หน้าหลัก > บทความการเงิน > วิเคราะห์ธีมการลงทุนในระยะยาว (Thematic Investment)

วิเคราะห์ธีมการลงทุนในระยะยาว (Thematic Investment)

วิเคราะห์ธีมการลงทุนในระยะยาว (Thematic Investment)*

 

          การลงทุนระยะยาวเปรียบเสมือนการเดินทางไกลที่นักเดินทางมีแรงบันดาลใจและเป้าหมายที่ท้าทาย ต้องเสี่ยงรอนแรมฝ่าฟันอุปสรรคไปถึงจุดหมาย หากโจทย์ของการลงทุน คือต้องการผลตอบแทนสูงทำให้เงินลงทุนเติบโตทวีคูณในระยะยาว และต้องการรักษาความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่สูงเกินไป การลงทุนในธีม (Theme) ระยะยาวน่าจะเป็นคำตอบ โดยธีมการลงทุนระยะยาวเกิดขึ้นจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (Evolving Economy) เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิประชากรศาสตร์ (Demographic) และเทคโนโลยีที่รุดหน้า ทำให้เกิดบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในกระแสการเปลี่ยนแปลง หรือบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง โดยมีห้าธีมการลงทุนที่น่าสนใจ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

          ธีมการลงทุนแรก Ageing & Lifestyle แนวโน้มจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มเป็น 2.1 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 2050 ประชากรกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายและลงทุนเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดี (wellness) ทำให้เกิดโอกาสลงทุนกับบริษัทที่มีธุรกิจสืบเนื่องจากอายุขัยที่ยาวขึ้นนี้อย่างมหาศาล ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือเวชศาสตร์ชะลอวัย ไปถึงธุรกิจที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ

 

          ธีมการลงทุนที่สอง Connected Consumer คือ ผู้บริโภคที่ต้องการเชื่อมโยงกับผู้คนรอบข้างผ่านทางเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ทำให้ธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการ หรือธุรกิจค้าปลีกที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิมกำลังถูกบังคับให้ปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือถูกทำลายโดยธุรกิจที่ใช้ Disruptive Technology (นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างตลาดและมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีนั้น) ธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องปรับตัวสอดรับกับความต้องการของ Connected Consumers เพื่อทำให้การซื้อสินค้าสะดวกรวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และเป็นส่วนบุคคลมากขึ้น สำหรับนักลงทุนที่แสวงหาการเติบโตระยะยาว นี่คือโอกาสลงทุนในธุรกิจที่สามารถสร้างความได้เปรียบในกระแสการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการบริโภคที่เชื่อมโยงกับผู้คนรอบข้างนี้

 

          ธีมการลงทุนที่สาม Transitioning Societies การเติบโตของคนชั้นกลางในอัตราเร่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบ 150 ปี โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่จะเกิดกลุ่มคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นกว่า 900 ล้านคน การเติบโตนี้สะท้อนโอกาสการลงทุนในบริษัทที่สามารถผลิตสินค้าและบริการ ตอบสนองความต้องการบริโภคที่เปลี่ยนไปของกลุ่มคนเหล่านี้ รวมถึงการเปลี่ยนสภาพการอยู่อาศัยเป็นสังคมเมือง (Urbanization) ธุรกิจที่อยู่ในกระแสหรือที่จะได้ประโยชน์จากคนกลุ่มนี้ มีตั้งแต่บริษัทผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขไปจนถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงผู้คนและสังคมเข้าด้วยกัน

 

          ธีมการลงทุนที่สี่ Automation ความต้องการใช้ระบบอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตถึงการขนส่ง ความต้องการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 5 ต่อปี (ในช่วงปี ค.ศ. 2005-2013) เป็นร้อยละ 16 ต่อปี (ในช่วงปี ค.ศ. 2014-2019) ธุรกิจยานพาหนะขนส่งไร้คนขับ (เช่น รถยนต์, อุตสาหกรรมที่มีการขนส่งลำเลียง เช่น เหมืองแร่ การเกษตร) หุ่นยนต์เพื่อการแพทย์ (เช่น การผ่าตัด) และสาธารณสุข (เช่น การใช้หุ่นยนต์ติดตามดูแลผู้สูงอายุ) ทำให้เชื่อว่าอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการแบบอัตโนมัติที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของธีมการลงทุนนี้

 

          ธีมการลงทุนที่ห้า Clean Tech การเปลี่ยนแปลงภูมิประชากรศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม และเศรษฐกิจ มีอิทธิพลต่อสังคมและการเมืองให้เกิดการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีที่สะอาด คาดว่าในปี ค.ศ. 2020 มูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เทคโนโลยีนี้จะเติบโตเป็น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (จาก 0.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2014) ดังนั้นมีธุรกิจสามประเภทที่มีโอกาสได้ประโยชน์ในกระแสการเปลี่ยนแปลง หรือต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ ธุรกิจพัฒนาทรัพยากรอย่างยั่งยืนทั้งด้านการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ธุรกิจสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานจาก Fossil-based มาเป็นพลังงานสะอาด และธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

 

          โดยสรุปจะเห็นได้ว่าห้าธีมการลงทุนระยะยาวที่ได้กล่าวมา คือรูปแบบการดำเนินธุรกิจของอนาคตซึ่งจะส่งผลกระทบและสร้างมูลค่าอย่างมหาศาลต่อการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทที่เกี่ยวข้อง การไขว่คว้าโอกาสลงทุนในธีมการลงทุนดังกล่าวจะทำให้พอร์ตการลงทุนเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของโลกได้เป็นอย่างดีนั่นเอง


       


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.ชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

 

 

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความการเงิน

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562

1965 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย