หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนมิถุนายน 2562)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนมิถุนายน 2562)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนมิถุนายน 2562)


          ข้อมูลเดือนเมษายน 2562 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันมีความผันผวนและมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดปรับตัวสูงขึ้นตามสภาพอากาศที่ร้อนทำให้ไม่ค่อยมีสินค้าออกมาในตลาด ส่งผลทำให้ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศมีการชะลอตัวลงไป จึงทำให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าหดตัวลงมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวน้อยลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากมีค่าน้อยลงแต่เงินให้สินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้นประชาชนได้มีการออมเงินมากขึ้นไปมากแล้วภายหลังจากที่การลงทุนในด้านอื่นๆ มีความผันผวน ส่งผลให้ประชาชนมีการออมเงินปรับตัวลดลงมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวเพิ่มขื้น เนื่องจากธนาคารได้ทยอยปล่อยสินเชื่อออกมา ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อมีการขยายตัวขึ้นมา แต่ก็ยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

 มกราคม 62

กุมภาพันธ์ 62

มีนาคม 62

เมษายน 62

ดัชนีราคาผู้บริโภค

101.71

101.95

102.37

102.82

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

108.00

105.15

114.96

95.40

อัตราการใช้กำลังการผลิต

70.46

69.07

74.25

63.89

ดุลการค้า

-210.71

3,454.58

3,584.49

81.51

ดุลบัญชีเดินสะพัด

2,012.00

6,504.72

6,080.26

1,784.32

เงินฝาก

13,845.05

13,940.86

13,914.41

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

15,129.54

15,226.91

15,457.89

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                             หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                                                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
                       ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนเมษายน 2562
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ เม.ย. 61 กับ 62 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ เม.ย. 61

43,082

28.82%

ณ เม.ย. 62

24,622

-42.85%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ เม.ย. 62 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

บ้านเดี่ยว

9,650

39.19

อาคารชุด

8,209

33.34

ทาวน์เฮ้าส์

5,816

23.62

อาคารพาณิชย์

538

2.19

บ้านแฝด

409

1.66

รวม

24,622

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        -การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ เม.ย. 61 กับ 62 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ เม.ย. 61

55,337

43.83%

ณ เม.ย. 62

57,845

4.53%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ เม.ย. 62 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

26,927

46.55

ทาวน์เฮ้าส์

17,566

30.37

บ้านเดี่ยว

8,457

14.62

อาคารพาณิชย์

2,702

4.67

บ้านแฝด

2,193

3.79

รวม

57,845

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 

  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่บุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
    - สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ณ ไตรมาส 1 ปี 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 158,872 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.80% จาก ณ ไตรมาส 1 ปี 61 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 153,061 ล้านบาท

  •  สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
    - สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไป ณ ไตรมาส 1 ปี 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,872,249 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.36% จาก ณ ไตรมาส 1 ปี 61 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 3,573,374 ล้านบาท

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 62

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม-กุมภาพันธ์

6.27

1.75

มีนาคม-เมษายน

6.35

1.75

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
                      หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, 
             ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนเมษายน 2562

          ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 42.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีอัตราเติบโตที่ค่อนข้างทรงตัว ประกอบกับภาวะการเมืองยังไม่มีความชัดเจนมากเท่าไรนัก ทำให้ผู้ประกอบการต่างรอดูสถานการณ์ไปก่อนว่าภาพการเมืองจะเป็นอย่างไรบ้าง ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีการ หดตัวลงมา ในขณะที่ทางด้านอุปสงค์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.53% เพราะผู้บริโภคยังมีความต้องการซื้อแต่ก็เพิ่มได้ไม่มากนัก เนื่องจากมาตรการ LTV ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวขึ้นมาเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ไม่มากนัก ส่งผลทำให้มีการปรับตัวสูงขึ้น 3.80% ณ ไตรมาส 1 ปี 62 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยทรงตัวที่ 6.35% โดยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีค่าอยู่ที่ 1.75%

 

วิเคราะห์แนวทางการเตรียมการ Emerging Risk*

          

          ทุกวันนี้เราต่างเผชิญกับภาวะที่ความเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมมีเข้ามากันอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งพบว่าความเปลี่ยนแปลงจำนวนมากมี “ความเร็ว” ที่อยู่เหนือความคาดหมายของนักอนาคตศาสตร์ (Futurists) หรือส่งผลกระทบต่อชีวิตและธุรกิจกันโดยมิได้ตั้งตัวทัน อาจถึงขั้นเกิดการหายไปของบางอย่างที่เราคุ้นเคย และเรียกกันไปว่า Disruption ดังตัวอย่างรอบตัวอย่างเช่นการใช้กล้องถ่ายรูป (แทนที่ด้วยสมาร์ทโฟน) หรือการส่งจดหมาย (แทนที่ด้วยอีเมล) เป็นต้น

 

          หากไม่คิดอะไรมาก เราจะพยายามมองความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้หรือคิดว่ามันคือ “ธรรมชาติ” หรือ “ระบบ” ที่มันต้องเป็นไป และต้องพร้อมรับกับความสูญเสียที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ซึ่งอาจเรียกได้ว่ามันคือ Systemic Risks แต่สิ่งที่จะเรียกว่า Emerging Risks หรือความเสี่ยงอุบัติใหม่นั้นคือการตระหนักรู้ขององค์กรอย่างแท้จริงถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นและจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อรับมือกับมัน ซึ่งโดยลักษณะที่สำคัญของความเสี่ยงนี้คือมันเป็นสิ่งใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่สามารถสร้างความเสียหายต่อองค์กรได้ ถึงแม้จะยังคาดการณ์ถึงระดับความเสียหายนั้นได้ยากก็ตาม

 

          การบริหารความเสี่ยงองค์กร หรือ Enterprise Risk Management (ERM) โดยทั่วไปนั้นจะใช้การประเมินระดับความเสี่ยงในมิติของผลกระทบ (หรือความเสียหายที่เป็นไปได้) และโอกาสที่อาจเกิดขึ้นของความเสี่ยงนั้น ซึ่งวิธีการเช่นนี้อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพนักสำหรับความเสี่ยงอุบัติใหม่ ซึ่งมักจะเป็นความเสี่ยงที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยทั้งโอกาสที่อาจเกิดขึ้นและผลกระทบนั้นค่อนข้างยากที่จะประเมินได้ชัดเจนนัก ยกตัวอย่างกรณีของโครงสร้างและรูปแบบประชากรที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นอายุ (สังคมสูงอายุ) หรือความหลากหลายทางเชื้อชาติที่มากขึ้น ทุกคนต่างรับรู้ได้และเห็นตรงกันว่าสามารถสร้างผลกระทบได้กับทุกองค์กร เพียงแต่ไม่มีข้อมูลในมิติของโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้นั้นอย่างเพียงพอที่จะประเมินระดับความเสี่ยงที่ชัดเจนและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงองค์กรได้ ทั้งนี้ความเสี่ยงอุบัติใหม่ยังมีลักษณะเฉพาะอีกหลายประการ ได้แก่
          • การขาดความเห็นสอดคล้องกันของผู้เกี่ยวข้องในความเสี่ยง เนื่องด้วยการที่ไม่เคยเกิดขึ้นหรือเป็นไปได้ยาก ดังกรณีของวิกฤติเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่มักจะมีสัญญาณเตือน แต่ก็จะไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร
          • การขาดความชัดเจนที่จะเชื่อมโยงความเสี่ยงไปสู่ความเสียหายทางธุรกิจ ดังกรณีของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีความรวดเร็วในการเผยแพร่และสามารถสร้างผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง
          • ความยากที่จะสื่อสารสร้างความเข้าใจถึงความเสี่ยงให้กับผู้เกี่ยวข้องได้ ดังกรณีของเหตุการณ์ 9/11 ที่ก่อนหน้านั้นก็ได้มีข้อมูลบางอย่างที่บ่งชี้ถึงการเตรียมการของการก่อการร้ายในลักษณะเดียวกันนี้
          • การที่ความเสี่ยงนั้นถูกรวมอยู่ในการดำเนินงานปกติมาอย่างยาวนาน โดยขาดความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง ดังกรณีของวิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ที่เริ่มต้นจากสินเชื่อประเภท Subprime และธุรกรรมของอนุพันธ์ทางการเงินที่สร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น

 

          ด้วยลักษณะดังกล่าวในหลายกรณีนั้น จะเห็นได้ว่าสามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเติบโตหรืออยู่รอดขององค์กรได้ หากละเลยหรือไม่ได้กำหนดเป็นความเสี่ยงองค์กรขึ้น ซึ่งความเสี่ยงอุบัติใหม่มักจะไม่ได้ถูกให้ความสำคัญในการกำหนดเป็นความเสี่ยงองค์กร เนื่องด้วยองค์กรส่วนใหญ่มักมุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นภายในและประเด็นที่คนส่วนใหญ่รับรู้ได้ และองค์กรมักคิดว่าความเสี่ยงภายนอกเป็นประเด็นที่พิจารณาในระดับมหภาคเท่านั้น นอกจากนั้นองค์กรอาจมองข้ามความเสี่ยงอุบัติใหม่เหล่านี้ เนื่องจากกรอบและเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงองค์กรที่มีอยู่ไม่ได้วิเคราะห์ถึงการเชื่อมโยงระหว่างกันของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งสามารถที่จะกำหนดระบุความเสี่ยงอุบัติใหม่ขององค์กรได้ดังนี้
          • เริ่มแรกคือการทำความเข้าใจกับความเสี่ยงอุบัติใหม่และใช้กระบวนการบริหารความเสี่ยงขององค์กรดำเนินการ
          • การบูรณาการกระบวนการวิเคราะห์ระบุความเสี่ยงอุบัติใหม่กับกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ โดยกลยุทธ์ที่องค์กรเลือกดำเนินการทั้งหมดนั้น “จำต้องเผชิญ” กับความเสี่ยงที่มีอยู่เสมอ เพียงแต่ในระยะสั้นนี้อาจยังมีระดับความเสี่ยงไม่สูงมากนัก
          • สร้างสมมติฐานที่เป็นไปได้และประเมินเทียบกับโมเดลการดำเนินธุรกิจขององค์กร ซึ่งจะต้องทบทวนให้รอบคอบ เพราะความเสี่ยงอุบัติใหม่ส่วนใหญ่จะถูกรับรู้ว่าไม่สามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระยะสั้นได้
          • การทบทวนที่ดีจะต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าความเสี่ยงเหล่านั้นจะ “เริ่ม” สร้างความเสียหายต่อองค์กรได้เมื่อใด ทั้งในแง่ของโอกาสเกิดที่มีมากขึ้นและผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจมีสัญญาณที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้หรือ Triggers เป็นจุดบอก

 

          โอกาสที่จะเกิดขึ้นมักจะเป็นสิ่งที่อาจประเมินได้ยากกว่าในแง่ของการที่จะไปถึงจุดที่สามารถสร้างความเสียหายกับองค์กรได้ ซึ่งไม่ใช่โอกาสที่เรื่องนั้นๆ จะเกิดขึ้นได้ อันนี้ต้องไม่สับสน เช่น เริ่มมีการทำธุรกรรมด้วยคริปโตเคอเรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลอย่างแพร่หลายในช่วงปีที่ผ่านมา แต่เราอาจดำเนินธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์ต้องโฟกัสไปที่กลุ่มนักเดินทางที่เป็นลูกค้าของเรา รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่บริการของเราเป็นสำคัญ จึงจะได้โอกาสของความเสี่ยงที่ถูกต้อง หรืออย่างกรณีการเติบโตของสังคมเมือง (Urbanization) ที่พูดถึงกันมานานแต่เพิ่งเผชิญกับผลกระทบรูปแบบหนึ่งในเรื่องของปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 เป็นต้น

 

           ดังนั้นผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานด้านความเสี่ยงองค์กรควรให้ความสำคัญกับแนวโน้มระดับมหภาคที่สามารถเชื่อมโยงส่งผลกระทบได้กับปัญหาระดับองค์กรหรืออุตสาหกรรม ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญหรือแหล่งข้อมูลต่างๆ ภายนอกที่องค์กรอาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง ทำให้การวิเคราะห์ระบุความเสี่ยงอุบัติใหม่นี้จึงไม่สามารถใช้แนวทางการวิเคราะห์ความเสี่ยงแบบเดิมๆ ที่มุ่งค้นหาความเสี่ยงจากปัจจัยภายในหรือที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเป็นสำคัญ และสิ่งนี้ทำให้นักบริหารความเสี่ยงนั้น มีความสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรได้ โดยการสื่อสารถึงประเด็นความเสี่ยงและจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม รวมทั้งการร่วมกันทบทวนความเสี่ยงอุบัติใหม่อย่างสม่ำเสมอ

 

วิเคราะห์ภูมิภาคอาเซียนผ่านการค้าภาคบริการ

 

          ในช่วงที่ผ่านมาการค้าภาคบริการ (Services Trade) มีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของภาคบริการสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีเพียงช่วงหลังวิกฤติการเงินโลกในปี 2550-2551 ที่มีการชะลอตัว ในช่วงดังกล่าวการส่งออกภาคบริการของอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า ส่วนการนำเข้าบริการมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2เท่า และในปี 2558 อาเซียนเปลี่ยนบทบาทจากผู้นำเข้าสุทธิ มาเป็นผู้ส่งออกสุทธิในภาคบริการ

 

          เหตุใดการค้าภาคบริการจึงมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในยุคที่เศรษฐกิจโลกอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้หลายบริการสามารถเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศได้ ประกอบกับการเติบโตของการค้าภาคบริการที่ขยายตัวสูงกว่าการค้าภาคสินค้า จึงทำให้การค้าภาคบริการมีบทบาทที่มากขึ้นในเวทีการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้การค้าภาคบริการยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะภาคบริการที่มีการค้าระหว่างประเทศ หากแต่กระจายไปยังภาคบริการอื่นๆ รวมถึงภาคการผลิต เนื่องจากในทุกภาคการผลิตในระบบเศรษฐกิจมีภาคบริการเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตเสมอ ส่งผลให้มีแนวคิดใหม่ที่ว่าการค้าภาคบริการเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

 

           ในกลุ่มประเทศอาเซียน สมาชิกที่เป็นผู้ส่งออกและนำเข้าหลักในภาคบริการคือ สิงคโปร์ รองลงมาคือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จากข้อมูลของ ASEAN Secretariat พบว่าการค้าภาคบริการของอาเซียนมีมูลค่าสูงใน 3 ภาคบริการหลักที่อาเซียนมีศักยภาพคือ ท่องเที่ยว ขนส่งและบริการธุรกิจอื่นๆอย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาภาคบริการของอาเซียนที่มีการเติบโตด้านการส่งออกสูง พบว่าอยู่ในกลุ่มของทรัพย์สินทางปัญญา ประกัน และบำนาญและบริการด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Telecommunication and ICT) ส่วนภาคบริการที่มีการนำเข้าเติบโตสูงคือ บริการด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การซ่อมบำรุงและการซ่อมแซม และบริการทางการเงิน

 

           เป็นที่น่าสังเกตว่าการค้าภาคบริการในอาเซียนที่เติบโตสูงอยู่ในกลุ่มของ Modern Services ซึ่งเป็นการค้าภาคบริการที่สามารถดำเนินการผ่าน ICT ในขณะที่ภาคบริการในกลุ่ม Traditional Services เช่น ท่องเที่ยว ขนส่ง และบริการธุรกิจอื่นๆ เป็นส่วนที่มีประเทศสมาชิกอาเซียนมีศักยภาพในการส่งออก และเป็นส่วนที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เมื่อมองถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต คำถามหนึ่งที่สำคัญคือ ควรมีแนวทางการพัฒนาอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจอาเซียนมีการเติบโตไปข้างหน้า โดยส่วนใหญ่จะระบุว่าการค้าภาคบริการเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ประกอบกับเมื่อพิจารณานโยบายการพัฒนาของหลายประเทศในอาเซียน พบว่ามีแนวทางการพัฒนาที่เน้นภาคบริการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการพัฒนาด้าน ICT ซึ่งเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล

 

           นอกจากนี้อาเซียนยังมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาภาคบริการในระดับสูงเนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain: GVC)ในระดับสูง ซึ่งเมื่อภาคบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะส่งผลไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในGVC

 

           ในขณะที่การค้าภาคบริการมีความสำคัญมากขึ้นในอาเซียน การเปิดเสรีภาคบริการก็มีความคืบหน้าเช่นเดียวกัน โดยในวันที่ 23 เมษายน 2562 ในช่วงการประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 25 ที่กระทรวงพาณิชย์ไทยเป็นเจ้าภาพ ณ จังหวัดภูเก็ต รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement :ATISA) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 180 วันหลังการลงนาม

 

           ความตกลง ATISA ซึ่งมีมาตรฐานสูงและครอบคลุมในทุกสาขาบริการ จะมีส่วนช่วยในการยกระดับมาตรฐานการจัดทำกฎระเบียบด้านบริการของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดอุปสรรคทางการค้าที่เกินความจำเป็น รวมทั้งช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าบริการของประเทศสมาชิกอาเซียน

 

            โดยสรุปก็คือจากการค้าภาคบริการที่มีความสำคัญมากขึ้นต่ออาเซียน บทบาทในฐานะปัจจัยที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปิดเสรีภาคบริการที่เพิ่มมากขึ้นภายใต้ ATISA ทำให้ทุกภาคส่วนควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการ เพื่อให้สามารถรองรับการเปิดเสรีที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคตต่อไปอีกด้วย

 


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.สุรเดช จองวรรณศิริ ผู้อำนวยการ TRIS Academy of Management

 

 

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 28 มิถุนายน 2562

2864 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย