รายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนมกราคม 2558
ข้อมูลเดือนมกราคม 2558 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลง เพราะราคาน้ำมันมีทิศทางที่ลดลงอยู่ต่อไปจนส่งผลทำให้ราคาสินค้ามีการปรับตัวลดลงไป ส่วนภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงก่อนหน้านั้นผู้ประกอบการได้ชะลอการผลิตลงไปมากแล้ว ดังนั้นในเดือนนี้ผู้ประกอบการจึงได้เร่งการผลิตขึ้นมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวลดลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ามีการปรับตัวลดลงไปค่อนข้างมาก ทำให้ยังไม่น่าเป็นห่วงมากเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากมีค่าเพิ่มขึ้นแต่เงินให้สินเชื่อมีค่าลดลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังมีการออกแคมเปญทางการเงินใหม่ๆ ส่งผลทำให้ประชาชนนำเงินมาฝากเพิ่ม ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ จึงส่งผลให้ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อออกมา
ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน
รายละเอียด |
ตุลาคม 57 |
พฤศจิกายน 57 |
ธันวาคม 57 |
มกราคม 58 |
ดัชนีราคาผู้บริโภค |
107.3 |
107.2 |
106.7 |
106.0 |
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม |
167.14 |
169.09 |
168.26 |
169.42 |
อัตราการใช้กำลังการผลิต |
60.30 |
60.36 |
60.43 |
60.62 |
ดุลการค้า |
2,082.00 |
1,913.62 |
3,640.01 |
1,392.03 |
ดุลบัญชีเดินสะพัด |
2,628.38 |
1,664.01 |
5,522.88 |
2,506.33 |
เงินฝาก |
11,585.95 |
11,786.89 |
12,010.57 |
n.a. |
เงินให้สินเชื่อ |
12,880.89 |
12,890.61 |
12,872.86 |
n.a. |
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2545 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2543
ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนมกราคม 2557
• ด้านอุปทาน
- ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ม.ค. 57 กับ 58 มีรายละเอียดดังนี้
ปี |
จำนวน(ยูนิต) |
การเติบโต(%) |
ณ ม.ค. 56 |
4,652 |
NA |
ณ ม.ค. 57 |
5,637 |
21.17% |
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
- ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ม.ค. 58 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้
ประเภท |
จำนวน(ยูนิต) |
สัดส่วน(%) |
บ้านเดี่่ยว |
2,797 |
49.62 |
ทาวน์เฮ้าส์ |
1,897 |
33.65 |
อาคารชุด |
464 |
8.23 |
บ้านแฝด |
247 |
4.38 |
อาคารพาณิชย์ |
232 |
4.12 |
รวม |
5,637 |
100.00 |
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
• ด้านอุปสงค์
- การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ม.ค. 57 กับ 58 มีรายละเอียดดังนี้
ปี |
จำนวน(ยูนิต) |
การเติบโต(%) |
ณ ม.ค. 57 |
10,665 |
NA |
ณ ม.ค. 58 |
13,026 |
22.14% |
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
- ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ม.ค. 58 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้
ประเภท |
จำนวน(ยูนิต) |
สัดส่วน(%) |
อาคารชุด |
4,527 |
34.75 |
ทาวน์เฮ้าส์ |
4,378 |
33.61 |
บ้านเดี่ยว |
2,319 |
17.80 |
อาคารพาณิชย์ |
1,310 |
10.06 |
บ้านแฝด |
492 |
3.78 |
รวม |
13,026 |
100.00 |
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
• สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่บุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
- สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ณ ไตรมาส 4 ปี 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 168,861 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น
16.60% จาก ณ ไตรมาส 4 ปี 56 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 144,825 ล้านบาท
• สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
- สินเชื่อที่อยู่อาศัยค้างบุคคลทั่วไป ณ ไตรมาส 4 ปี 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,847,356 ล้านบาท
ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.34% จาก ณ ไตรมาส 4 ปี 56 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 2,557,313 ล้านบาท
• อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้
ปี 58 |
อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 6 ธนาคาร |
อัตราดอกเบี้ย นโยบาย ธปท. |
มกราคม |
7.09 |
2.00 |
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ,
ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์
สรุปภาพภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนมกราคม 2558
ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีปัญหาในเรื่องของการเมือง จึงทำให้ผู้ประกอบการได้ชะลอการเปิดโครงการใหม่ ทำให้อุปทานในเดือนนี้ของปี 2558 จึงมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมา ในขณะที่ทางด้านอุปสงค์ปรับตัวสูงขึ้น 22.14% ซึ่งก็เป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับอุปทาน เพราะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปีที่แล้วค่อนข้างชะลอตัวตามภาวะการเมืองที่ไม่แน่นอน ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยว ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ยังมีการขยายตัวได้อยู่ ซึ่งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.34% ณ ไตรมาส 4 ปี 57 ในขณะที่ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยทรงตัวอยู่ที่ 7.09% โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีค่าเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลงที่ 2.00%
วิเคราะห์ภาวะการเงินโลกและไทย*
ตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งปัจจุบันธนาคารกลางของ 13 ประเทศได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว ทั้งๆ ที่มีคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้อยู่ในช่วงของการฟื้นตัว เช่น แบงก์ออฟอเมริกามองว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.6% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2014 ซึ่งขยายตัว 3.2% ส่วนไอเอ็มเอฟก็มองว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 3.5% จาก 3.3% ในปีก่อนหน้า คำถามคือทำไมธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เดนมาร์ก อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ต้องรีบลดดอกเบี้ยเพื่อผ่อนคลายนโยบายการเงินหากมั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกเป็นขาขึ้น และการที่ราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างมากก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย (ยกเว้นกรณีของรัสเซีย)
การผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ของธนาคารกลางดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการผ่อนคลายทางการเงินในเชิงปริมาณ โดยประเทศเศรษฐกิจหลักในแบบอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กล่าวคือธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ยุโรป (ที่ใช้เงินสกุลยูโร) และญี่ปุ่นพิมพ์เงินใหม่ออกมาหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล (ซึ่งเรียกกันโดยย่อว่าคิวอี) หลังจากปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือศูนย์แล้ว ซึ่งในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้นกล่าวอย่างชัดเจนว่าต้องการซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำออกจากการถือครองของภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนต้องนำเงินสดที่มีอยู่ในมือ (หลังการขายพันธบัตรชั้นดีให้กับรัฐบาล) ไปซื้อสินทรัพย์ (หรือลงทุน) ที่มีความเสี่ยงมากกว่า เช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์และหุ้นเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ในกรณีของญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรนั้น ผลที่คาดหวังคือการทำให้เงินของตนอ่อนค่าลง เช่น ในกรณีของญี่ปุ่นเงินเยนอ่อนค่าลงไปจาก 80 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เป็น 117 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในขณะที่เงินยูโรก็อ่อนค่าจาก 1.29 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อ 1 ยูโร มาเป็น 1.15 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อ 1 ยูโร เป็นต้น (เงินปอนด์และเงินดอลลาร์แคนาดาก็อ่อนตัวลงในทำนองเดียวกัน)
คำถามคือทำไมเมื่อประเทศหลักผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นอย่างมากแล้ว เศรษฐกิจโลกก็ยังไม่ฟื้นตัว คำอธิบายของนักกลยุทธ์ภูมิภาคเอเชียของแบงก์ออฟอเมริกาคือเศรษฐกิจโลกมีลักษณะ 3 ประการที่ทำให้เสี่ยงต่อการ “ซึมยาว” ได้แก่
1. ประชากรเข้าสู่วัยชราทำให้ต้องการเก็บเงินไม่ต้องการใช้จ่าย
2. ทุกภาคส่วนยังมีหนี้สินมาก ทำให้ไม่สามารถลงทุนและใช้จ่าย
3. คนจนรายได้ไม่เพิ่มขณะที่คนรวยนั้นร่ำรวยมากขึ้น แต่คนรวยไม่ใช้จ่ายมากขึ้น เพราะมีทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แล้ว
สภาวะเช่นนี้มักจะนำไปสู่การซึมตัวของเศรษฐกิจและในที่สุดรัฐบาลก็จะต้องเข้ามากู้เงินเพื่อใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและลงทุนระยะยาว เพราะรัฐบาลจะถูกกดดันให้ดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัว (แม้ว่าการใช้จ่ายของภาครัฐมักจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ) เห็นได้จากกรณีของญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจซึมยาวมาตั้งแต่ปี 1989 และในเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสูงถึง 230% ของจีดีพีแล้ว ในกรณีของประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ หนี้ภาครัฐก็เพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงเกือบ 100% ของจีดีพีเกือบทุกประเทศ ล่าสุดประธานาธิบดีโอบามาก็ประกาศว่าจะเก็บภาษีจากกำไรของบริษัทสหรัฐอเมริกาที่สะสมอยู่นอกประเทศในอัตราประมาณ 13-14% โดยหวังจะได้เงินภาษีหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ข้อสรุปคือหลังจากที่ประเทศเศรษฐกิจหลักพยายามเอาตัวรอดโดยการผ่อนคลายทางการเงิน แต่เศรษฐกิจโลกก็ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีมากนัก ประเทศขนาดเล็กบางประเทศก็เริ่มตื่นตัวและผ่อนคลายนโยบายการเงินของตนเองบ้าง ซึ่งมองว่าเป็นผลมาจากข้อสรุปว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอย่างกระท่อนกระแท่นและเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำใกล้ศูนย์ จึงจำต้องเร่งลดดอกเบี้ยของตนเพื่อชี้นำให้เงินของตนอ่อนค่าลงเพื่อลดความเสี่ยง หากอุปสงค์โลกสะดุดและเกิดภาวะเงินเฟ้อติดลบ (เช่นที่เกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่นและยุโรป) กล่าวคือเมื่อเงินของตนอ่อนค่าก็จะช่วยกระตุ้นการส่งออกและขับเคลื่อนเงินเฟ้อให้สูงขึ้นหรืออีกนัยหนึ่งคือการรีบ “ส่งออกเงินฝืด” (export deflation) นั่นเอง ความกังวลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการกล่าวถึงสงครามค่าเงินหรือ currency war ซึ่งก็ไม่ได้มองว่าจะมีการสู้รบกันในเชิงเศรษฐกิจ แต่น่าจะเป็นการแข่งขันกันลดค่าเงินมากกว่า (race to the bottom)
ในโลกที่มีเงิน 2 สกุลจะมีอัตราแลกเปลี่ยน 1 อัตรา ดังนั้นในโลกที่มีเงิน N สกุลก็จะมีอัตราแลกเปลี่ยน N-1 หมายความว่าจะต้องมีเงินสกุลหนึ่งเป็นเงินสกุลหลักเพื่อให้เปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ หมายความว่าในโลกปัจจุบันนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าเมื่อยุโรปและญี่ปุ่นทำคิวอี ซึ่งส่งผลให้ค่าของเงินสกุลหลักทั้งสองปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ก็จะต้องทยอยกันลดดอกเบี้ยหรือผ่อนคลายนโยบายการเงินของตน ทำให้เงินของตนลดค่าลงไปด้วย ซึ่งในช่วงหลังนี้ก็เริ่มเห็นข่าวว่านักธุรกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มกล่าวว่าผลประกอบการของบริษัทต่ำกว่าเป้า เพราะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
ประเด็นคือหากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาไม่เปลี่ยนแปลงก็อาจมองอย่างผิวเผินได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ (ซึ่งมีนัยในเชิงบวกเพราะทำให้เข้าใจได้ว่ามีเสถียรภาพทางการเงิน) แต่ในความเป็นจริงนั้นในปี 2014 เงินบาทแข็งค่าประมาณ 5% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย นอกจากนั้นเงินบาทก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจะยังคงที่ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารกลางของยุโรปและญี่ปุ่นกำลังพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่แล้วอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งปรับลดดอกเบี้ยและกดค่าเงินของตนให้อ่อนตัวลงเพื่อรองรับกับสถานการณ์
ดังนั้นในปัจจุบันจึงไม่ค่อยมั่นใจว่าการปล่อยให้ค่าเงินบาทปรับตัวไปโดย “ธรรมชาติ” นั้นเป็นการปรับไปตามกลไกตลาดเสรีหรือไม่เพียงใด เพราะในสภาวะปกติธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักจะมีวินัยทางการเงินไม่พิมพ์เงินเพิ่มออกมาหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (หรือยูโรหรือเยน) เพื่อกดดอกเบี้ยให้ต่ำลงดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นแม้ว่าโดยปกติแล้วจะเห็นด้วยกับการให้กลไกตลาดกำหนดราคาสินค้าและค่าเงิน แต่ในสภาวะที่ผิดปกติเช่นปัจจุบันนี้ ก็อาจต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าหากจะปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปเรื่อยๆ (เพราะธนาคารกลางอื่นๆ ตั้งใจทำให้เงินของตนอ่อนค่า) นั้น จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ เช่น การคาดหวังให้การส่งออกขยายตัว 4% ในปี 2015 เป็นต้น
วิเคราะห์สถานการณ์ภาวะเงินฝืด
เศรษฐกิจโลกขณะนี้มีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดเป็นการทั่วไป คือ ระดับราคาสินค้าปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะกระทบเศรษฐกิจโลกมาก เพราะเมื่อราคาสินค้าลดลง การใช้จ่ายและการลงทุนจะชะงัก เพราะผู้ซื้อจะหยุดใช้จ่าย รอให้ราคาสินค้าปรับลดลงอีกเพื่อซื้อของถูก ทำให้ผู้ผลิตยิ่งจะแข่งกันลดราคา ราคาก็ยิ่งจะปรับลดลง จนต่อเนื่องเป็นพลวัตที่แก้ไขยาก ปัจจุบันเริ่มเห็นความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืดชัดเจนมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะยุโรปและจีน ทำให้หลายประเทศเริ่ม ผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และลดค่าเงินของตนเองเพื่อช่วยการส่งออก แต่การแข่งกันลดค่าเงินยิ่งจะทำให้ภาวะเงินฝืดกระจายไปประเทศต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น ผ่านราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าที่ลดลง ผลที่ตามมาจึงจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกให้อ่อนแอมากขึ้น และยากที่จะฟื้นตัว
ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในระยะข้างหน้าขณะนี้ มีความเป็นไปได้สูงจากแรงกดดันที่มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในหลายพื้นที่ และการลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้า โภคภัณฑ์ ซึ่งทั้งสองปัจจัยกดดันให้ราคาสินค้าและบริการในเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดลง ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยูโรโซนติดลบร้อยละ 0.6 เดือน ม.ค. อัตราเงินเฟ้อประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่สุดในกลุ่มยูโรโซนก็ติดลบร้อยละ 0.3 เช่นกัน การอ่อนตัวของราคาสินค้าจึงเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยจะอัดฉีดเงินผ่านมาตรการคิวอีในวงเงินมากกว่าล้านล้านยูโร หรือ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาช่วงเดือน มี.ค. ถึง ก.ย. ปี 2016 การประกาศมาตรการมีผลทันทีให้เงินยูโรเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกาอ่อนค่าลงกว่า 19% และอ่อนลงร้อยละ 10 เทียบกับสกุลเงินประเทศคู่ค้า ความอ่อนแอของเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนที่มีขณะนี้ ทำให้ตลาดการเงินคาดว่าเงินยูโรจะอ่อนค่ามากขึ้นอีกในอนาคต นักลงทุนจึงลดการถือครองเงินยูโร ย้ายเข้าถือเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ฟรังก์สวิส และเงิน โครนของเดนมาร์กแทน ทำให้เงินสามสกุลนี้ได้แข็งค่าขึ้นมาก ผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้บางประเภทที่ออกในสกุลเงินเหล่านี้ติดลบจากความต้องการถือครองตราสารหนี้ที่ได้เพิ่มขึ้น
กรณีจีนล่าสุดเดือน ม.ค. อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียงแค่ร้อยละ 0.8 ต่ำสุดในรอบห้าปี ขณะที่อัตรา เงินเฟ้อวัดจากราคาสินค้าขายส่งหรือราคาผู้ผลิตติดลบร้อยละ 4.3 ในเดือน ม.ค. และราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับลดลงร้อยละ 4.3 ในเดือน ธ.ค. ข้อมูลเหล่านี้ชี้ถึงเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอลงและมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเกิดภาวะเงินฝืด กระตุ้นให้ธนาคารกลางจีนต้องประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมโดยลดอัตราสำรองเงินสดของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารกลาง หรือ Reserve Requirement Ratio ลงอีกร้อยละ 0.25 ซึ่งหมายถึงการอัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 700 พันล้านหยวน เช่นกันมาตรการดังกล่าวมีผลให้เงินหยวนอ่อนค่าลง สำหรับญี่ปุ่น ธนาคารกลางได้ปรับลดเป้าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีงบประมาณ 2015/2016 ลงเหลือร้อยละ 1 จากเป้าหมายเดิมที่ร้อยละ 1.7 และยอมรับว่าเป้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไประดับ 2% ปีนี้คงจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ สำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศเดียวที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี และการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. ก็ลดลงร้อยละ 0.4 จากราคาน้ำมันที่ลดลง และล่าสุดอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของธุรกิจก็ปรับลดลงใกล้เคียงกับระดับที่เคยต่ำมากในปี 2009 ขณะที่อัตราเพิ่มของค่าจ้างแรงงานก็อ่อนแอ ทั้งหมดชี้ว่าความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืดในสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเด็นที่ต้องติดตามและระมัดระวัง โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับลดลงได้อีกในอนาคต และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาที่จะแข็งค่าขึ้นอีก ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้จะมีผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ทำไมภาวะเงินฝืดจึงมีผลกระทบมาก เนื่องจากภาวะเงินฝืดเมื่อเกิดขึ้นจะแก้ไขได้ยาก เพราะการปรับลดลงของราคาจะฝังอยู่ในการคาดการณ์และพฤติกรรมของครัวเรือนและภาคธุรกิจ นำไปสู่การชะลอการใช้จ่าย เมื่อเศรษฐกิจไม่ใช้จ่าย การผลิตก็ไม่ขยายตัว นำมาสู่การลดคนงาน และการว่างงาน ทำให้อำนาจซื้อในระบบเศรษฐกิจยิ่งจะลดลงมากขึ้น นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบจะทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงปรับสูงขึ้น เพิ่มข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ภาระชำระหนี้สูงมากขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ นำไปสู่ปัญหาหนี้เสียและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ด้วยเหตุนี้จึงเห็นหลายประเทศในยุโรปและเอเชียเริ่มปรับนโยบายเพื่อตั้งรับกับความเสี่ยงเหล่านี้ โดยผ่อนคลายนโยบายการเงิน คือ ลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ค่าเงินของตนอ่อนค่าลง เพื่อช่วยภาคส่งออก และได้มีประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน รวมถึงสิงคโปร์ อินเดีย เดนมาร์ก เม็กซิโก และออสเตรเลีย มีผลให้ค่าเงินประเทศเหล่านี้ล้วนมีค่าเงินที่อ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ทั้งหมดนี้จึงชี้ชัดว่า ณ จุดนี้หลายประเทศกำลังแข่งกันอ่อนค่าเงินสกุลของตนผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและป้องกันภาวะเงินฝืด ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือการเริ่มต้นของสงครามค่าเงินโดยไม่ตั้งใจ เพราะประเทศต่างๆ ต้องการลดดอกเบี้ยในประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ
การแข่งกันลดค่าเงินไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก จากปัญหาหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ความผันผวนในตลาดเงินตราต่างประเทศจะมีมากขึ้น สร้างต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับธุรกิจที่จะป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน จนอาจลดแรงจูงใจที่จะค้าขายหรือลงทุนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการลงทุนทางตรง ผลก็คือประเทศจะให้ความสำคัญกับการค้าภายในประเทศมากขึ้นแทน กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการส่งออก ในขณะที่บางประเทศไม่สามารถลดค่าเงินได้ก็อาจจะใช้มาตรการกีดกันด้านการค้าเป็นเครื่องมือแทน เพื่อลดการสูญเสียจากการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น สร้างความเสี่ยงให้การค้าโลกยิ่งเติบโตได้น้อยลงไปอีก กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเมื่อการไหลเวียนของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมีน้อยลง ประเทศที่มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงหรือมีภาระหนี้ต่างประเทศมากที่ต้องชำระ ประเทศเหล่านี้ก็จะขาดสภาพคล่องที่จะชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและชำระหนี้ นำไปสู่ความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ ที่มักเป็นจุดเริ่มต้นหรือชนวนของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นเศรษฐกิจโลกก็ยิ่งจะทรุดตัวมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าจะยิ่งลดลง และปัญหาเงินฝืดก็จะยิ่งแก้ไขได้ยากมากขึ้น
ผู้ทำนโยบายประเทศต่างๆ ในเศรษฐกิจโลก ต่างตระหนักดีถึงความเสี่ยงเหล่านี้ และปัญหาต่างๆ มากมายที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกขาดผู้นำแท้จริงที่จะระดมให้ทุกประเทศหันหน้าร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เมื่อขาดผู้นำผลก็คือ แต่ละประเทศขณะนี้จึงต่างคนต่างทำ เพื่อประโยชน์ของตนเอง นำมาสู่ความอ่อนไหวของสถานการณ์ปัจจุบันอย่างที่เห็น ในขณะที่ประเทศไทยเองก็ต้องติดตามและไม่ประมาทกับความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดที่จะถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือน ม.ค. ก็ติดลบไปแล้ว คือลดลงร้อยละ 0.4 ดังนั้นความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะเงินฝืดในเศรษฐกิจไทยเองก็เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้เช่นกัน
_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ CEO Blogs
กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร