ได้มีการนำเสนอข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวออกมาเป็นระยะ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับไวรัสโคโรนานั้นมีดังนี้
          • แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำแต่การติดเชื้อแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วอย่างมาก เพราะผู้ที่ติดเชื้อนั้นในช่วงแรกจะไม่มีอาการไม่สบาย ทำให้มีโอกาสสูงที่จะทำให้ผู้อื่นติดเชื้อตามไปด้วย
          • ผู้ที่เสียชีวิตนั้นเกือบทั้งหมดอายุ 50 ปีขึ้นไป ในบางกรณีที่อายุ 30-40 ปีจะเสียชีวิตเพราะมีโรคประจำตัว ทำให้มีภูมิต้านทานต่ำอยู่ก่อนแล้ว
          • ผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและโรคปอดอุดตันเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) เสี่ยงที่จะเสียชีวิตหากติดเชื้อไวรัสโคโรนา

 
           แต่ที่สำคัญคือการมองปัจจัยเสี่ยงนี้ในระยะยาว กล่าวคือจะมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคต ซึ่งคำตอบคือน่าจะมีเกิดขึ้นได้อีกโดยมีนักวิชาการชื่อ Matan Shelomi ที่ National Taiwan University ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าไวรัสก็จะพยายามหาทางให้ตัวเองอยู่รอด ดังนั้นไวรัสที่แพร่ขยายตัวเองได้ง่าย (จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งหรือจากสัตว์ไปสู่คน) โดยที่ไม่ได้ทำให้เจ้าภาพ (host) ล้มตายเร็วเกินไป เช่น ไข้หวัดใหญ่ (ประเภท A และ B) นั้น จะกลับมาทุกปีเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตปีละ 290,000-650,000 คน (แหล่งข้อมูล: องค์การอนามัยโลก) แต่มนุษย์ก็ไม่ได้ตื่นตระหนก เพราะอัตราการเสียชีวิตจากการ “ติด” ไข้หวัดใหญ่นั้นต่ำเพียง 0.01% (แต่อัตราการเสียชีวิตจะสูงกว่ามากสำหรับผู้ที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่า)
 
          ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือหากมีไวรัสพันธุ์ใหม่ที่ร้ายแรง มนุษย์ก็จะสามารถคิดค้นหายารักษาและผลิตวัคซีนออกมาป้องกันให้ได้ในที่สุด ดังนั้นไวรัสดังกล่าว (และไวรัสอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน) ก็จะต้องหลบตัวกลับไปแฝงตัวอยู่ในสัตว์ป่า เพราะไม่มีทางที่มนุษย์จะนำเอาวัคซีนไปฉีดป้องกันการระบาดในสัตว์ป่าดังกล่าวได้ ดังนั้นความเสี่ยงในอนาคตที่มนุษย์จะต้องเผชิญกับไวรัสเช่นโคโรนาไวรัส 2019 n-cov คือการที่มีจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและต้องเข้าไปแสวงหาบุกเบิกทรัพยากรธรรมชาติแหล่งใหม่ๆ ทำให้มนุษย์ต้องเข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์ป่าที่มีไวรัสดังกล่าวแฝงตัวอยู่
 
          สำหรับประเทศไทยนั้นก็มีความชัดเจนมากว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นการพัฒนาไปสู่การพึ่งพาภาคบริการ (การท่องเที่ยว) มากขึ้นและความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรลดลง ทำให้อธิบายได้ว่าน่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก เพราะในช่วงที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งพาภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวอย่างมากเกินที่ใครจะคาดเดาได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยที่ไทยต้องเผชิญกับโรค SARS เมื่อ 17 ปีก่อนหน้าในปี 2003 กล่าวคือ ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมนั้น ไม่ได้เป็น growth driver ของประเทศไทยมานานแล้วและภาคเศรษฐกิจที่โดดเด่นที่สุดคือ การท่องเที่ยว ซึ่งจีนมีส่วนสำคัญในการผลักกันปรากฏการณ์นี้ เพราะในปี 2003 ที่โลกเผชิญโรค SARS นั้นมีนักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทยเพียง 6 แสนคน แต่ในปี 2019 นั้นจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่รัฐบาลไทยไม่น่าจะได้เคยคาดการณ์หรือวางแผนทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด
 
          ประเด็นคือในอนาคตนั้นจะปล่อยให้เศรษฐกิจไทยเดินไปในทิศทางนี้ต่อไปอีกหรือไม่ เพราะสามารถประเมินตัวเลขคร่าวๆ ได้ว่า หากยังต้องการอาศัยการท่องเที่ยวเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ประเทศไทยคงจะต้องรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 20-25 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า กล่าวคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจาก 15 ล้านคน ในปี 2010 มาเป็น 40 ล้านคนในปี 2019 ดังนั้นหากในอีก 10 ปีข้างหน้าไทยจะยังต้องการพึ่งพาการท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยก็คงจะต้องสามารถรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกจาก 40 ล้านคน เป็น 60-65 ล้านคน ในปี 2029  ซึ่งสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนอาจจะต้องเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 25% เป็นประมาณ 30-35% (20 ล้านคน) เพราะประเทศจีนจะยังเป็นแหล่งผลิตนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในโลกต่อไปอีก ดังที่เห็นได้จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นจาก 20 ล้านคน ในปี 2003 มาเป็น 150 ล้านคนในปี 2019 ดังนั้นหากจะมีคนจีนท่องเที่ยวทั่วโลกประมาณ 250-300 ล้านคนในปี 2029 (20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของจีน) การที่จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาประเทศไทยปีละ 20 ล้านคน ก็น่าจะเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้
 
          ซึ่งจะเห็นได้ว่าการต้องรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีก 20-25 ล้านคน จากฐานปัจจุบันที่ 40 ล้านคนนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศเป็นอย่างมากและที่สำคัญคือ หากรองรับจำนวนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ การท่องเที่ยวก็จะไม่ได้มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีพลังมากเท่ากับช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา เพราะฐานที่โตขึ้นอย่างมาก กล่าวคือในช่วงที่สัดส่วนของกิจกรรมโรงแรมเพิ่มจาก 3.6% ของจีดีพีมาเป็น 6.3% ของจีดีพีในช่วง 2010-2019 นั้น ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 15 ล้านคน เป็น 40 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 166% แต่ในอนาคตหากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านคน เป็น 65 ล้านคน ในช่วง 2020-2029 นั้น สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจะเท่ากับ 62.5% เท่านั้น ดังนั้นประเทศไทยจึงจะต้องขบคิดดูว่าหากแรงขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวจะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ลดลงแล้ว จะมีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่ เช่น จะต้องหันกลับไปทำการเกษตร (สมัยใหม่) เพิ่มขึ้นมาทดแทนอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมหรือจะแสวงหาอุตสาหกรรมใหม่ๆ มาเป็นทางเลือกได้หรือไม่ จะเห็นได้ว่าการตั้งคำถามว่าประเทศไทยจะหารายได้อย่างไรในอนาคตนั้น เป็นการตั้งคำถามที่ตอบได้ยากและเป็นการตั้งคำถามที่แตกต่างจากแนวทางปัจจุบันคือ รัฐบาลทุ่มเทและชี้ชวนให้เอกชนมารีบเร่งลงทุนในอีอีซีโดยมีทางให้เลือกมากมาย แต่ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าทางเลือกที่มีอยู่มากมายนั้น ทางเลือกใดจะเหมาะสมกับศักยภาพของคนไทยหรือของประเทศไทยมากที่สุด และประเทศไทยคงให้ลำดับความสำคัญกับสาขาเศรษฐกิจสาขาใดหรืออุตสาหกรรมประเภทใด การกำหนดลำดับความสำคัญนี้เป็นเรื่องที่เห็นว่าต้องทำ เพราะจะเป็นการบังคับให้ต้องประเมินปัจจัยต่างๆ และสภาวการณ์อย่างครบถ้วนและถูกต้องจึงจะสามารถนำมาซึ่งข้อสรุปดังกล่าวได้
 
          ตัวอย่างเช่นประเทศไทยอาจประเมินสภาวการณ์และศักยภาพแล้วสรุปว่าต้องยอมให้ภาคอุตสาหกรรมต้องลดความสำคัญในเศรษฐกิจลงต่อไปอีก โดยในอีก 10 ปีข้างหน้าสัดส่วนอุตสาหกรรมต่อ  จีดีพีอาจต้องเหลือต่ำกว่า 30% ของจีดีพี และอุตสาหกรรมที่จะต้องลดบาบาทลงมากที่สุดคือชิ้นส่วนรถยนต์ เพราะจะมีความต้องการชิ้นส่วนเพื่อรถไฟฟ้า (EV) ลดลงมาก อุตสาหกรรมที่ผลิตถุงพลาสติกและสินค้าขั้นพื้นฐานด้านปิโตรเคมีก็จะต้องลดปริมาณลงเช่นกัน นอกจากนั้นประเทศไทยก็กำลังจะขาดแคลนแรงงานอายุน้อยที่เหมาะกับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย แต่ภาคเกษตรนั้นอาจมองได้ว่าจะต้องปรับโครงสร้างอย่างเร่งรีบและตั้งเป้าว่าจะต้องมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มจาก 5.7% ในปี 2019 มาเป็น 10% ในปี 2029 โดยการปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นผู้ผลิต “clean food for the world” ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในประเทศไทยและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศเอาได้รวมกันด้วย แต่จะต้องหมายถึงการลดพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าว (เพราะใช้ที่ดินและน้ำจำนวนมาก) และคนก็นิยมกินคาร์โบไฮเดรตลดลง โดยจะเหลือแต่ข้าวคุณภาพสูงและเลือกการผลิตผักและผลไม้และพัฒนาให้มีมาตรฐานด้านสุขภาพสูงที่สุดในโลก นอกจากนั้นอุตสาหกรรม เช่น อ้อยและน้ำตาลก็จะลดความสำคัญลงเช่นกัน เพราะผลกระทบต่อสุขภาพทั้งจากการที่น้ำตาลเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนแลการผลิตก็มีผลกระทบในด้านภาวะสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้นก็จะต้องขับเคลื่อนให้พึ่งพา medical tourism และ healthcare tourism มากขึ้น เพราะประชากรโลกก็แก่ตัวลงและสาขาดังกล่าวน่าจะมีมูลค่าเพิ่มและทำกำไรต่อหัวให้กับประเทศไทยได้มากกว่า นอกจากนั้นการพัฒนาให้ไทยเป็นที่พักพิงให้กับผู้เกษียณอายุในลักษณะsemi-retirement home สำหรับผู้สูงอายุที่ร่ำรวยสามารถมาพักผ่อนที่ประเทศไทยนาน 1-2 เดือนต่อปีในช่วงฤดูหนาวของประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา ก็อาจเป็นโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย หมายความว่าจำนวน “นักท่องเที่ยว” ไม่จำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้นมากนัก แต่รายได้ต่อหัวจะสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ และจะเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจของไทยมีการเติบโตได้ยั่งยืนในระยะยาว
 
วิเคราะห์การลดอัตราดอกเบี้ยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
 
          เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.25 เป็น ร้อยละ 1.00 ต่อปี ให้มีผลทันที ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งที่เหนือการคาดหมายของตลาดการเงิน ซึ่งการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยมีสาเหตุจาก
          1.เศรษฐกิจปีนี้ที่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวที่จะกระทบการส่งออก การระบาดของไข้หวัดอู่ฮั่นที่จะกระทบการท่องเที่ยว ภาวะภัยแล้งที่จะกระทบการผลิตและรายได้ของภาคการเกษตร รวมถึงความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่นอกจากจะเป็นข้อจำกัดให้งบประมาณประจำปีของประเทศไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันเวลาแล้ว การจัดสรรงบประมาณที่ได้เตรียมไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็อาจไม่พร้อมต่อการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะไม่ได้มีการประเมินและจัดสรรงบประมาณเตรียมไว้ล่วงหน้า ทำให้ประสิทธิภาพของนโยบายการคลังจะยิ่งลดลงเทียบกับปัญหาที่ต้องแก้ไข ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศที่ใช้แก้ปัญหาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงเหมือนกับการแก้ไขการชะลอตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะได้ประเมินแล้วว่า ปัจจัยลบที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจปีนี้ จะทำให้แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม คือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะชะลอมากกว่าคาด ที่สำคัญเมื่อเศรษฐกิจชะลอ อัตราเงินเฟ้อก็จะชะลอมากกว่าที่ประเมินไว้เช่นกัน ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับลดลงจากผลของหลายปัจจัย ทำให้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะลดลงต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และอาจลดลงต่ำกว่าขอบด้านล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ  ทำให้มีเหตุผลที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น เพื่อเร่งให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาในระดับที่เป็นเป้าหมาย
 
          2.อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ต้องถือว่าต่ำมากในฐานะต้นทุนทางการเงิน ประกอบกับสภาพคล่องในระบบการเงินปัจจุบันก็ไม่เป็นปัญหา คือ ระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องดี ดังนั้นผลที่หวังจากการปรับลดคราวนี้คงไม่ใช่แรงกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสินเชื่อหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะมากับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิมอีกร้อยละ 0.25 แต่ประโยชน์สำคัญของการลดดอกเบี้ยจะมาในแง่เสถียรภาพเศรษฐกิจ ที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยให้ต้นทุนชำระหนี้ของผู้ที่มีหนี้อยู่ลดลง เป็นการบรรเทาผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่อความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งภาคธุรกิจ ครัวเรือน และธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในตลาดที่ปรับลงจะเอื้อต่อการชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ อันนี้คือเหตุผลสำคัญของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยคราวนี้ เพราะชัดเจนว่า กนง. มีความห่วงใยในเสถียรภาพเศรษฐกิจพอๆ กับหรืออาจมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในฐานะธนาคารกลางของประเทศการให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นบริษัทธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือในภาคครัวเรือน ซึ่งสำคัญต่อการรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะการผิดนัดชำระหนี้ ถ้าเกิดขึ้นในวงกว้างมักจะเป็นสัญญาณแรกๆ ของความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ประเทศมี อย่างไรก็ตาม กนง. ก็ตระหนักผลที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากอาจสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ จากการทำธุรกรรมทางการเงินที่จะสุ่มเสี่ยงมากขึ้น เพราะการพยายามหาผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้นจากสินทรัพย์ที่มี (Search for yield) เช่น นำเงินฝากที่ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า แต่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น การลงทุนนอกระบบการเงิน หรือลดเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไปสู่เงินฝากในสถาบันประเภทอื่นแทน รวมถึงใช้ประโยชน์ของอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากไปต่อยอดหรือลงทุนในลักษณะเก็งกำไรเพื่อหาผลตอบแทน เป็นความเสี่ยงที่จะมีมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องติดตามและดูแลไม่ให้เกิดเป็นความเสี่ยงต่อระบบ
 
          3.อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับร้อยละ 1.0 เป็นอัตรานโยบายระดับต่ำสุดที่เศรษฐกิจไม่เคยมี ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551–2552 ที่ธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยลงเกือบศูนย์ และออกมาตรการคิวอีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ก็ไม่เคยลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ด้วยสองเหตุผล 
          - ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.0 เป็นระดับที่ผ่อนคลายมากสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเศรษฐกิจให้สามารถปรับตัวได้กับปัจจัยลบภายนอกที่เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นพร้อมกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือร้อยละ 1.0 ก็คือต้องดูแลให้ระบบการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอ เพื่อการกู้ยืมของผู้ที่ต้องการ และทำให้ผู้ที่ต้องการสภาพคล่องสามารถเข้าถึงสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยต่ำนี้ได้อย่างทั่วถึง เป็นปัญหาของการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่าปัญหาต้นทุนดอกเบี้ยแพง 
          - นโยบายการเงินอย่างเดียวคงช่วยเศรษฐกิจไม่ได้มาก แต่นโยบายการคลัง คือ การใช้จ่ายและการเก็บภาษีของภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน เพราะนโยบายการคลัง คือ มาตรการอีกด้านของนโยบายเศรษฐกิจที่ต้องทำคู่ขนานไปกับนโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นและช่วยเศรษฐกิจในการปรับตัว แต่ที่ผ่านมานโยบายการคลังทำน้อยมากและมีปัญหามาก จนปัจจุบัน เศรษฐกิจยังไม่ได้ประโยชน์จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งๆ ที่ได้เก็บภาษีจากประชาชนไปก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว เพราะความล่าช้าของการเตรียมและอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญที่สุดของนักการเมือง แต่ก็ยังทำไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องพยายามทำอะไรไปก่อนเท่าที่จะทำได้ แต่ก็เลือกวิธีการใช้จ่ายหรือกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาจึงไม่มีประสิทธิภาพ และหวังผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้
 
          ขณะนี้สิ่งที่นักลงทุนและตลาดการเงินกำลังติดตามหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. คือรัฐบาลผ่านทางกระทรวงการคลังจะทำอะไรต่อหรือไม่ที่จะสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนในความสามารถของการบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่จะทำให้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินเดินไปในทางเดียวกัน ทั้งในเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การจัดสรรสภาพคล่องที่มีอยู่ให้ถึงมือธุรกิจเอสเอ็มอี และการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ในการที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและคนทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของไทยเดินหน้าได้ต่อไป

 


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเศรษฐกิจ

 

 

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 20 มีนาคม 2563

1922 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย