หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนกันยายน 2562)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนกันยายน 2562)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนกันยายน 2562)


          ข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2562 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำมันยังมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็เริ่มมีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นมา ส่งผลทำให้ราคามีการปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อย ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวน้อยลง เนื่องจากภาวะการค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทำให้ผู้ประกอบการยังมีการชะลอการผลิตเพื่อรอดูความชัดเจนที่จะเกิดขึ้น จึงทำให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าหดตัวลงมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวลดลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าน้อยลง เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้นประชาชนได้มีการออมไปมากในช่วงก่อนหน้านั้นจึงได้มีการนำเงินออมออกมาลงทุนบ้าง เพื่อให้มีอัตราผลตอบแทนที่ดีขึ้น ส่งผลให้การออมเงินมีการปรับตัวน้อยลงมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวลดลงไป เนื่องจากธนาคารได้ทยอยปล่อยสินเชื่อออกมาในช่วงก่อนหน้ามากแล้ว ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อจึงมีการหดตัวลงมา อีกทั้งยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

 เมษายน 62

พฤษภาคม 62

มิถุนายน 62

กรกฎาคม 62

ดัชนีราคาผู้บริโภค

102.82

103.31

102.94

103.00

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

95.00

104.53

100.79

100.28

อัตราการใช้กำลังการผลิต

63.62

67.83

65.26

65.68

ดุลการค้า

-93.81

1,402.72

4,400.66

1,692.23

ดุลบัญชีเดินสะพัด

1,384.12

-376.03

3,923.16

1,768.18

เงินฝาก

14,049.53

13,983.13

13,919.75

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

15,384.87

15,316.37

15,256.25

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                             หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                                                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
                       ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนกรกฎาคม 2562
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ก.ค. 61 กับ 62 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ก.ค. 61

74,272

18.85%

ณ ก.ค. 62

55,173

-9.00%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ก.ค. 62 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

21,897

39.69

บ้านเดี่ยว

20,858

37.80

ทาวน์เฮ้าส์

9,838

17.83

อาคารพาณิชย์

1,403

2.54

บ้านแฝด

1,177

2.14

รวม

55,173

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        -การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ก.ค. 61 กับ 62 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ก.ค. 61

105,517

28.13%

ณ ก.ค. 62

104,062

12.66%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ก.ค. 62 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

48,640

46.74

ทาวน์เฮ้าส์

31,863

30.62

บ้านเดี่ยว

14,836

14.26

อาคารพาณิชย์

4,917

4.73

บ้านแฝด

3,806

3.65

รวม

104,062

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 62

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม-กุมภาพันธ์

6.27

1.75

มีนาคม-เมษายน

6.35

1.75

พฤษภาคม

6.27

1.75

มิถุนายน-กรกฎาคม

6.35

1.75

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
                      หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, 
             ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนกรกฎาคม 2562

          ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 25.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีปัจจัยลบค่อนข้างที่เข้ามากระทบส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจมีอัตราเติบโตที่ลดลงไปค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการออกไปก่อน ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีการหดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้าน อุปสงค์ก็ปรับตัวลดลง 1.38% เพราะมาตรการ LTV ที่ออกมาทำให้การขอสินเชื่อค่อนข้างมีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และ บ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยยังทรงตัวอยู่ที่ 6.35% โดยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีค่าอยู่ที่ 1.75%

 

วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยในระยะถัดไป*

         

          ในระยะถัดไปเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะ " Low rate, low growth" อันได้แก่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่โตต่ำ และดอกเบี้ยทั่วโลกจะเป็นขาลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในภาวะการส่งออกจะเติบโต 0% เงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1% และเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในช่วง 2% สาเหตุที่มองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าจะอยู่ในภาวะ Low rate, low growth คือโตต่ำ ที่ระดับประมาณ 3% (อันเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) แต่ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นเดียวกับที่ตลาดการเงินมอง เป็นเพราะว่าหากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานแล้ว เศรษฐกิจโลกในปี 2018 เป็นเพียงภาวะ Late cycle หรือช่วงเศรษฐกิจขาลง หลังจากที่เกิดภาวะ Synchronized growth หรือการเติบโตอย่างพร้อมเพรียงในปี 2017

 

          แต่สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำในปี 2018-19 ได้แก่ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าเป็นหลัก ซึ่งทำให้การส่งออกของประเทศในเอเชีย (ที่มีการค้าขายกับจีน) หดตัว และกระทบต่อแผนการลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก (โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อส่งออก) หากพิจารณาภาพระยะยาวของสงครามการค้า จะเห็นได้ว่าเป็นความต้องการของสหรัฐที่ต้องการจะคุมการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของจีน ทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเงิน รวมถึงการทหาร ดังนั้นนับจากนี้ไปความรุนแรงของสงครามเย็นระหว่างสองประเทศมหาอำนาจของโลกจะมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจเปลี่ยนแปลงไปในมุมอื่นๆ แทน


          อย่างไรก็ตามยังมี 2 ปัจจัยบวก ที่จะลดทอนโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ได้แก่
          (1) การทำนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐ (Fed) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมากขึ้นหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น
          (2) การที่สหรัฐกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า และจากการที่ทรัมพ์ใช้ภาวะเศรษฐกิจและดัชนีหุ้นเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคะแนนิยม ดังนั้นหากหุ้นตกมากจากภาวะสงครามการค้ารุนแรงขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะต้องยอมผ่อนคลายความตึงเครียดลง

 

          ด้วยภาวะเช่นนี้ จึงมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าจะถูกกดด้วยสงครามการค้า แต่จะได้ปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้จะเป็นโลกจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงได้แก่
          (1) ความเสี่ยงวิกฤตความเชื่อมั่น ที่เริ่มจากภาวะ Inverted Yield Curve (ผลตอบแทนพันธบัตรกลับทิศ) ในสหรัฐ อันเป็นเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งๆ ที่พื้นฐานเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้เลวร้าย
          (2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ เช่น Brexit สถานการณ์ในฮ่องกง ไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี และตะวันออกกลาง เป็นต้น

 

          ในส่วนของไทย ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันชะลอตัวลงทุกด้าน อันเป็นผลจาก 3 ปัจจัยลบหลักคือ
          (1) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง
          (2) สงครามการค้า
          (3) นโยบายการเงินที่ตึงตัว

 

          โดย 2 ปัจจัยแรกส่งผลหลักทำให้การส่งออก การลงทุนภาคเครื่องมือเครื่องจักร และภาคการผลิตหดตัว ส่วนปัจจัยที่สามเป็นส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่า เงินเฟ้อต่ำ และการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้างชะลอตัวลง ทั้งนี้เครื่องชี้วัดที่มีความกังวลคือการนำเข้าของไทย ที่เป็นเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจล่วงหน้าได้อย่างดี โดยการนำเข้าสำคัญทั้งสินค้าทุน (ชี้วัดการลงทุนในอนาคต) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง (ชี้วัดการผลิต) รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค (ชี้วัดการบริโภค) ต่างหดตัวในระดับสูงในช่วงครึ่งปีแรกทั้งสิ้น นอกจากนั้นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้แก่การเบิกจ่ายงบลงทุนที่จะล่าช้าตามงบประมาณปีหน้าที่ไม่สามารถออกได้เนื่องจากการเปลี่ยนรัฐบาล อย่างไรก็ตามก็มีปัจจัยบวก 2 ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ต่อเนื่องปีหน้าได้แก่
          (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปีของรัฐบาล
          (2) การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการเงินการคลังให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

          ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปีของรัฐบาลนั้น เหนือกว่าที่ตลาดคาดเพราะมีมูลค่าถึง 3.2 แสนล้านบาท (1.8% ของ GDP) โดยมีทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภค ลงทุน และช่วยเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยมองว่าอาจช่วยให้เศรษฐกิจโตได้ประมาณ 3.0% ในปีนี้ (จากที่เคยมองว่าจะโตประมาณ 2.6-2.7%) โดยมาตรการกระตุ้นการลงทุนน่าจะมีผลต่อการบวกต่อเศรษฐกิจมากที่สุด เพราะจะทำให้เกิดการหมุนของเงิน (Velocity of money)


          อย่างไรก็ตามเนื่องจากมาตรการส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้นและกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะยิ่งซึมเซามากกว่าปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะชะลอลงมาก แต่เชื่อว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง จะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีแนวโน้มที่จะไปในทิศทางเดียวกับนโยบายการคลังมากขึ้น โดยจากภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่กำลังชะลอตัว (ทำให้การส่งออกโต 0%) และลุกลามไปสู่ในประเทศมากขึ้น เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ขณะที่เงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงินไม่เป็นความเสี่ยงนั้น นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายได้ โดยทั้งเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับเดียวกัน (ที่ 1%) ส่งผลให้นโยบายการเงินไม่ตึงตัวจนเกินไป และถ้ายิ่งลดดอกเบี้ยเร็วเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็ยิ่งฟื้นตัวเร็วเท่านั้น ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจจะทำให้การส่งออกไม่มีการเติบโต ซึ่งจะส่งผลทำให้ GDP ของไทยในปีหน้าอาจจะมีการเติบโตได้เพียงแค่ 2% เท่านั้นก็เป็นไปได้

 

วิเคราะห์การปฏิรูปเศรษฐกิจด้วย Bioeconomy

 

          อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็นหนึ่งใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรม S-curve ใน EEC โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาสู่การเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ “Bioeconomy” ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบทางการเกษตร และมีความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำด้านวัตถุดิบทางการเกษตร กลางน้ำ จากโรงงานผลิตน้ำตาล โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และปลายน้ำ จากโรงกลั่นน้ำมัน และโรงผลิตโอลีโอเคมีที่มีกำลังผลิตเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ

 

          อย่างไรก็ตามการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านการผลิตและด้านการตลาด ในด้านการผลิต กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้ว่าไทยยังพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ และยังต้องสั่งสมองค์ความรู้เพื่อต่อยอดในการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ทั้งในด้านการลดต้นทุนการผลิตและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ในด้านการตลาดการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เพื่อเพิ่มความต้องการใช้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะสร้างตลาดและผลักดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น ไบโอพลาสติก สามารถแข่งขันได้กับผลิตภัณฑ์ที่มาจากปิโตรเลียมที่มีราคาถูกกว่า

 

          ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะส่งผลให้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมากขึ้น เช่น หลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้ไบโอพลาสติก เพื่อสร้างตลาดและความต้องการในประเทศ เช่น ญี่ปุ่นที่มีเป้าหมายเพิ่มการใช้ไบโอพลาสติกจากราว 70,000 ตัน ในปี 2013 เป็น 2 ล้านตันภายในปี 2030 สหรัฐอเมริการที่มีมาตรการบังคับให้หน่วยงานภาครัฐซื้อสินค้าจากอุตสาหกรรมชีวภาพ และสหภาพยุโรปที่มีการเสนอให้บรรจุภัณฑ์มีการใช้วัตถุดิบที่ทำจากวัสดุชีวภาพ 10% ภายในปี 2030 โดย European Bioplastics คาดการณ์ว่ากำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพโลกจะเพิ่มราว 24% จาก 2.11 ล้านตัน ในปี 2018 เป็น 2.62 ล้านตัน ในปี 2023

 

          ในขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ชีวภาพก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพของโลก ที่เริ่มมีความกังวลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เพราะการแย่งใช้ทรัพยากรในการผลิต เช่น น้ำ และพื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น ปัจจุบันอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพในไทยนั้นผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ “รุ่นแรก” (first generation biofuels) จากวัตถุดิบทางอาหาร เช่น เอทานอลจากกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง และไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม แต่เทรนด์การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ไม่ได้ผลิตจากอาหาร (advanced biofuels) จะเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 (second generation biofuels) ที่ผลิตจากของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมเกษตรที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบ เช่น หญ้า ซังข้าวโพด ทะลายปาล์ม และ เชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 3 (third generation biofuels) ที่ผลิตจากพืชพลังงาน เช่น สาหร่าย โดยบริษัท Allied Market Research คาดว่าตลาด advanced biofuels ทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 57,124 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาภายในปี 2022

 

          จากเทรนด์การใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบัน 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ได้พัฒนานโยบาย Bioeconomy เพื่อสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบทางการเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นไทยควรเร่งส่งเสริมการวิจัยพัฒนา พัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพออกสู่ตลาดมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศ เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันจากความพร้อมด้านวัตถุดิบและต่อยอดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน Bioeconomy อย่างชัดเจน

 


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ "Global Vision"

 

 

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 20 กันยายน 2562

1470 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย