Main Page > Financial Articles > ตลาดหุ้นตกอีกมากแค่ไหน เมื่อ Fed เริ่มลด QE จริงๆ

ตลาดหุ้นตกอีกมากแค่ไหน เมื่อ Fed เริ่มลด QE จริงๆ

ตลาดหุ้นตกอีกมากแค่ไหน เมื่อ Fed เริ่มลด QE จริงๆ*

           สิ่งที่นักลงทุนกังวลที่สุดคือ เมื่อ Fed เริ่มลดวงเงิน QE จริงๆ ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยจะตกอีกมากแค่ไหน ความเห็นคือราคาหุ้นน่าจะลดลงไม่มาก หากลงมากน่าจะแค่ช่วงแรกๆ ที่นักลงทุนอยู่ในอาการตกใจ หลังจากนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกจะกลับสู่ขาขึ้น และน่าจะขึ้นยาวไปอีก 2 ปี โดยมีเหตุผลสนับสนุนแนวคิดอยู่ 5 ข้อ

           1. แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชัดเจนขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 56 ตอนที่ Fed ออกมาส่งสัญญาณอาจจะปรับลดวงเงิน QE เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนนัก การประกาศแผนลด QE ของ Fed ช่วงนั้นทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลงอีก เป็นผลทำให้เกิดแรงเทขายครั้งใหญ่ในตลาดหุ้น แต่ตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแรงขึ้นมาก เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่วงจรการฟื้นตัวชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป ญี่ปุ่น จีน จึงเชื่อว่าการลด QE จะไม่ทำให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้น เพราะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นช่วยให้ภาคธุรกิจมีผลประกอบการดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักให้ราคาหุ้นปรับสูงขึ้น

           2. นักลงทุนเริ่มเข้าใจว่าการลด QE ไม่ได้แปลว่า Fed เริ่มใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา Fed พยายามทำให้นักลงทุนแยกแยะระหว่างการลด QE กับการเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน โดยบอกชัดเจนว่ามาตรการ QE มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุม Momentum ของเศรษฐกิจระยะสั้น ขณะที่นโยบายด้านดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการบริหารนโยบายการเงิน และรักษาเสถียรภาพทางการเงินระยะยาว แปลง่ายๆ คือ การที่ Fed จะตัดสินใจลด QE ไม่ได้หมายความว่า Fed จะเปลี่ยนไปใช้นโยบายการเงินที่รัดกุมขึ้น แต่แปลว่ามีความมั่นใจมากขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ จึงเชื่อว่านักลงทุนเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับมาตรการ QE และการลด QE จะเห็น Panic Selling ลดลงมาก 

           3. นักลงทุนเริ่มแยกแยะตลาดเกิดใหม่ที่เสี่ยงต่ำออกจากกลุ่มเสี่ยงสูง นักลงทุนแยกแยะตลาดเกิดใหม่ออกจากกันชัดเจนขึ้น ระหว่างกลุ่มเสี่ยงต่ำกับความเสี่ยงสูง ดังนั้นการลด QE ถ้าจะมีผลกระทบทางลบน่าจะเป็นกับกลุ่มเสี่ยงสูง ไม่น่าส่งผลให้สภาพคล่องไหลเข้าสู่ตลาดกลุ่มเสี่ยงต่ำลดลง ซึ่งวิธีดูว่าประเทศไหนเสี่ยงระดับใด ดูจากดุลบัญชีเดินสะพัด ประเทศไหนที่อดีตการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หรือมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจอ่อนแอ (ส่งออกน้อย แต่นำเข้าสูง) หรือพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สูงๆ (ปัจจุบันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ) จะทำให้ถูกจัดอยู่ในประเทศที่เสี่ยงสูง ถัดมาดูทิศทางดอกเบี้ยภายในว่าจะปรับขึ้นเร็วและมากกว่าดอกเบี้ยโลกหรือไม่ ทั้งนี้เชื่อว่าดอกเบี้ยไทยไปในทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยโลก เพราะเงินเฟ้อไทยใกล้เคียงกับโลก และสภาพคล่องของไทยสูงมาก ค่าเงินบาทไม่ได้ Overvalued ทำให้เชื่อว่าไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เสี่ยงต่ำ ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ภาพนี้เปลี่ยนไปคือการเมืองที่เลวร้ายลงมากๆ

           4. Valuations ของตลาดเกิดใหม่ลดลงมากแล้ว ช่วงก่อนมีคำขู่จาก Fed ว่าจะลด QE ตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่บางแห่งมี Valuations แพงกว่าตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ล่าสุดตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่มีค่า P/E Ratio เฉลี่ย 12 เท่า ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมี P/E Ratio เฉลี่ย 17 เท่า หรือ Valuations ถูกกว่าถึง 40% ซึ่งกระตุ้นให้ตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่น่าสนใจ เพราะพฤติกรรมนักลงทุน คือ ชอบของถูก นอกจากนี้ตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ยัง Underperformed ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เงินจะเริ่มไหลเข้าตลาดเกิดใหม่

          5. เงินลงทุนจะ Rotate ออกจากตราสารหนี้เข้าตลาดหุ้นมากขึ้น การลด QE แม้ยังไม่ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายกลับสู่ขาขึ้น แต่เป็นแรงกดดันทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้นอีก เม็ดเงินส่วนหนึ่งที่ลงทุนอยู่ในตลาดตราสารหนี้จะถูกโยกเข้าสู่ตลาดหุ้น เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องดอกเบี้ย

          โดยสรุปจากเหตุผลทั้ง 5 ข้อ ทำให้มองว่าการปรับลด QE ไม่น่ากลัวสำหรับตลาดหุ้นไทยอย่างที่คิดกัน โดยเฉพาะการดำเนินการตอนที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนจะทำให้นักลงทุน ตื่นตระหนกน้อยกว่ารอบที่แล้วอย่างแน่นอน

 

________________________
* โดย : ไพบูลย์ นลินทรางกูร 

Financial Articles

24 JAN 2014

3212 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย