ความแตกต่างของกองทุน Active และ Passive*
ในโลกของการลงทุนมีนโยบายการลงทุนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กองทุน Active (กองทุนเชิงรุก) และ Passive (กองทุนที่เลียนแบบดัชนีมาตรฐาน)
กองทุน Active คือการลงทุนแบบศึกษาและคัดเลือกหุ้นแบบเจาะลึก โดยมีจุดประสงค์ต้องการเอาชนะดัชนีมาตรฐาน ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการกองทุนใช้ SET Index เป็นดัชนีมาตรฐาน ดังนั้นเพื่อที่จะชนะดัชนีมาตรฐาน ผู้จัดการกองทุนจึงทำการจัดสัดส่วนหุ้นในพอร์ตโดยเพิ่มน้ำหนัก (Overweight) หุ้นที่คิดว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาด และลดน้ำหนัก (Underweight) หุ้นที่คิดว่าจะแย่กว่าตลาด ส่งผลให้กองทุนจะได้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและลง ตามผลงานวิจัยต่างประเทศพบว่ากองทุนประเภทนี้ หากมีผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้นอย่างดีแล้วผลตอบแทนก็ควรจะดีกว่าการปล่อยให้ผลตอบแทนอิงกับดัชนีมาตรฐานเพียงอย่างเดียว ทำให้การลงทุนแบบนี้มีค่าธรรมเนียมการจัดการที่สูงกว่าแบบ Passive มาก เพราะผู้จัดการกองทุนต้องใช้เวลาในการคัดเลือกหาหุ้นและปรับสัดส่วนเพื่อชนะตลาด
ส่วนกองทุน Passive นั้น เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนที่ให้ผลตอบแทนล้อไปตามดัชนีมาตรฐาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของ ETF (Exchange-traded fund) ดังนั้นผู้จัดการกองทุนไม่ต้องทำอะไรมาก ทำให้การลงทุนแบบนี้มีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่ากองทุน Active มาก นักลงทุนที่เลือกลงทุนในกองทุนประเภทนี้ ถ้าอ้างอิงตามผลงานวิจัยต่างประเทศเพราะมีความเชื่อว่าในระยะยาวไม่มีใครที่จะสามารถเอาชนะตลาดได้
ดังนั้นแล้วควรจะลงทุนในกองทุนประเภทใด จากผลงานวิจัยต่างประเทศที่เชื่อว่ากองทุน Passive ให้ผลตอบแทนดีกว่า Active ในระยะยาวนั้น พบว่ามักจะเกิดกับกองทุนในต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ เนื่องจากความมีประสิทธิภาพของตลาด (Efficient Market) โดยในทฤษฎีของตลาดที่มีประสิทธิภาพมีความเชื่อว่าราคาจะไม่สามารถคาดเดาได้ ผู้เข้าร่วมตลาดทุกรายมีความลับในข้อมูลเดียวกันไม่มีใครจะมีความสามารถในการทำกำไรให้กับบุคคลอื่น เพราะข้อมูลทุกอย่างรับรู้ไปในราคาหุ้นแล้ว ทำให้โอกาสในการทำกำไรจากราคาตลาดที่เบี่ยงไปจากราคาที่ควรจะเป็นมีน้อย ยากต่อการคัดสรรหุ้นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดมาอยู่ในกองได้ยาก ทำให้โดยส่วนใหญ่กองทุนแบบ Passive ของสหรัฐฯ จะชนะกองทุนแบบ Active ในทางกลับกันตลาดหุ้นในประเทศประเทศไทยหรือประเทศในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เป็นตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้นักลงทุนมีโอกาสทำกำไรจากความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดได้ เช่น ใช้ข้อมูลภายใน (Inside Information) ในการทำกำไร หรือหุ้นหลายตัวยังไม่มีนักวิเคราะห์ให้ข้อมูลสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น Fundamental หรือ Technical analysis ทำให้การบริหารกองทุนประเภท Active สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดได้มาก
นอกจากนี้ข้อดีอีกข้อของกองทุนแบบ Active คือ ในช่วงที่ตลาดเป็นขาลง การบริหารของผู้จัดการกองทุนสามารถจำกัดความเสี่ยงในการปรับตัวลง (Downside risk) ของกองทุนได้ โดยการปรับเพิ่มลดสัดส่วนหรือปรับเปลี่ยนหุ้นที่อยู่ในกองทุน ต่างจากกองทุนแบบ Passive ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหุ้นหรือเพิ่มลดสัดส่วนได้ เพราะต้องลงทุนให้ผลตอบแทนของกองทุนล้อไปตามดัชนีอ้างอิงตลอด ทำให้ตลาดขาลง Passive จึงมีโอกาสปรับตัวลงได้มากกว่านั่นเอง
โดยสรุปจะเห็นได้ว่าการเลือกว่าจะลงทุนในกองทุนประเภทใดระหว่าง 2 กองทุนดังกล่าวจึงขึ้นกับว่าคุณเชื่อถึงความสามารถของผู้จัดการที่บริหารกองทุนนั้นว่าจะสามารถบริหารกองทุนได้ชนะดัชนีมาตรฐานหรือไม่ โดยแลกมากับการต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการจัดการที่เพิ่มขึ้นมากกว่ามาก ดังนั้นนักลงทุนหลายคนจึงอาจเลือกที่จะกระจายการลงทุนไปในทั้งกองทุน 2 ประเภท อย่างไรก็ตามควรจำไว้ว่าผลตอบแทนของกองทุนในอดีตไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงผลตอบแทนในอนาคต
_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : คอลัมน์กองทุนรวม หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์
กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร