แนวทางการลงทุนกองทุนต่างประเทศ*
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF) สามารถแบ่งได้เป็นแบบที่ บลจ. บริหารกองทุนด้วยตัวเองโดยนำเงินไปลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์หรือสินค้าทางการเงินในต่างประเทศ เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า รูปแบบที่เราคุ้นเคยกันอย่างเช่น กองทุนรวมที่ไปลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่นิยมเพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศ อีกประเภท คือ บลจ.ไทย ไปซื้อกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีให้เลือกทั้งที่ไปลงทุนในกองทุนกองเดียวเลย (Feeder Fund) โดยมีผู้จัดการกองทุนชาวต่างชาติคอยดูแลแบบเดียวกับผู้จัดการกองทุนของ บลจ. ดูแลการลงทุนของกองทุนที่จัดตั้งในประเทศ และกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ (Fund of Funds) ที่นำเงินไปซื้อกองทุนรวมในต่างประเทศหลายๆ กอง ซึ่งอาจจะมีนโยบายการลงทุนคล้ายหรือต่างกันก็ได้ เช่น กองทุนที่ไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศอาจเลือกซื้อกองทุนหุ้นของประเทศ A และ ประเทศ B โดย บลจ. ไทยเป็นผู้กำหนดสัดส่วนและเลือกกองทุนที่จะไปลงทุน
สิ่งหนึ่งที่ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจในการลงทุนกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศคือ จะมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ซึ่งในบางกองจะมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือชี้ชวน กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศจึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนในการกระจายความเสี่ยง และทำให้เงินของเราสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องไปเปิดพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศด้วยตนเอง และมีโอกาสได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจจะไม่มีในประเทศไทย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต
หากไปดูผลตอบแทนกองทุนรวมเมื่อปีที่ผ่านมา กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศให้ผลตอบแทนอยู่อันดับต้นๆ ซึ่งสามารถเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนได้ด้วยการแบ่งสัดส่วนการลงทุนไปในกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศและภูมิภาคไม่เท่ากัน การมองหาโอกาสการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น กระจายความเสี่ยง จัดพอร์ตการลงทุนของตัวเองด้วยการลงทุนไปตามภูมิภาคต่างๆ หรือประเทศที่น่าสนใจ โดยสัดส่วนการถือครองกองทุนรวมในและต่างประเทศก็ขึ้นกับสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคและประเทศทั่วโลก
โดยสรุปกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ นั้นเหมาะกับ
• ผู้มีเงินออมที่กำลังมองหาผลตอบแทนเพิ่มเติมด้วยการลงทุนระยะยาว
• ผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย
• ผู้ที่ต้องการมืออาชีพมาคอยติดตามดูแลการลงทุนให้
ซึ่งการเลือกลงทุนกองทุนในต่างประเทศ หลักในการพิจารณาคัดเลือกกองทุนก็คือควรทำการศึกษาทำความเข้าใจกองทุนที่จะลงทุนก่อนว่าเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ ต้องดูนโยบายการลงทุน ดูผลงานในอดีตว่าเป็นอย่างไร รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่กองทุนเก็บเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ แบ่งสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับแผนและเป้าหมายที่วางไว้ เพียงเท่านี้ก็สามารถเลือกลงทุนกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้กับตัวเองในอนาคต โดยให้มืออาชีพคอยดูแลเงินลงทุนแทนตัวเราเองได้แล้ว
_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.krungsri.com/bank/th/planyourmoney/must-stories/mutual-fund-thai-vs-international.html
กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร