หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนกรกฎาคม 2562)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนกรกฎาคม 2562)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนกรกฎาคม 2562)


          ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2562 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันยังมีความผันผวน ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดปรับตัวสูงขึ้นตามสภาพอากาศที่ร้อนทำให้ไม่ค่อยมีสินค้าออกมาในตลาด ส่งผลทำให้ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการชะลอการผลิตที่หดตัวลงไปมากในเดือนก่อนหน้า ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มกลับมาขยายการผลิตมากขึ้น จึงทำให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากมีค่าสูงขึ้นแต่เงินให้สินเชื่อมีค่าน้อยลง เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้นประชาชนได้มีการลงทุนในด้านอื่นๆ ประกอบกับการลงทุนมีความ ผันผวนมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนเริ่มกลับมาออมเงินทำให้มีการปรับตัวสูงขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวลดลงไป เนื่องจากธนาคารได้ทยอยปล่อยสินเชื่อออกมาในช่วงก่อนหน้ามากแล้ว ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อจึงมีการหดตัวลงมา อีกทั้งยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

 กุมภาพันธ์ 62

มีนาคม 62

เมษายน 62

พฤษภาคม 62

ดัชนีราคาผู้บริโภค

101.95

102.37

102.82

103.31

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

105.15

114.96

95.00

103.90

อัตราการใช้กำลังการผลิต

69.07

74.25

63.62

67.72

ดุลการค้า

3,365.80

3,414.46

-93.81

1,402.72

ดุลบัญชีเดินสะพัด

5,889.27

5,270.25

1,384.12

-376.03

เงินฝาก

13,940.86

13,914.41

14,049.53

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

15,227.23

15,457.89

15,384.87

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                             หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                                                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
                       ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนพฤษภาคม 2562
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ พ.ค. 61 กับ 62 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ พ.ค. 61

54,379

28.82%

ณ พ.ค. 62

34,311

-36.90%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ พ.ค. 62 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

บ้านเดี่ยว

13,434

39.15

อาคารชุด

12,205

35.57

ทาวน์เฮ้าส์

7,058

20.57

บ้านแฝด

813

2.37

อาคารพาณิชย์

801

2.34

รวม

34,311

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        -การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ พ.ค. 61 กับ 62 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ พ.ค. 61

71,510

43.83%

ณ พ.ค. 62

71,019

-0.69%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ พ.ค. 62 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

32,936

46.38

ทาวน์เฮ้าส์

21,721

30.58

บ้านเดี่ยว

10,295

14.50

อาคารพาณิชย์

3,419

4.81

บ้านแฝด

2,648

3.73

รวม

71,019

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 62

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม-กุมภาพันธ์

6.27

1.75

มีนาคม-เมษายน

6.35

1.75

พฤษภาคม

6.27

1.75

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
                      หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, 
             ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนพฤษภาคม 2562

          ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 36.90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีอัตราเติบโตที่ค่อนข้างทรงตัว ประกอบกับภาวะการเมืองยังไม่มีความชัดเจนมากเท่าไรนัก ทำให้ผู้ประกอบการต่างรอดูสถานการณ์ไปก่อนว่าภาพการเมืองจะเป็นอย่างไรบ้าง ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีการ หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็ปรับตัวลดลง 0.69% เพราะผู้บริโภคได้เร่งโอนไปในช่วงก็หน้าที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้มาตรการ LTV ไปมากแล้ว อย่างไรก็ตามผู้บริโภคก็ยังมีความต้องการซื้ออยู่ แต่ก็มีความรอบคอบในการซื้อมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ไม่มาก ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.27% โดยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีค่าอยู่ที่ 1.75%

 

วิเคราะห์ระบบสกุลเงินดิจิทัล Libra กับระบบการเงินโลก*

         

          หาก Facebook (FB) คือสื่อสังคมออนไลน์ที่ปฏิวัติระบบสังคมในปัจจุบัน Libra ซึ่งเป็นสกุลเงินใหม่ที่ FB ร่วมกับพันธมิตรสร้างขึ้น และจะเริ่มใช้งานจริงในปี 2020 ก็จะมีปฏิวัติระบบการเงินโลกในระดับเดียวกันเพียง 13 ปีที่ FB ก่อตั้งขึ้น ก็ได้เปลี่ยนการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนและเปิดโอกาสเชิงพาณิชย์อย่างมาก เพื่อนที่ห่างหายกันมานานสามารถพบกัน เพื่อนใหม่รู้จักกันดีขึ้น หนุ่มสาวสามารถพบรักกัน ธุรกิจใหม่ๆ สามารถเกิดขึ้น ขณะที่ธุรกิจเดิมก็เกิดช่องทางเชิงพาณิชย์ใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกัน FB ก็ทำให้ผู้ที่เสพติดขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง กลุ่มการเมืองสามารถสร้างข่าวลวง ยุยงปลุกปั่น และเป็นต้นกำเนิดของการประท้วงและการโค่นล้มของรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลกโดยเฉพาะในตะวันออกกลาง แอฟริกา พม่า รวมถึงบิดเบือนการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา

 

          หากสังคมโลกที่มี FB ต่างกับสังคมโลกยุคก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง ระบบการเงินโลกก่อนและหลัง Libra ถือกำเนิดก็จะเป็นเฉกเช่นเดียวกัน และเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพรายละเอียดเกี่ยวกับ Libra ดังนั้นจะตอบ 3 คำถามหลักเกี่ยวกับ Libra ดังนี้

 

          1.Libra คืออะไร และมีกระบวนการทำงานอย่างไร
          Libra คือเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (หรือที่เรียกว่า Cryptocurrency) สกุลใหม่ที่คิดค้นขึ้นโดย FB ซึ่งต่างจากเงิน Crypto อื่นๆ เช่น Bitcoin และ Etherium แม้ว่าจะใช้ระบบปฏิบัติการแบบ Blockchain ในลักษณะเดียวกัน เพราะ Libra เป็น Stable Coin กล่าวคือจะมีองค์กรกลางที่ชื่อ Libra Association กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอน (สูตรคำนวณขึ้นอยู่กับตระกร้าเงินที่ขึ้นกับเงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์ ยูโร และเยน) ฉะนั้น ค่าเงินจะไม่ผันผวน และจะมีเงินจริงๆ หนุนหลัง Libra ตลอดเวลา

 

          Libra Association จะทำหน้าที่หลักเหมือนธนาคารกลาง โดยเก็บสะสมและบริหารทุนสำรองที่ใช้หนุนหลังเงินสกุลนี้ โดยองค์กรนี้ตั้งอยู่ในกรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ และเกิดจากบริษัทเอกชน 29 แห่ง เช่น Visa, Stripe, Vodafone, Spotify, Uber รวมถึงบริษัท Fintech เช่น Coinbase เป็นต้น โดยมีค่าเข้าร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อบริษัท และ FB ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มขึ้นจนถึง 100 องค์กรในที่สุด โดยหน้าที่หลักขององค์กรนี้จะเป็นผู้จดบันทึกและอนุมัติธุรกรรมที่ผู้ใช้ Libra ทำการซื้อขาย แลกเปลี่ยน และโอนเงินทั้งหมดในโลกนี้

 

          ในส่วนของ FB เอง ก็จะสร้างกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ของตนเองขึ้นใหม่ที่ชื่อ Calibra เพื่อที่จะรับเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน Libra ระหว่างผู้ใช้อีกด้วย โดย Calibra จะฝังตัวใน Application ที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุย เช่น whatsapp และ Facebook messenger เพื่อเป็นผู้เล่นในธุรกรรมดังกล่าว ทั้งนี้การที่ Libra จะสามารถแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินใดๆ ได้นั้น จะต้องได้รับการอนุญาตทางการของประเทศนั้นๆ ก่อน ซึ่งเป็นประเด็นในเชิงเทคนิคด้านกฎหมายในแต่ละประเทศ

 

          2.Libra มีประโยชน์อย่างไร
          Libra จะทำให้การโอนเงินทำได้ง่าย แพร่หลายและรวดเร็ว โดยผู้ใช้ FB ทั่วโลกในปัจจุบันมี 2.4 พันล้านคน โดยมีการคำนวณว่าผู้ใช้ทุกคนแปลงเงินสกุลท้องถิ่นของตนเป็น Libra เพียง 10% ของปริมาณเงินที่ถืออยู่ จะทำให้ Libra มีเงินหมุนเวียนอย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ของสหรัฐที่ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา)

 

          ทั้งนี้กระบวนการทำธุรกรรมซื้อขาย แลกเปลี่ยน โอนเงินทำได้โดยง่าย โดยทำผ่าน FB messenger รวมถึง App ใหม่ที่ Libra Association จะตั้งขึ้น ซึ่งจะคล้าย App ที่สามารถโอนเงินได้ เช่น Transferwise หรือ Venmo ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา แต่ค่าธรรมเนียมจะถูกกว่ามาก (แทบไม่มี) ขณะที่ TransferWise จะมีค่าธรรมเนียมประมาณ 2% ดังนั้นLibra ก็อาจทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราอาจล้มละลายได้นอกจากนั้นกระบวนการโอนเงินทำได้รวดเร็วกว่ายิ่งกว่า Cryptocurrency อื่นๆ เช่น Bitcoin หรือ Etherium เพราะกระบวนการจดบันทึกธุรกรรมทำง่ายกว่า โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติและจดบันทึกธุรกรรมจากผู้เล่นทุกรายดังเช่น Crypto อื่นๆ (ซึ่งทำให้ช้า) แต่ Libra Association จะเป็นผู้อนุมัติและจดบันทึกให้ ทำให้สามารถอนุมัติธุรกรรมได้ถึง 1,000 ธุรกรรม ใน 1 วินาที ต่างจาก bitcoin ที่ใช้เวลา 7 วินาทีต่อการอนุมัติ 1 ธุรกรรม

 

          3.Libra มีความเสี่ยงอย่างไร
          จากข้อมูลที่ FB เปิดเผย เห็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโลก 2 ประการ ดังนี้
          ประการแรก ได้แก่ การเข้าถึงข้อมูลการใช้เงิน การที่ทุกธุรกรรมต้องได้รับการอนุมัติและจดบันทึกจาก Libra Association ทำให้ Libra Association ได้รับข้อมูล (Big data) อย่างมหาศาลในการทำธุรกรรมของผู้ใช้ Libra ทั่วโลก ทำให้มีแต้มต่อเชิงธุรกิจเหนือคู่แข่งที่ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลนั้นอย่างเทียบไม่ได้ ซึ่งหาก FB หรือ Libra Association ต้องการจะพัฒนาตนเองขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ เช่น รับฝากหรือปล่อยกู้ด้วยเงิน Libra ธนาคารดังกล่าวก็จะมีแต้มต่อธุรกิจการเงินอื่นๆ อย่างมหาศาลเนื่องจากจะเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด

 

          ประการที่สอง ทำให้ระบบการเงินในประเทศเล็กอ่อนแอลง เนื่องจากในการทำธุรกรรมด้วย Libra ผู้ใช้จะนำเงินสกุลจริง เช่น เงินบาทที่อยู่ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ในไทย (ตัวอย่างสมมุติ) ไปแลกเป็นสกุล Libra หาก Libra Association นำเงินบาทที่ได้ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อเก็บสะสมเป็นทุนสำรองของ Libra เงินบาทก็จะถูกขายไป ซึ่งจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงและปริมาณเงินที่อยู่ในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ นั้นๆ ลดลง ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์นั้นๆ และระบบการเงินในไทยอ่อนแอลง ดังนั้น Libra จะทำให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนและระบบสถาบันการเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดเล็กมีความเสี่ยงที่จะถูกทำลาย เพราะประชาชนในประเทศเกิดใหม่ที่สกุลเงินมีความผันผวนสูง (เช่น ตุรกี อาเจนตินา แอฟริกาใต้ และอินโดนิเซีย) มีแนวโน้มที่จะแลกเงินสกุลของตนไปสู่ Libra หากมีความเสี่ยงวิกฤตการเงิน ซึ่งจะทำให้เงินสกุล นั้นๆ เกิดวิกฤตการเงินได้ง่าย รวมทั้งทำให้ธนาคารกลางในประเทศเหล่านั้นไม่สามารถควบคุมปริมาณเงิน กระบวนการแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือแม้กระทั่งไม่สามารถทำการควบคุมเงินทุนหรือ Capital Control ได้

 

          โดยสรุปจะเห็นได้ว่าการกำเนิดขึ้นของ Libra จะเป็นเงินสกุลกลางใหม่ของโลก แม้จะมีประโยชน์ในการทำธุรกรรมของคนทั่วโลก แต่ก็อาจนำมาสู่การล่มสลายของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับการโอนและการแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมถึงเงินสกุลเล็กๆ ในประเทศเกิดใหม่บางประเทศได้เป็นอย่างดี หรืออาจจะกล่าวได้ว่าหาก FB ทำลายล้างการปฏิสัมพันธ์ของสังคมโลกในอดีต Libra ก็อาจจะทำลายล้างระบบการเงินโลกในอนาคตได้เฉกเช่นเดียวกัน

 

วิเคราะห์แนวพฤติกรรมในการยอมรับเทคโนโลยีใหม่

 

          การสร้างเทคโนโลยีใหม่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์เป็นเรื่องที่อาจทำให้สำเร็จได้ไม่ยากนัก แต่การทำให้เทคโนโลยีใหม่ที่สร้างขึ้นได้รับการยอมรับและนำไปใช้จากผู้คนทั่วไปมักจะเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดาถึงความสำเร็จได้

 

          ในชีวิตจริงจะเห็นได้ว่าเมื่อค้นพบเทคโนโลยีใหม่ ผู้ค้นพบมักจะเกิดความคาดหวังที่สูงว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะต้องได้รับการยอมรับจากตลาด และผู้ค้นพบจะต้องได้รับผลตอบแทนจากเทคโนโลยีอย่างงดงาม แต่ข้อเท็จจริงมักจะปรากฎว่าเทคโนโลยีที่จะได้รับการยอมรับและนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวาง มักจะมีไม่มากนัก และมักจะทิ้งช่วงเวลาไประยะหนึ่งจนกระทั่งเกิดมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าเข้ามาแทนที่

 

          ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ การนำเสนอเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในส่วนประกอบของรถยนต์ เริ่มตั้งแต่การผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกประมาณปี ค.ศ. 1886 ซึ่งเป็นการผลิตแบบทีละคัน จนในปี 1908 หรือประมาณ 20 ปีต่อมา เฮนรี่ ฟอร์ด จึงพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์ในสายการผลิตแบบต่อเนื่อง ในปี 1911 มีการใช้เทคโนโลยีสตาร์ทเครื่องด้วยไฟฟ้าแทนการใช้มือหมุนเครื่องยนต์ มีวิทยุติดในรถยนต์เป็นครั้งแรกในปี 1930 เริ่มมีการใช้ระบบกันกระเทือนโดยใช้แหนบสปริงในปี 1934 เริ่มมีระบบพวงมาลัยพาวเวอร์ในปี 1951ปี 1959 เริ่มมีเข็มขัดนิรภัยติดตั้งในรถยนต์ ปี 1960 เริ่มมีกระจกหน้าต่างไฟฟ้า ปี 1969 ใบปัดน้ำฝนสามารถปัดได้หลายระดับ ปี 1971 มีระบบเบรค ABS ปี 1973 มีระบบกรองท่อไอเสีย ปี 1988 เริ่มติดตั้งถุงลมนิรภัย ปี 2000 เริ่มใช้ระบบไฮบริดขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าควบคู่ไปกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน ปี 2003 มีการพัฒนากล้องมองหลังขณะถอยจอดและระบบนำรถเข้าจอดโดยอัตโนมัติ ปี 2014 รถยนต์เทสล่า สามารถบังคับพวงมาลัยได้เองทั้งในขณะวิ่งในเลนเดิมและมีการเปลี่ยนเลน และในปัจจุบันรถยนต์ไร้คนขับเริ่มได้รับการทดสอบและมีการยอมรับมากขึ้น

 

          เทคโนโลยีบางอย่างคิดค้นได้ก่อน แต่ยังไม่ได้รับความนิยม จนมาได้รับความนิยมในภายหลัง การที่เทคโนโลยีอุบัติใหม่จะได้รับการยอมรับจากตลาดหรือผู้บริโภค จำเป็นจะต้องมีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญหลายด้านมารวมตัวกันอย่างพอดี ปัจจัยหลักเบื้องต้นที่จะทำให้ผู้ใช้งานหรือผู้บริโภคเกิดความสนใจที่จะลองใช้เทคโนโลยีใหม่ ประกอบด้วย
          1) คาดหวังว่าเทคโนโลยีใหม่จะดีกว่าเทคโนโลยีเดิม
          2) คาดหวังว่าเทคโนโลยีใหม่จะใช้งานได้ง่ายกว่าเทคโนโลยีเดิม
          3) ถูกอิทธิพลทางสังคมครอบงำ จนต้องทำตามกระแสสังคมในการยอมรับเทคโนโลยีใหม่
          4) เห็นว่ามีปัจจัยแวดล้อมครบถ้วนที่จะอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่

 

          3 ปัจจัยแรก คือ ความคาดหวังต่อสมรรถนะ ความคาดหวังต่อความง่ายในการใช้งาน และอิทธิพลของสังคม จะนำไปสู่การจูงใจให้เกิดการอยากลองใช้ ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจทดลองใช้ในที่สุด ส่วนปัจจัยที่ 4 จะมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการตัดสินใจใช้งานในทันที

 

          นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่ขึ้นอยู่ลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล เช่น เพศชายจะมีแนวโน้มในการสนใจทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่มากกว่าเพศหญิง ช่วงอายุ ประสบการณ์ และความสมัครใจที่จะเป็นผู้ทดลองใช้ก่อนคนอื่น เป็นต้น

 

          โดยสรุปจะเห็นได้ว่าทฤษฎีพฤติกรรมการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว ทำให้นักประดิษฐ์คิดค้น นักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกร หรือนักวิจัยที่มุ่งหวังจะสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ขึ้น ได้รับทราบและมองเห็นแนวทางที่จะทำให้เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมาประสบความสำเร็จ โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้ใช้เทคโนโลยี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคาดหวังของผู้คิดค้นแต่อย่างใด

 


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ "Global Vision"

 

 

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 19 กรกฎาคม 2562

1379 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย