หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนสิงหาคม 2562)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนสิงหาคม 2562)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนสิงหาคม 2562)


          ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2562 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลง เพราะราคาน้ำมันยังมีความผันผวนและปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดยังมีราคาทรงตัวไม่ได้ปรับตัวสูงมากเท่าไรนัก ส่งผลทำให้ราคามีการปรับตัวน้อยลงมา ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวน้อยบลง เนื่องจากภาวะการค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มกลับมาชะลอการผลิตเพื่อรอดูความชัดเจนที่จะเกิดขึ้น จึงทำให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าหดตัวลงมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าน้อยลง เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้นประชาชนได้มีการออมไปมากในช่วงก่อนหน้านั้นจึงได้มีการนำเงินออมออกมาลงทุนบ้าง เพื่อให้มีอัตราผลตอบแทนที่ดีขึ้น ส่งผลให้การออมเงินมีการปรับตัวน้อยลงมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวลดลงไป เนื่องจากธนาคารได้ทยอยปล่อยสินเชื่อออกมาในช่วงก่อนหน้ามากแล้ว ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อจึงมีการหดตัวลงมา อีกทั้งยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

 มีนาคม 62

เมษายน 62

พฤษภาคม 62

มิถุนายน 62

ดัชนีราคาผู้บริโภค

102.37

102.82

103.31

102.94

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

114.96

95.00

104.53

100.50

อัตราการใช้กำลังการผลิต

74.25

63.62

67.83

65.28

ดุลการค้า

3,419.46

-93.81

1,402.72

4,400.66

ดุลบัญชีเดินสะพัด

5,270.25

1,384.12

-376.03

3,923.66

เงินฝาก

13,914.41

14,049.53

13,983.13

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

15,457.89

15,384.87

15,316.37

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                             หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                                                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
                       ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนมิถุนายน 2562
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มิ.ย. 61 กับ 62 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ มิ.ย. 61

62,799

12.27%

ณ มิ.ย. 6

47,637

-24.14%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ มิ.ย. 62 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

19,175

40.25

บ้านเดี่ยว

18,219

38.25

ทาวน์เฮ้าส์

8,073

16.95

อาคารพาณิชย์

1,207

2.53

บ้านแฝด

963

2.02

รวม

47,637

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        -การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มิ.ย. 61 กับ 62 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ มิ.ย. 61

91,966

32.95%

ณ มิ.ย. 62

88,212

-4.08%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ มิ.ย. 62 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

40,428

45.83

ทาวน์เฮ้าส์

27,577

31.26

บ้านเดี่ยว

12,732

14.44

อาคารพาณิชย์

4,194

4.75

บ้านแฝด

3,281

3.72

รวม

88,212

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 

  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่บุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
    - สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ณ ไตรมาส 2 ปี 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 155,196 ล้านบาท หดตัวลดลง9.83% จาก ณ ไตรมาส 2 ปี 61 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 172,111 ล้านบาท

 

  •  สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
    - สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไป ณ ไตรมาส 2 ปี 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,901,163 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.16% จาก ณ ไตรมาส 2 ปี 61 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 3,640,425 ล้านบาท

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 62

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม-กุมภาพันธ์

6.27

1.75

มีนาคม-เมษายน

6.35

1.75

พฤษภาคม

6.27

1.75

มิถุนายน

6.35

1.75

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
                      หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, 
             ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนมิถุนายน 2562

          ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 24.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีปัจจัยลบค่อนข้างที่เข้ามากระทบส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจมีอัตราเติบโตที่ลดลงไปค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการออกไปก่อน ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีการหดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้าน อุปสงค์ก็ปรับตัวลดลง 4.08% เพราะมาตรการ LTV ที่ออกมาทำให้การขอสินเชื่อค่อนข้างมีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และ บ้านเดี่ยว ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการหดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่มากเท่าไรนัก ส่งผลทำให้มีการปรับตัวลดลงมา 9.83% ณ ไตรมาส 2 ปี 62 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.35% โดยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีค่าอยู่ที่ 1.75%

 

วิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย*

         

          โอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีความเป็นไปได้ที่จะมาจากอุปสงค์โลกต่ำ ความเสี่ยงโลกสูง แต่ทางการไทยอนุรักษ์นิยมเกินไป ซึ่งสามารถที่จะทำการวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้

          1. ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลก
          ในส่วนของภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันนั้น ยังแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ประเด็นหลัก
          ประเด็นแรก ได้แก่ ภาวะปัจจุบันที่เป็น New normal ที่ “โตต่ำ ค้าน้อย โภคภัณฑ์ถูก และผลตอบแทนการลงทุนต่ำและผันผวน” เศรษฐกิจโลกที่โตต่ำนั้น เกิดจากความต้องการในการใช้จ่ายหรือ Demand ทั่วโลกต่ำลง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างอย่างภาวะสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเจริญแล้ว ซึ่งทำให้ความต้องการจับจ่ายน้อยลง นอกจากนั้นหนี้ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นมาก (ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 เท่าของ GDP โลก) ซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลทั่วโลกกระตุ้นการจับจ่ายหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ภาครัฐในประเทศเจริญแล้วและภาคเอกชนในประเทศกำลังพัฒนาขาดเม็ดเงินที่จะจับจ่ายในปัจจุบัน

 

          ในส่วนของการค้าน้อยลงนั้น เป็นผลทั้งจากประเทศขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐและจีนหันมาผลิตในประเทศมากขึ้น ผลจากเทคนิคการขุดเจาะน้ำมัน Shale gas/ oil ในสหรัฐ ที่ทำให้ราคาพลังงานและค่าขนส่งถูกลง และการที่ทางการจีนบังคับให้บริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนในจีนนั้นมีการถ่ายโอนเทคโนโลยี ก็ทำให้ผู้ผลิตจีนสามารถผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงเองได้ นอกจากนั้นสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ก็จะทำให้การค้าโลกลดต่ำลงเช่นกัน

 

           ในส่วนของโภคภัณฑ์ถูกนั้น เป็นผลจากเทคนิคการผลิตใหม่ๆ ทำให้ปริมาณของโภคภัณฑ์นั้นเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่ความต้องการที่ตกต่ำโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะยาวลดลง ทั้งโภคภัณฑ์หนัก เช่น สินแร่โลหะ (ที่ราคาเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเศรษฐกิจจีน) โภคภัณฑ์เบา รวมถึงเชื้อเพลิง

 

          ส่วนสุดท้ายได้แก่ผลตอบแทนการลงทุนที่ลดต่ำลงและผันผวน ซึ่งเกิดจากนโยบายการเงินทั่วโลกที่ลดดอกเบี้ยและเพิ่มสภาพคล่องหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ไร้ความเสี่ยง (Risk-free Rate) ลดลง และสภาพคล่องมหาศาลที่ไหลเข้าสู่ตลาดเงินทุนก็กดให้ส่วนเพิ่มความเสี่ยง (Risk-premium) ลดลงเช่นกัน ผลตอบแทนการลงทุนทั่วโลกจึงต่ำและผันผวนมากขึ้นตามสภาพคล่อง

 

          ประเด็นที่สองของภาพเศรษฐกิจโลก ได้แก่ ความเสี่ยงในระยะต่อไป ซึ่งมองว่า ได้แก่ “สงครามเย็น”ระหว่างสหรัฐและจีน ที่เริ่มด้วยสงครามการค้าและลุกลามเป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech War) และอาจลามไปสู่สงครามด้านการเงิน โดยสหรัฐอาจห้ามธุรกิจจีนมาระดมทุนในสหรัฐ ซึ่งจีนอาจตอบโต้ด้วยการแบนธุรกิจบริการจากสหรัฐ ทั้งเกม รายการทีวี และห้ามนักท่องเที่ยวและนักเรียนจีนไปยังสหรัฐ และสุดท้ายอาจนำไปสู่สงครามด้านการทหาร ที่จะนำไปสู่ความตึงเครียดในมหาสมุทรแปซิฟิกและคาบสมุทรเกาหลี สั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ เพิ่มระดับการจารกรรมเชิงพาณิชย์ ทางไซเบอร์ และทางทหาร และความเสี่ยงแห่งสงครามในอนาคต เมื่อโลกโตต่ำเพราะอุปสงค์อ่อนแอ (Weak demand) และอุปทานล้นเกิน (Excess supply) รวมถึงความเสี่ยงจากสงครามเย็นที่อาจกลายเป็นสงครามแล้วอาจทำให้ไทยเองกลับแย่ลงไป

 

          2. เศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับ “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle-income Trap)
          ความสัมพันธ์ของหนี้สาธารณะและการเติบโตของรายได้ต่อหัวของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาในการก้าวข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-income Trap) โดยหากพิจารณาจากการขยายตัวเศรษฐกิจ จะเห็นว่าภาพของไทยก็ไม่ต่างจากโลก คือขยายตัวต่ำลงเรื่อยๆ และยิ่งเมื่อพิจารณารายได้ต่อหัวของคนไทยก็ยิ่งถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาการเติบโตของรายได้ต่อหัวรูปสกุลเงินท้องถิ่นในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ารายได้คนไทยเติบโตเกือบต่ำสุดในภูมิภาคที่ปีละประมาณ 2% ขณะที่อินเดีย จีน และ อินโดนิเซียโต 8-10% ต่อปีโดยตลอด

 

          ภาพเหล่านี้เกิดจาก Demand ในประเทศที่อ่อนแอ ไม่ว่าจะพิจารณาจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลเดือนละ 2-3 พันล้านดอลลาร์ เงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้ามาตลอด อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และดัชนีค่าเงินบาทที่แข็งกว่า 20% เมื่อเทียบกับคู่ค้าในรอบ 5-6 ปีหลัง นอกจากจะเกิดจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป ยังเป็นผลจากนโยบายการคลังที่เข้มงวดเกินไป โดยเฉพาะการละเลยการลงทุนภาครัฐ ดังจะเห็นได้จากดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานของ WEF ที่ของไทยแทบไม่มีการพัฒนาเลยในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการคลังที่มุ่งเน้นแต่การเบิกจ่ายงบประจำ แต่ละเลยงบลงทุนมาโดยตลอด ประกอบกับกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตึงตัวเกินไป เห็นได้จากภาระหนี้รัฐบาลกลางของไทยที่แทบจะต่ำที่สุดในโลก

 

          ทั้งนี้ได้ลองศึกษาอย่างง่ายถึงระดับการก่อหนี้ของรัฐบาลกลางต่อผลของการที่ประเทศจะหลุดพ้นจากMiddle-income trap พบว่าประเทศมีหนี้สาธารณะในระดับที่เหมาะสม (เช่น ประมาณ 80-100% ของ GDP) จะทำให้รายได้ต่อหัวเติบโตในระดับ10% ต่อปีหรือมากกว่า และทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ เพราะประเทศจะนำเงินที่ได้มาพัฒนาประเทศผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

 

           ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหนทางหนึ่งที่ทำได้คือการผ่อนคลาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ให้ภาคการคลังสามารถก่อหนี้ได้มากขึ้น ขณะที่ภาคการเงินก็ลดดอกเบี้ยให้ต่ำ เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินของภาครัฐไม่สูงนัก ซึ่งสามารถทำได้เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงเงินเฟ้อ รวมถึงทำนโยบายกึ่ง QE คืออนุญาตให้ธนาคารกลางเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ออกเพื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ ขณะที่ภาครัฐก็ควรพิจารณา “อัตราผลตอบแทนการลงทุนเชิงเศรษฐกิจ” (EIRR) แทนผลตอบแทนการลงทุนทั่วไป (IRR) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาในระยะยาวได้ อันจะเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงในการเติบโตของไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

วิเคราะห์โอกาสในการทำ FTA ระหว่างไทยกับอียู

 

          ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานจีน ตลอดจนสถานการณ์ Brexit ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (Eurozone) รวมถึงปัจจัยภายในของไทยเองที่ภาคธุรกิจชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง ทำให้หลายหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชนปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีดีพีของไทยลงมาอยู่ที่ไม่ถึง 4% อย่างไรก็ดีท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกดังกล่าว การรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่หยุดชะงักไปกว่า 6 ปี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2557 ดูจะมีความหวังมากขึ้นเมื่ออียูได้ส่งสัญญาณขานรับการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา

 

          ทั้งนี้ข้อมติคณะมนตรีแห่งอียูเมื่อปี 2557 ระบุไว้ว่าอียูจะเริ่มเจรจาความตกลง FTA กับไทยอีกครั้งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งต่อมาเมื่อปลายปี 2560 คณะมนตรีแห่งอียูได้ปรับข้อมติให้เริ่มสำรวจความเป็นไปได้ของการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลง FTA กับไทยภายหลังความคืบหน้าการเตรียมการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นปัจจุบันจึงถือได้ว่าเงื่อนไขต่างๆ เอื้อต่อการรื้อฟื้นการเจรจาอย่างเป็นทางการ อีกทั้งในฝั่งของอียูเองก็เพิ่งได้คณะผู้บริหารชุดใหม่จากเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม โดยนโยบายของคณะผู้บริหารชุดใหม่ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนปีนี้ จะมีความหมายต่ออนาคตของอียูและทิศทางการค้าระหว่างอียูกับไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

 

          โอกาสของไทยจากความตกลงไทย-อียู FTA
          การเจรจาความตกลง FTA ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยในตลาดอียูที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีกำลังซื้อสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่อียูมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีครอบคลุมประเทศต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคตประโยชน์อันดับแรกของความตกลง FTA ฉบับนี้คือการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย ที่ปัจจุบันไม่มีแต้มต่อทางการค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งบางประเทศ เช่น เวียดนาม หลังไทยถูกตัดสิทธิ GSP ไปเมื่อปี 2558 นอกจากนี้ความตกลง FTA จะช่วยลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ ทั้งในกลุ่มอาหาร แปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยหากการเจรจาสำเร็จจะช่วยให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอียู โดยเฉพาะจากประเทศที่มีโครงสร้างสินค้าคล้ายคลึงกับไทยและมี FTA กับอียู เช่น เวียดนาม

 

          นอกจากนี้ความตกลง FTA ฉบับนี้ ยังมีประโยชน์ในแง่การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและ know-how ต่างๆ จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทอียูในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการภายในประเทศในสาขาที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและอียูมีความเชี่ยวชาญ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ นวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งจะเป็นแม่เหล็กที่ช่วยเหนี่ยวรั้งนักลงทุนรายเดิมที่มีความเสี่ยงจะย้ายการลงทุนไปที่อื่น และดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนรายใหม่ให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก เพื่อจับตลาดที่มีกำลังซื้อสูงอย่างอียูได้อีกด้วย

 

          ทั้งนี้ปัจจุบันอียูเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับ 3 ของไทย โดยในปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ซึ่งในจำนวนนี้ไทยส่งออกไปอียู 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียู 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้น 5% และ 8% จากปี 2560 ตามลำดับ ด้านการลงทุน อียูเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ของไทยรองจากญี่ปุ่นและอาเซียน โดยมีมูลค่าการลงทุนในไทย ณ สิ้นปี 2561 รวม 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีการเจรจาความตกลง FTA ไทย-อียูอาจไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจต้องใช้เวลา โดยประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงไทย-อียู FTA มีดังนี้
          1.การทำความตกลง FTA กับอียู จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการทำความตกลงการค้าเสรีของไทย โดยเฉพาะประเด็นการเปิดเสรีภาคบริการ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าข้อบทใหม่ที่อียูใช้ในการเจรจาความตกลง FTA กับประเทศต่างๆ ในระยะหลัง คือ ข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Trade and Sustainable Development) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงาน ทั้งนี้คาดว่าอียูจะใช้ความตกลง FTA กับสิงคโปร์และเวียดนามที่เพิ่งลงนามไปเมื่อเดือนตุลาคม 2561 และมิถุนายน 2562 ตามลำดับ เป็นต้นแบบในการเจรจากับไทย ซึ่งจากการสังเกตการเจรจาความตกลง FTA ระหว่างอียูกับเวียดนามและสิงคโปร์ พบว่าเนื้อหาการเจรจามีรายละเอียดและครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเจรจาใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้น รวมทั้งอาจเพิ่มแรงกดดันให้ไทยต้องยอมรับข้อเรียกร้องต่างๆ ของอียู ทั้งในเรื่องการเปิดตลาดยา รถยนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานอียูที่มีความเข้มงวดมากที่สุดมาตรฐานหนึ่งของโลก นอกจากนี้การเจรจายังรวมถึงเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นผลประโยชน์สำคัญของอียู รวมทั้งกฎระเบียบด้านการแข่งขันทางการค้า การเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การระงับข้อพิพาทในการลงทุนระหว่างภาคเอกชนกับรัฐ การค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการปฏิบัติตามพันธกรณีขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ กรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา มีตัวอย่างของ FTA ระหว่างอียู-สาธารณรัฐเกาหลี ในกรณีสิทธิในด้านแรงงานที่อียูตัดสินใจจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทต่อเรื่องการดำเนินตามพันธกรณี

 

          2.สำหรับประเด็นการเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจของไทยและเป็นต้นทุนของการทำธุรกิจอื่นอาจส่งผลในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ทางอียูต้องการผลักดันในเรื่องของการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน คือการเข้าถึงตลาดที่อียูมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะสาขาโทรคมนาคม การเงิน และการขนส่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดทางการค้าในตลาดที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเหล่านี้ในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลที่ดีจากภาครัฐ

 

          3.ความพยายามจัดทำความตกลง FTA ระหว่างอียูกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ กลุ่มประเทศ Mercosur ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ โดยเฉพาะในสินค้าที่ไทยเป็นเจ้าตลาดในอียู อาทิ เนื้อไก่และน้ำตาล เป็นที่น่าจับตามองเนื่องจากจะเป็นช่องทางให้สินค้าคู่แข่งจากประเทศเหล่านั้นมีความได้เปรียบสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้น และจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดยุโรป ตลอดจนสิทธิประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการทำ FTA กับอียูในอนาคต

 

          ทั้งนี้คาดว่าอียูจะยังคงผลักดันให้คู่เจรจาความตกลง FTA ต่างๆ ดำเนินการตามค่านิยมหลักของอียู อาทิ ประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรีที่เป็นธรรม ตลอดจนสิทธิมนุษยชนต่อไป รวมทั้งประเด็นที่เป็นนโยบายสำคัญของอียู เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมทางเพศ ที่อาจได้รับการผลักดันให้เป็นมาตรฐานใหม่ในการเจรจาความตกลงการค้ากับอียูต่อไป

 


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ "Global Vision"

 

 

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 23 สิงหาคม 2562

1449 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย