หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนพฤษภาคม 2562)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนพฤษภาคม 2562)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนพฤษภาคม 2562)


          ข้อมูลเดือนมีนาคม 2562 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันมีความผันผวนและมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดปรับตัวสูงขึ้นตามสภาพอากาศที่ร้อนทำให้ไม่ค่อยมีสินค้าออกมาในตลาด ส่งผลทำให้ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนภาคการผลิตมีการปรับตัวมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการได้ชะลอการผลิตสินค้าในช่วงก่อนหน้าไปมากแล้ว ประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศได้ทยอยเข้ามา จึงทำให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าขยายตัวสูงมากขึ้น ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวสูงขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนจาการลงทุนด้านอื่นๆ ยังมีค่าไม่มาก ทำให้ประชาชนไม่ได้มีการลงทุนมากเท่าไรนัก ส่งผลให้ประชาชนมีการออมเงินปรับตัวสูงขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวเพิ่มขื้น เนื่องจากธนาคารได้ทยอยปล่อยสินเชื่อออกมา ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อมีการขยายตัวขึ้นมา แต่ก็ยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

 ธันวาคม 61

มกราคม 62

กุมภาพันธ์ 62

มีนาคม 62

ดัชนีราคาผู้บริโภค

101.73

101.71

101.95

102.37

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

102.69

108.00

105.15

115.09

อัตราการใช้กำลังการผลิต

67.56

70.46

69.07

74.38

ดุลการค้า

2,456.84

-210.71

3,454.58

3,584.49

ดุลบัญชีเดินสะพัด

4,506.09

2,012.00

6,504.72

6,080.26

เงินฝาก

13,759.12

13,845.05

13,940.86

n.a.

เงินให้สินเชื่อ

15,114.38

15,129.54

15,226.91

n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                             หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                                                  อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
                       ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนมีนาคม 2562
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มี.ค. 61 กับ 62 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ มี.ค. 61

35,275

40.01%

ณ มี.ค. 62

20,883

-40.80%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ มี.ค. 62 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

7,961

38.12

บ้านเดี่ยว

7,689

36.82

ทาวน์เฮ้าส์

4,571

21.89

อาคารพาณิชย์

435

2.08

บ้านแฝด

227

1.09

รวม

20,883

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        -การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มี.ค. 61 กับ 62 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ มี.ค. 61

42,104

42.36%

ณ มี.ค. 62

47,770

13.46%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ มี.ค. 62 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

22,077

46.22

ทาวน์เฮ้าส์

14,676

30.72

บ้านเดี่ยว

7,024

14.70

อาคารพาณิชย์

2,119

4.44

บ้านแฝด

1,874

3.92

รวม

47,770

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 62

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม-กุมภาพันธ์

6.27

1.75

มีนาคม

6.35

1.75

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
                      หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, 
             ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนมีนาคม 2562

          ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 40.80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีอัตราเติบโตที่ค่อนข้างทรงตัว ประกอบกับภาวะการเมืองที่อยู่ในช่วงเลือกตั้ง ทำให้ผู้ประกอบการต่างรอดูสถานการณ์ไปก่อนว่าภายหลังการเลือกตั้งแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีการหดตัวลงมา ในขณะที่ทางด้านอุปสงค์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.46% เพราะมีการเร่งโอนให้ทันกับมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เริ่มดำเนินการใช้ในเดือนเมษายน รวมไปถึงผู้บริโภคยังมีความต้องการซื้อ ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นไปเป็น 6.35% โดยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีค่าอยู่ที่ 1.75%

 

วิเคราะห์จุดด้อยของความเป็นอิสระของธนาคารกลาง*

         

          นิตยสาร The Economist ได้ตีพิมพ์บทความโดยกล่าวว่าความเป็นอิสระของธนาคารกลางทั่วโลกกำลังตกอยู่ในหายนะ เนื่องจากถูกแทรกแซงจากภาคการเมือง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งนิตยสาร The Economist มองว่าธนาคารกลางจำเป็นต้องคงความเป็นอิสระทางวิชาการและนโยบายเนื่องด้วยเหตุผลสำคัญคือ “เงินเฟ้อ” ซึ่งโดยใจความหลักมาจากแนวคิดที่ว่านักการเมืองมักมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าศักยภาพ เพื่อให้ตนเองได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารเศรษฐกิจที่ “เก่ง” และได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้ง

 

          โดยวิธีที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าศักยภาพก็คือการทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงกว่าเงินเฟ้อที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้คนรู้สึกอยากจับจ่ายมากขึ้น ทำให้ยอดขายของธุรกิจต่างๆ ดีขึ้น เกิดการจ้างงานมากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นกว่าปกติในช่วงสั้น แต่ในระยะยาวไม่ได้ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจเริ่มปรับลดคนงาน แต่เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงและกดดันเศรษฐกิจในช่วงต่อไป ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องเป็นอิสระ มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้สาธารณชนเชื่อได้ว่าจะสามารถคุมเงินเฟ้อได้ในระดับที่ควรจะเป็น

 

          ตัวอย่างของธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงคือในยุคประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันในช่วงปี 1972 ที่ต้องการให้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง จึงกดดันให้อาเธอร์ เบิร์น ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในช่วงนั้นทำนโยบายการเงินผ่อนคลายพร้อมๆ กับยกเลิกนโยบาย “มาตรฐานดอลลาร์” (Dollar Standard) หรือการที่ค่าเงินดอลลาร์ผูกติดกับทองคำ ทำให้ Fed สามารถพิมพ์เงินได้โดยไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง และเป็นผลให้ เงินเฟ้อในสหรัฐพุ่งขึ้นจาก 4% เป็น 12% และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำจนทำให้ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ต้องตั้ง พอล โวล์กเกอร์ มาเป็นประธาน Fed และขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง จึงจะสามารถลดเงินเฟ้อได้

 

          The Economist มองว่ากระแสสังคมและการเมืองทั่วโลกที่เริ่มกดดันธนาคารกลางว่าทำนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไปนั้น จะทำให้เกิดเงินเฟ้อรอบใหม่ขึ้นได้ โดยในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทรัมพ์ส่งสัญญาณกดดัน เจย์ พาว์เวลล์ ประธาน Fed คนปัจจุบันให้ลดดอกเบี้ยตลอดมา ในญี่ปุ่น นายกฯ ชินโซ อาเบะ เปลี่ยนผู้ว่าฯ ธนาคารกลาง (BOJ) มาเป็น ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ในปี 2013 ก็เพื่อให้ BOJ หันกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและคุณภาพ (ซึ่งก็มีส่วนทำให้ญี่ปุ่นหลุดจากภาวะเงินฝืด) ส่วนในอินเดีย นารินดรา โมดิ ก็เปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารกลาง (RBI) เพื่อให้ RBI ลดดอกเบี้ยเช่นกัน

 

          กระแสการเมืองที่กดดันความเป็นอิสระของธนาคารกลางเหล่านี้ ทำให้ The Economist และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหากเงินเฟ้อกลับมา จะทำให้ผู้คนไม่เชื่อว่าธนาคารกลางจะคุมเงินเฟ้ออยู่ได้ และอาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปสูงมาก (Hyperinflation) ได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาดังกล่าว โดยเห็นว่าการให้อิสระต่อธนาคารกลางอย่างเต็มที่โดยปราศจากความรับผิดชอบนั้นไม่เหมาะสมกับบริบทปัจจุบันของเศรษฐกิจโลกและไทยด้วยเหตุผล 3 ประการ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

          1.เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันต่างจากอดีต เพราะปัจจุบันกำลังเผชิญกับภาวะ New Normal จากการเติบโตที่ “ซึม” ยาว อันเป็นผลจาก
          • สังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศเจริญแล้ว ทำให้กำลังแรงงานลดลง
          • ภาวะหนี้ทั่วโลกที่สูงขึ้น ทั้งหนี้สาธารณะในประเทศพัฒนาแล้วและหนี้ครัวเรือนในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ภาครัฐและเอกชนต้องนำเงินไปจ่ายภาระดอกเบี้ยมากขึ้นและเหลือเงินน้อยลงในการบริโภคและลงทุน
          • เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ขณะที่่ความต้องการใช้จ่ายของประชาชนมีน้อยลง (Excess supply)

 

          ภาวะเหล่านี้จะกดดันให้เงินเฟ้อทั่วโลกต่ำลงระยะยาว และไม่ตอบสนองต่อการเกิดปัญหาด้านการผลิต (Supply shock) เช่นในอดีต แม้บริบทโลกจะเปลี่ยนไป แต่ธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะ Fed ยังคงใช้แบบจำลองเศรษฐกิจ (Economic Model) เดิมในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ทำให้ Fed คาดการณ์เงินเฟ้อสูงกว่าความเป็นจริงตลอดมา และทำให้ Fed ทำนโยบายการเงินตึงตัวเกินไป และส่งผลลบต่อตลาดการเงินสหรัฐอเมริกา รวมถึงเศรษฐกิจอื่นๆ ทั่วโลกผ่านต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และทำให้ธนาคารกลางอื่นๆ ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามแม้เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้เศรษฐกิจยิ่งตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

 

          2.การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน การที่ธนาคารกลางมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างเป็นเอกเทศแล้ว มักดำเนินนโยบายที่ยึดแต่เสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก และละเลยการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจ นโยบายดังกล่าวมักไม่สอดคล้องกับนโยบายการคลังที่มุ่งเน้นการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจ เช่น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการ LTV เพื่อคุมเข้มภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่กระทรวงการคลังทำมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ในเชิงทฤษฎีผลของนโยบายที่ขัดกันดังกล่าวจะหักล้างกัน แต่จะก่อให้เกิดผลเสียคือต้นทุนทางการเงินของผู้พัฒนาโครงการและผู้กู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ในเชิงปฏิบัติ การขัดกันของนโยบายจะส่งสัญญาณที่สับสนไปสู่ผู้ประกอบการว่าควรจะชะลอหรือเร่งขยายธุรกิจ อันเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม

 

          3.การที่ธนาคารกลางเป็นอิสระจนเกินไป ทำให้นโยบายเศรษฐกิจโดยรวมขาดความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้พบว่าธนาคารกลางที่มีความเป็นอิสระสูง มักจะมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างตายตัว (เช่น นโยบาย ธปท. ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997)

 

          ซึ่งแม้ว่าสองนโยบายดังกล่าวจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่การตอบสนองต่อเศรษฐกิจจะต่ำกว่าธนาคารกลางที่ความเป็นอิสระต่ำกว่า แต่มีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ธนาคารกลางเกาหลีใต้ที่มีการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดผสานกับนโยบายการคลังของรัฐบาล ทำให้เกาหลีใต้ฟื้นจากวิกฤตต้มยำกุ้งเร็วกว่าไทยในช่วงดังกล่าว

 

          โดยสรุปจะเห็นได้ว่าเหตุผลทั้งสามบ่งชี้ว่าในภาวะที่เศรษฐกิจโลกไม่มีความเสี่ยงเงินเฟ้อนั้น ธนาคารกลางที่อิสระจนเกินไป จะขาดความยืดหยุ่น และการสอดผสานเชิงนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที และอาจจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นนั่นเอง

 

วิเคราะห์แนวทางการลงทุนของนักลงทุนในอนาคต

 

          จากข้อมูลการสำรวจ 2018 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ภาคีระดับโลก ที่ประกอบด้วยหน่วยงานสกุล SIF (Sustainable Investment Forum) และสมาคมของผู้ลงทุนสถาบัน องค์กรธุรกิจ และนักวิชาชีพ ที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืน มีความรับผิดชอบ และมุ่งผลกระทบในประเทศต่างๆ ได้แก่ Eurosif (ยุโรป), JSIF (ญี่ปุ่น), RIAA (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์), RIA Canada (แคนาดา), UKSIF (สหราชอาณาจักร), USSIF (สหรัฐอเมริกา) และ VBDO (เนเธอร์แลนด์) ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลกมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 22.89 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2559 มาอยู่ที่ 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในช่วงเวลา 2 ปี

 

          โดยการลงทุนในหมวดนี้คิดเป็นร้อยละ 33 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนว่าได้เข้าสู่ทิศทางของการลงทุนกระแสหลัก (Mainstream) โดยกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ประเภทสถาบันอย่างมีนัยสำคัญ

 

          โดยเฉพาะตัวเลขการเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ผนวกในการวิเคราะห์ในปี พ.ศ.2561 มีเม็ดเงินสูงถึง 17.54 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2559 ในขณะที่บริษัทแบล็กร็อก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใหญ่อันดับหนึ่งของโลก กล่าวไว้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้ลงทุนทุกรายจะประเมินมูลค่าบริษัทด้วยการวัดผลกระทบของกิจการในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

 

          การใช้ปัจจัย ESG ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุนร่วมกับการพิจารณา Risk-Return Profile ในแบบทั่วไป นอกจากจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเองในแง่ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดความผันผวนของราคาของหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนแล้ว ยังทำให้การลงทุนนั้นช่วยเสริมสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) ในทางที่ดีขึ้นด้วย

 

          ในหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principle for Responsible Investment: PRI) ที่พัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงินภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP Finance Initiative) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ได้คาดการณ์ว่ากลยุทธ์การลงทุนในศตวรรษที่ 21 จะมีมิติเรื่อง Real World Impact เพิ่มเติมจากการพิจารณา Risk-Return Profile โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจะต้องเผชิญกับคำถามเหล่านี้มากขึ้นดังต่อไปนี้
          • มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจ (Fiduciary Duty) ที่ไม่จำกัดเฉพาะการรักษาผลประโยชน์ทางการเงินแก่ผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่
          • มีการกำหนดวัตถุประสงค์หลักที่จะสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้น ให้เป็นส่วนหนึ่งของผลการลงทุนที่ได้รับด้วยหรือไม่
          • มีการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ว่าเป็นโอกาสและ/หรือความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญหรือไม่
          • มีการผนวกปัจจัยด้าน ESG ในการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุนหรือไม่
          • มีการสานสัมพันธ์ในเชิงรุกกับบริษัทที่เข้าลงทุนหรือไม่

 

          ทั้งนี้ผู้ลงทุนในกลุ่มดังกล่าวจะพิจารณาให้น้ำหนักความสำคัญต่อผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงโลกไว้ในทางเลือกกลยุทธ์และในการตัดสินใจลงทุน โดยมีแรงขับดันมาจากผลประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาว และสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ข้อ ที่ประกาศใช้โดยองค์การสหประชาชาติ

 

          เป็นที่คาดหมายว่าผู้ลงทุนประเภทสถาบันในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG จะเพิ่มการพิจารณาผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) เป็นมุมมองของการลงทุนในมิติที่สาม เพิ่มเติมจากการพิจารณาคุณลักษณะความสัมพันธ์ด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk-Return Profile) ในแบบทั่วไปนับจากนี้ไป ซึ่งจะทำให้แนวทางการลงทุนของนักลงทุนจะเปลี่ยนไปโดยจะมีการพิจารณาบริษัทที่มีการดำเนินการด้าน ESG เข้ามาสู่พอร์ตในการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

 


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ "Global Vision"

 

 

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 24 พฤษภาคม 2562

1649 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย