หน้าหลัก > บทความการเงิน > หุ้นคุณค่าและหุ้นเติบโต แบบไหนเหมาะกับใคร?*

หุ้นคุณค่าและหุ้นเติบโต แบบไหนเหมาะกับใคร?*

         หุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีให้เลือกลงทุนมากมาย และมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค ทำให้นักลงทุนเลือกไม่ถูก และเกิดคำถามว่า “หุ้นแบบไหนที่เหมาะกับเรา?” อีกทั้งมีการแบ่งกลุ่มต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอุตสาหกรรม ดัชนี ปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยทางเทคนิค ฯลฯจากที่เกริ่นข้างต้น ประเภทของหุ้นที่นักลงทุนนิยมลงทุนกันในตลาด หลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ

 1. หุ้นคุณค่า (Value Stock)
         หุ้นที่มีราคาหรือมูลค่าต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมตามทฤษฎี (ของดี ราคาถูก) หรือเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาว ลักษณะเด่นของหุ้นประเภทนี้ คือ เป็นหุ้นที่เน้นอัตราปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด แต่มักจะมีผลการดำเนินงานเติบโตไม่โดดเด่น ทำให้คนตีราคาของหุ้นตัวนี้ต่ำมากจนไม่สนใจซื้อขายกัน จึงทำให้ราคานั้นต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม และเมื่อเวลาผ่านไป นักลงทุนในตลาดมองเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในตัวหุ้น ก็จะเข้าซื้อหุ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

 2. หุ้นเติบโต (Growth Stock)
         เป็นหุ้นที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นและรวดเร็วกว่าหุ้นตัวอื่นๆ โดยครอบคลุมตั้งแต่การเติบโตของสินทรัพย์ รายได้ และกำไรของบริษัท ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดจากปัจจัยต่างๆ เช่น เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่หรือขยายสาขาที่สามารถสร้างรายได้มหาศาล เป็นต้น จึงทำให้นักลงทุนที่ต้องการเน้นกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) มักจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ถึงแม้จะมีอัตราปันผลต่ำกว่าและซื้อในราคาที่แพงกว่ามูลค่าที่แท้จริงตามทฤษฎีก็ตาม  

          จากที่เกริ่นมาข้างต้น หุ้นแต่ละประเภทมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จึงสรุปเป็นวิธีสังเกตหุ้นคุณค่าและหุ้นเติบโต ว่าแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละมุม ดังนี้

1. มูลค่าเมื่อเทียบกับตลาดหรือกลุ่มอุตสาหกรรม
         สำหรับมูลค่าของหุ้นคุณค่า เมื่อเทียบกับตลาดหรือกลุ่มอุตสาหกรรม มักจะมีมูลค่าที่ต่ำกว่า ในทางตรงกันข้าม หุ้นเติบโต จะมีมูลค่าที่สูงกว่า โดยอัตราส่วนที่นักลงทุนนิยมใช้ 2 อัตราส่วนในการเปรียบเทียบเบื้องต้น คือ
         - P/E Ratio เป็นอัตราส่วนที่เปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นและกำไรต่อหุ้น โดยหุ้นคุณค่า (Value Stock) มักจะมีอัตราส่วนดังกล่าวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรืออุตสาหกรรมเดียวกัน ส่วนหุ้นเติบโต (Growth Stock) จะมีอัตราส่วนดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือของกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เนื่องจากมียอดขายและความสามารถในการทำกำไรที่ดี ทำให้นักลงทุนมีความคาดหวังต่อบริษัทค่อนข้างสูง จึงยินดีที่จะซื้อหุ้นในราคาแพง
         - P/BV Ratio เป็นอีกอัตราส่วนที่ใช้บอกว่าซื้อถูกกว่าหรือแพงกว่า เมื่อเทียบกับเจ้าของ ซึ่งมีความผันผวนที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับ P/E Ratio โดยหุ้นคุณค่า มักจะมีอัตราส่วนดังกล่าวที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบในอุตสาหกรรมเดียวกัน และหุ้นเติบโตมักจะมีอัตราส่วนดังกล่าวที่สูงกว่า โดยอัตราส่วนดังกล่าว มักจะใช้คู่กันกับ ROE เพื่อดูผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับ

2. ผลการดำเนินงาน
         สำหรับหุ้นคุณค่ามักจะมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง จากกระแสเงินสดที่สูง แม้ว่าจะเติบโตน้อยกว่า เมื่อเทียบกับตลาดหรือกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ก็ยังเติบโตอย่างมั่นคง สม่ำเสมอ แต่ในทางกลับกัน หุ้นเติบโตจะมีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากกว่า จากการขยายกิจการหรือลงทุนในโครงการใหม่ๆ แต่ความแข็งแกร่งจะน้อยกว่า เมื่อเทียบแบบเดียวกัน

3. เงินปันผล
         แม้ว่าหุ้นคุณค่ามักจะมีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างคงที่ แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนระยะยาวชื่นชอบลงทุนในหุ้นประเภทนี้ คือ เงินปันผล ที่มีอัตราที่สูงกว่าเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยของตลาดหรือกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนหุ้นเติบโตจะมีอัตราปันผลที่ต่ำกว่า เนื่องจากกิจการจะนำกำไรไปลงทุนต่อ โดยคาดหวังว่าจะได้กำไรมากขึ้น

4. ความผันผวน
         จากผลการดำเนินงานของหุ้นทั้ง 2 กลุ่ม จะสะท้อนมูลค่าผ่านราคา โดยราคาของหุ้นคุณค่ามักจะมีความผันผวนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นเติบโต เนื่องจากหุ้นคุณค่านั้นมักเป็นกิจการขนาดใหญ่ใหญ่และก่อตั้งมานาน ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่ากิจการสามารถรับมือกับวิกฤตหรือวัฏจักรเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอดีตได้เป็นอย่างดี แต่หุ้นเติบโตมักจะเป็นหุ้นที่นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของผลประกอบการที่สูง แต่ถ้าผลประกอบการไม่เป็นไปตามคาด ก็มีโอกาสที่นักลงทุนจะขายทำกำไร นั่นจึงจะทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนสูงกว่า

5. หุ้นแต่ละประเภทเหมาะกับใคร
         จากคุณสมบัติของหุ้นคุณค่าและหุ้นเติบโตที่อธิบายมาข้างต้น หุ้นคุณค่าจะเหมาะกับนักลงทุนที่เน้นการลงทุนในระยะยาว และต้องการเงินปันผลระหว่างลงทุน (Dividend) และในทางตรงกันข้าม หุ้นเติบโตจะเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะสั้นและเน้นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)

         โดยสรุปคุณสมบัติของหุ้นทั้ง 2 ประเภท เป็นเพียงมุมมองในการจัดประเภทของหุ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามในการลงทุนจะต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการลงทุน ปัจจัยทางเทคนิค การวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัท อุตสาหกรรม หรือภาพรวมของเศรษฐกิจในการตัดสินใจร่วม เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนให้เป็นไปตามแผนมากขึ้นนั่นเอง

________________________________________________

บทความการเงิน

วันที่ 19 มกราคม 2566

1488 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย