หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนเมษายน 2564)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนเมษายน 2564)

        ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลง เพราะราคาน้ำมันกลับมามีทิศทางที่ปรับตัวลดลงไป ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัว จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวน้อยลงมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตมีแนวโน้มในการ หดตัวลง เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังมีแนวโน้มค่อนข้างผันผวนอยู่ ทำให้ในเดือนนี้คำสั่งซื้อมีการปรับตัวได้น้อยลงตามภาวะของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่น้อยลงมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากมีค่าลดลงแต่เงินให้สินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากประชาชนได้เริ่มมีการออมลดลง เพราะการลงทุนยังเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น จึงส่งผลให้การออมเงินมีการหดตัวลงมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารได้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปช่วยในการเพิ่มเสริมสภาพคล่อง จึงส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นมาได้ แต่ก็ยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย
 
ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

พฤศจิกายน 63 ธันวาคม 63 มกราคม 64 กุมภาพันธ์
64
ดัชนีราคาผู้บริโภค 102.19 102.34 99.79 98.88
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 98.11 96.33 101.34 99.48
อัตราการใช้กำลังการผลิต 65.43 63.77 66.41 65.08
ดุลการค้า 1,903.40 2,834.49 1,893.71 2,136.61
ดุลบัญชีเดินสะพัด -1,475.99 -692.58 -673.34 -1,071.44
เงินฝาก 15,627.31 15,721.73 15,715.25 n.a.
เงินให้สินเชื่อ 16,659.40 16,810.96 17,019.02 n.a.
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ    ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562                 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
                อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ     ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559
                ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

 

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนกุมภาพันธ์ 2564

  • ด้านอุปทาน

          - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ก.พ. 63 กับ 64 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ก.พ. 63

22,291

15.74%

ณ ก.พ. 64

12,272

-44.95%

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

          - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ก.พ. 64 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

บ้านเดี่ยว

5,990

48.81

อาคารชุด

4,166

33.95

ทาวน์เฮ้าส์

1,275

10.39

บ้านแฝด

471

3.84

อาคารพาณิชย์

370

3.01

รวม

12,272

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
 
  • ด้านอุปสงค์
          - การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ก.พ. 63 กับ 64 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ก.พ. 63

25,981

0.42 %

ณ ก.พ. 64

20,522

21.01 %

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

          - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ก.พ. 64 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

9,075

44.22

ทาวน์เฮ้าส์

6,142

29.93

บ้านเดี่ยว

3,476

16.94

อาคารพาณิชย์

935

4.56

บ้านแฝด

894

4.35

รวม

20,522

100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
 
  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 64

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม

5.38

0.50

กุมภาพันธ์ 5.34 0.50

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
หมายเหตุ : 6 ธนาคาร ประกอบด้วย ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

        ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 44.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปได้อย่างช้าๆ ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่มาก อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กลับมาระลอกใหม่ จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 21.01% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่ต่อไป ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวด เนื่องจากทิศทางของหนี้ด้อยคุณภาพมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 5.34% แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยทรงตัวอยู่ที่ 0.50% ตามลำดับ

 

วิเคราะห์ประเด็นที่ต้องระวังเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

ที่มาของภาพ :  https://www.polyestertime.com/wp-content/uploads/2019/05/Global-economy-07-05-2019-min.jpg
 
        ความเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกคราวนี้เพราะดูตลาดการเงินจะเริ่มห่วงภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเร็วกว่าควร ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกคงจะเริ่มในประเทศกลุ่มแรกเป็นสำคัญ คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนก่อนและฉีดให้ประชากรได้ในจำนวนที่มาก ส่วนปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวคงจะมี 4 ปัจจัย คือ

  1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในกรณีของสหรัฐ คือ วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่กว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์
  2. นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาก
  3. เงินออมที่สะสมไว้ที่รอการใช้จ่ายที่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมอาจมีมากถึง 2.9 ล้านล้านดอลลาร์
  4. เงินลงทุนต่างประเทศที่จะไหลกลับสหรัฐและประเทศอุตสาหกรรมจากประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ฟื้นตัวช้า หรือมีแนวโน้มเศรษฐกิจไม่ดีเท่าประเทศอุตสาหกรรม

        นี่คือปัจจัยที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัว ซึ่งแต่ละปัจจัยจะให้ผลต่อการฟื้นตัวแตกต่างกัน เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่จะเป็นเงินโอนให้พลเมืองสหรัฐเป็นหลัก ทำให้คนกลุ่มล่างที่เดือดร้อนจะมีรายได้ที่จะใช้จ่าย อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ตอนนี้ลำบากและมีหนี้ที่ค้างชำระอยู่มาก จึงมีการประเมินว่า 1 ใน 3 ของเงินส่วนนี้คงจะเป็นเงินที่ถูกนำไปใช้จ่ายจริง ที่เหลือ 2 ใน 3 คงจะเป็นเงินที่นำไปชำระหนี้ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการเงิน
 
        สำหรับเงินออมที่สะสมไว้รอการใช้จ่าย มีการวิเคราะห์ว่าเงินออมส่วนใหญ่อยู่ในมือคนชั้นกลางและผู้ที่มีรายได้ช่วงโควิดระบาดและยังไม่ได้ใช้จ่าย ซึ่งคนกลุ่มนี้มีอัตราส่วนของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคต่อรายได้ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการใช้จ่ายในลักษณะ pent-up demand หรือที่รอใช้จ่ายคงมีแน่นอน แต่คงไม่ใช่ทั้งหมดของเงินที่ออมไว้ ส่วนที่ไม่ใช้จ่ายคงเก็บออมต่อไปในรูปการณ์ลงทุนในตลาดการเงิน ส่วนเงินทุนไหลเข้าจากประเทศตลาดเกิดใหม่ก็จะเป็นเม็ดเงินที่จะถูกนำไปลงทุนในตลาดการเงินเป็นสำคัญ เพราะบริหารโดยนักลงทุนสถาบัน ไม่มีผลต่อการบริโภคโดยตรง แต่จะมีผลทางอ้อมจากความมั่งคั่งของนักลงทุนที่จะเพิ่มมากขึ้น
 
        ทั้งหมดชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากเม็ดเงินเหล่านี้จะเป็นการฟื้นตัวที่นำโดยการบริโภคและการลงทุนในตลาดการเงินเป็นสำคัญ โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะพุ่งแรงในช่วงแรกจากผลของการบริโภคที่รอใช้จ่าย (pent-up demand) และแรงสนับสนุนการบริโภคที่มาจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินทรัพย์ จากนั้นการฟื้นตัวคงจะกลับสู่ระดับที่เป็นปกติตามการขยายตัวของรายได้ที่จะเกิดขึ้นตามมา จากการผลิตและการจ้างงานที่จะขยายตัวตอบรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในแง่การกระจายการฟื้นตัวคงจะเป็นรูปตัว K คือ รายได้ของคนส่วนบนที่ได้ประโยชน์จากการมีงานประจำทำและมีสินทรัพย์จะขยายตัวมากกว่ารายได้คนส่วนล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีสินทรัพย์และมีรายได้หลักจากการได้ทำงานและเงินช่วยเหลือของรัฐ สร้างความเหลื่อมล้ำของรายได้ให้มีมากขึ้น            
 
สำหรับประเด็นความเสี่ยงที่ต้องตามดูจะมี 3 เรื่อง ประกอบไปด้วย

  1. แรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่จะมีมากขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยเฉพาะราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นชัดเจนจากผลของโควิด และจากการขยายตัวของการใช้จ่าย แต่การเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อคาดการณ์ของภาคธุรกิจ (Inflation Expectation) จากผลของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นเครื่องชี้สำคัญว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีมากแค่ไหน ที่จะทำให้ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ประเมิน
  2. ภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงิน โดยเฉพาะหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากเงินทุนไหลกลับ จากการลงทุนใหม่ที่มาจากการออม และจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประเด็นนี้เป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะสามารถสร้างแรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ จากตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนปี 2008 ที่มีเงินทุนไหลเข้าสหรัฐจำนวนมากหลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1997 นำไปสู่ภาวะฟองสบู่และวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด
  3. แนวโน้มที่ประเทศอย่างสหรัฐจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นจากการขยายตัวของการบริโภคและการนำเข้า ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ นี่คือจุดอ่อนของการฟื้นตัวคราวนี้ที่ปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวเป็นการบริโภคที่ไม่ใช่การลงทุน ทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะสะท้อนการลดลงของเงินออมเพื่อนำไปบริโภค ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้ต่อเนื่องหลังการฟื้นตัวและมีการจ้างงานมากขึ้นจะมีน้อย เทียบกับในกรณีที่การฟื้นตัวถูกขับเคลื่อนด้วยการลงทุน เป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไม่มีคุณภาพเท่ากับกรณีที่ประเทศขาดดุลเพราะขยายการลงทุน

        แนวโน้มดังกล่าวทำให้นโยบายการเงินการคลังในสหรัฐต้องพร้อมปรับตัวหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว เพื่อไม่ให้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายมีมากเกินไปจนบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากรและสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้มี 3 เรื่องที่ผู้นำนโยบายจะต้องเตรียมปรับตัวหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว ได้แก่ 

  1. ปรับทิศทางของนโยบายการเงินไปสู่การสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งหมายถึงเตรียมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เรื่องนี้ถ้าทำเร็วเกินไปหรือทำนอกเหนือการคาดหมายของตลาด ตลาดหุ้นก็จะตกใจและปรับตัวลงรุนแรง ง่ายสุดคือ เริ่มปูทางด้วยการหยุดการอัดฉีดสภาพคล่อง และเปลี่ยนการอัดฉีดมาเป็นการดูดซับสภาพคล่อง เพื่อลดปริมาณสภาพคล่องในระบบการเงิน ปูทางให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเริ่มขยับ พร้อมสื่อสารเพื่อปูทางไปสู่การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในที่สุด 
  2. การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมาตรการการคลังคงต้องทยอยถอนออก และทดแทนด้วยการปรับระบบการช่วยเหลือทางสังคม (Social Safety Net) ให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังเดือดร้อน แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบต่อไป คือ ยกเลิกการให้ความช่วยเหลือแบบทุกคนได้ เป็นการให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็น ตามระบบการให้ความช่วยเหลือใหม่ที่จะพัฒนาขึ้นมา นอกจากนี้ควรปรับระบบภาษีเมื่อเศรษฐกิจฟื้นแล้วและกลับมาขยายตัว เพื่อให้รัฐมีรายได้จากภาษีมากขึ้น เพื่อรองรับภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น 
  3. สร้างระบบแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจนำเงินออมที่มีในมือและภาคครัวเรือนที่ต้องการออมเพิ่มจากเงินที่ไม่ได้ใช้จ่าย ให้สามารถได้ประโยชน์จากภาษีของภาครัฐ เพื่อแปลงเงินออมเหล่านี้เป็นการลงทุนและการสร้างนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และรักษาสิ่งแวดล้อม

        โดยสรุปจะเห็นได้ว่าจะน่าเสียดายมากถ้าการฟื้นตัวคราวนี้เป็นการฟื้นตัวจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคทั้งหมด โดยเศรษฐกิจไม่ได้โอกาสใช้เงินเหล่านี้พัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศให้สูงขึ้นโดยการลงทุน ประเด็นนี้สำคัญมากต่อการจ้างงานและความสามารถในการหารายได้ของประเทศในระยะยาว ซึ่งมีหลายประเด็นก็เป็นโจทย์สำหรับเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน
 
วิเคราะห์อัตราเงินเฟ้อกับผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์
 
        ในช่วงที่ผ่านมาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดทุนทั่วโลกมากที่สุด คือการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในสหรัฐ หลังมีการฉีดวัคซีนในวงกว้าง ทั้งในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันที่ลดลง และจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ลดลงเช่นกัน เมื่อบวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าเงินเฟ้อในสหรัฐมีโอกาสทะยานสูงขึ้นเกินเป้าหมายระยะยาวที่ 2% ของ Fed ซึ่งอาจกดดันให้ Fed จำเป็นต้องลดวงเงิน QE เร็วกว่าคาด รวมทั้งอาจนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วขึ้นอีกด้วย 
 
        ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อสะท้อนชัดเจนในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ Bond Yield อายุ 10 ปี ของสหรัฐ และอีกหลายประเทศรวมทั้งไทย ปรับขึ้นถึงเกือบหนี่งเท่าตัวในระยะ 3-4 เดือนที่ผ่านมา Bond Yield ที่สูงขึ้น นอกจากจะทำให้ราคาพันธบัตรลดลง ยังส่งผลให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบในทางลบไปด้วย โดยเฉพาะหุ้นประเภทเติบโตสูง เช่น หุ้นเทคโนโลยี หุ้นเมกะเทรนด์ต่างๆ เพราะกำไรในปัจจุบันของบริษัทเหล่านี้ยังค่อนข้างน้อย มูลค่าของบริษัทจึงมาจากศักยภาพในการทำกำไรในอนาคตเป็นหลัก เมื่อใดที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น มูลค่าหุ้นกลุ่มนี้ก็จะลดลงตามอัตราคิดลด หรือ Discount Rate ที่สูงขึ้น
 
        สิ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นห่วงมากที่สุดในเวลานี้ คือเงินเฟ้อในสหรัฐและทั่วโลกมีแนวโน้มจะกลับมาจริงอย่างที่สะท้อนในตลาดพันธบัตรหรือไม่ โดยปกติเมื่อเริ่มเกิดความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้นกว่าระดับเป้าหมาย สูตรสำเร็จของธนาคารกลางคือการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ รวมทั้งอาจทำการดูดซับสภาพคล่องส่วนหนึ่งออกจากระบบการเงิน เพื่อให้ภาวะเงินตึงตัวขึ้น ที่น่ากังวล คือธนาคารกลางยุคนี้แทบไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤติเงินเฟ้อเลย เพราะเงินเฟ้อทั่วโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับเฉลี่ยเพียง 2-3% นับตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่บางประเทศเช่น ญี่ปุ่น และกลุ่มยูโรโซน บ่อยครั้งต้องพยายามกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจด้วยซ้ำ  
 
        ดังนั้นจึงเชื่อว่ายังเร็วเกินไปที่เงินเฟ้อในสหรัฐและทั่วโลกจะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับที่เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดทุนในระยะสองปีข้างหน้า ด้วยเหตุผลดังนี้

  1. อัตราการว่างงานทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูงกว่าระดับธรรมชาติค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างในสหรัฐ อัตราการว่างงานก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 อยู่ที่ 3.5% แต่ในวันนี้ยังสูงถึง 6.2%
  2. ระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก ที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้นใหม่ๆ เริ่มกลับมาทำงานเกือบจะเป็นปกติแล้ว ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเร่งตัวขึ้นของต้นทุนการผลิต
  3. กำลังการผลิตของทั่วโลกยังเหลือค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในภาคบริการ จึงน่าจะเพียงพอในการรองรับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ ยกตัวอย่างประเทศไทย อัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่เพียง 64%
  4. การมาของโควิด-19 ทำให้การซื้อของออนไลน์กลายเป็นพฤติกรรมปกติ ซี่งการที่ผู้บริโภคมีช่องทางในการซื้อสินค้าหลากหลายขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันของผู้ประกอบการสูงขึ้น และทำให้การขึ้นราคาสินค้าทำได้ยากขึ้น

                โดยสรุปจะเห็นได้ว่าในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้า เงินเฟ้อในสหรัฐและทั่วโลกมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น จากฐานที่ต่ำของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกทำการ Lockdown เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก แต่จะเป็นเพียงภาวะเงินเฟ้อสูงชั่วคราว จึงไม่น่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำหรับเศรษฐกิจไทย แนวโน้มเงินเฟ้อยังน่าจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน เพราะเศรษฐกิจยังขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาก และภาคท่องเที่ยวคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ถึงจะฟื้นตัวสู่ระดับใกล้เคียงเดิม ทำให้มองว่าตลาดหลักทรัพย์กังวลกับแนวโน้มเงินเฟ้อในสหรัฐมากเกินไป การปรับฐานของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกในระยะสั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่น่าจะรุนแรง และยังเชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวได้ดีกว่าตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในระยะหนึ่งปีข้างหน้า เพราะฐานของตลาดหลักทรัพย์ไทยยังมีการปรับตัวขึ้นไปไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอื่นๆ
  
กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และงบประมาณ
ฝ่ายยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจองค์กร

 

แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

 

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 1 พฤษภาคม 2564

1750 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย