การจัดพอร์ตเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีด้วยกองทุน*
การลงทุนผ่านกองทุนรวม แม้จะมีผู้จัดการกองทุนนำเงินไปทำงานให้ แต่นักลงทุนก็ต้องทำการบ้านหรือติดตามสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อการลงทุนเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อจะได้ปรับพอร์ตได้ทัน ที่สำคัญคือต้องลงทุนตามแผนอย่างมีวินัย โดยหมั่นตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางให้เหมาะสมตามเป้าหมายที่วางไว้จนประสบความสำเร็จ สำหรับการจัดพอร์ตลงทุนในกองทุนรวมปี 2561 นี้ มีคำแนะนำดังนี้
หุ้นไทยและหุ้นจีนเป็นดาวเด่นสำหรับปีนี้ สัดส่วนการลงทุนสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง ให้ใช้หลักการหรือสูตรเดียวกับการลงทุนด้วยตัวเอง นั่นคือ ลงทุนในกองทุนหุ้น 70% อีก 30% ลงทุนในตราสารหนี้ โดยสัดส่วนที่ว่านี้ ให้แบ่งไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) สัดส่วน 10% ทีนี้มาลงลึกการจัดพอร์ตลงทุนในหุ้น ทั้งนี้แนะนำกองทุนหุ้นไทย 30% กองทุนหุ้นจีน 10% และกองทุนหุ้นเฮลท์แคร์ 10% สูตรที่แนะนำข้างต้น หากลงทุนอย่างน้อย 1 ปี คาดว่าให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 8% อย่างไรก็ดีพอร์ตที่แนะนำนี้ควรลงทุนเป็นระยะเวลา 1-3 ปี เหตุผลที่ให้น้ำหนักหุ้นไทยมากที่สุด เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่าคาดจากการท่องเที่ยวและภาคส่งออก กระตุ้นภาคบริโภค ซึ่งหากมองในแง่มูลค่าหุ้นปัจจุบันถือว่ายังไม่แพงมาก ซึ่งการจัดพอร์ตกองทุนหุ้นไทยให้ผสมผสานกองทุน 3 แบบ ดังนี้
• แบบที่ 1 กองทุนที่มีนโยบายการบริหารแบบเชิงรุก หรือที่เรียกว่า แอ็กทีฟฟันด์ กองทุนประเภทนี้จะบริหารผลตอบแทนให้ชนะดัชนีอ้างอิง หรือเกณฑ์มาตรฐาน หรือบางคนอาจเรียกดัชนีชี้วัด
• แบบที่ 2 กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบระมัดระวัง หรือแพสซีฟฟันด์ กองทุนประเภทนี้เน้นสร้างผลตอบแทนล้อไปตามดัชนีอ้างอิง
• แบบที่ 3 กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือมิดแอนด์สมอลแคป
ขอยกตัวอย่าง กองทุนหุ้นแบบแอ็กทีฟที่แนะนำปีนี้ คือ กองทุนเปิด วรรณเอเอ็มเซ็ท 50 1AMSET50 มีการบริหารกองทุนแบบเชิงรุกเพื่อสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่า SET50 Index (เกณฑ์มาตรฐาน) การคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ต เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ภายใต้ดัชนี SET50 และเป็นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดีประมาณ 25-30 บริษัทเป็นหลัก อีกทั้งมีการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นขนาดกลางและเล็กเพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับกองทุน กองทุนดังกล่าวเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงและคาดหวังใกล้กับดัชนี SET50 และสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับสูงจากความผันผวนของตลาดหุ้นได้ เหมาะสำหรับการลงทุนระยะเวลาปานกลางถึงยาว (3 ปี) กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล (BTP) มีนโยบายการลงทุนเน้นการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาวในหุ้นพื้นฐานดีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) ซึ่งผู้จัดการกองทุนมีกลยุทธ์ในการบริหารกองทุนเพื่อมุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวสูงกว่าดัชนีชี้วัด เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง แนะนำให้ลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการบริหารเชิงรุก กองทุนประเภทนี้เน้นการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง สาเหตุที่แนะนำให้ลงทุนในแอ็กทีฟฟันด์ เนื่องจากหุ้นไทยยังมีทิศทางเป็นขาขึ้น และเหตุผลที่แนะนำให้ลงทุนในหุ้นจีน เนื่องจากเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ เปลี่ยนจากการพึ่งพาส่งออกและการลงทุนภาครัฐมาให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงแทน ส่วนการลงทุนในกองทุนหุ้นรายกลุ่มหรือเซ็กเตอร์ฟันด์ แนะนำกองทุนหุ้นเฮลท์แคร์ เนื่องจากจะได้ประโยชน์จากโครงสร้างประชากรทั่วโลกที่มีปริมาณผู้สูงอายุเพิ่ม ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพิ่ม เหมาะกับการลงทุนระยะยาว นอกจากนี้ราคาหุ้นที่ซื้อขายในปัจจุบันถูกกว่าดัชนี
ในขณะที่การจัดพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุน ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง หากคุณมีเป้าหมายเก็บเงินดาวน์เพื่อซื้อบ้าน 3 แสนบาท ในอีก 3 ปี ไม่อยากให้เงินเก็บก้อนนี้เสี่ยงมาก ก็อาจจะจัดพอร์ตแบบระมัดระวัง เป็นกองทุนรวมตราสารเงิน 30% กองทุนรวมตราสารหนี้ 40% และกองทุนรวมตราสารทุน 30% ก็จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5.9% ต่อปี เป้าหมายเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ มีระยะเวลายาว สามารถจัดพอร์ตตามช่วงวัยได้ เช่น วัยเริ่มทำงาน รับความเสี่ยงสูงได้ อาจจัดพอร์ตเชิงรุก เป็นกองทุนรวมตราสารเงิน 10% กองทุนรวมตราสารหนี้ 20% และกองทุนรวมตราสารทุน 70% ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 9.5% ต่อปี วัยกลางคน รับความเสี่ยงได้ปานกลางเพราะมีภาระครอบครัวมากขึ้น อาจจัดพอร์ตเชิงปานกลาง เป็นกองทุนรวมตราสารเงิน 20% กองทุนรวมตราสารหนี้ 30% และกองทุนรวมตราสารทุน 50% ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 7.7% ต่อปี
โดยสรุปจะเห็นได้ว่าทั้งหมดคือ คำแนะนำการจัดพอร์ตลงทุนในกองทุนรวม ถึงแม้ว่าเราจะให้มืออาชีพบริหารเงินให้ แต่ก็ต้องติดตามข่าวสารข้อมูล และมีการปรับพอร์ตเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนและผลตอบแทนที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้นั่นเอง
_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล นักวิเคราะห์กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย)
กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร