หน้าหลัก > บทความการเงิน > วิเคราะห์การเปลี่ยนชีวิตให้มั่นคงด้วยประกันบำนาญ

วิเคราะห์การเปลี่ยนชีวิตให้มั่นคงด้วยประกันบำนาญ

วิเคราะห์การเปลี่ยนชีวิตให้มั่นคงด้วยประกันบำนาญ*

         
          หากตั้งคำถามกับคนทั่วไปว่าเป้าหมายทางการเงินขั้นพื้นฐานในช่วง “วัยหลังเกษียณ” ของคุณคือ อะไร? คำตอบหนึ่งที่ได้พบเจอบ่อยที่สุด มักจะเป็นในลักษณะที่ว่าพวกเขาต้องการมีรายได้ที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอทุกๆ เดือนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเสียชีวิต เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เปรียบเสมือนการได้รับเงินเดือนทุกเดือน แม้ในช่วงที่ตัวเองไม่ได้ทำงานประจำแล้วก็ตาม แต่ถ้าหากถามต่อไปอีกว่าพวกเขาได้วางแผนอย่างไรในการออมเงินเพื่อการเกษียณ? กลับพบว่าหลายคนมักจะเน้นทางเลือกการออมเงินเพื่อการเกษียณในรูปแบบที่มีความ “ไม่แน่นอนสูง” เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้เป้าหมายเกษียณที่พวกเขาวางไว้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน

          ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในหุ้นรายตัวเพื่อหวังรับเงินปันผล การลงทุนระยะยาวผ่านกองทุนรวมหุ้นอย่าง LTF/SSF หรือ RMF ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับมักจะขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหรืออุตสาหกรรมที่เลือกลงทุน ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ผลตอบแทนที่จะได้รับ ณ วันเกษียณได้อย่างชัดเจนว่ามูลค่าเงินลงทุนจะเป็นเท่าไหร่และเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในช่วงหลังเกษียณจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องพบเจอกับปีที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนอย่างหนักอย่างเช่นวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปีนี้ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การวางแผนเกษียณด้วยทางเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การซื้อตราสารหนี้เพื่อหวังรับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันการลงทุนในตราสารหนี้ก็ให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่า ทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่ำเหล่านี้ก็มีความไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับจะต้องขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ทำให้คนที่ใช้ทางเลือกนี้ในการวางแผนเกษียณ อาจจะได้รับผลตอบแทนที่แพ้อัตราเงินเฟ้อและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจไว้ ณ วันที่ตนเองเกษียณอายุ

          ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ที่คาดหวังว่า Investment Product จะเป็นแหล่งรายได้หลังเกษียณที่แน่นอนให้กับตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การเลือกใช้เครื่องมือในการวางแผนการเงินที่ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ แต่แท้จริงแล้ว Investment Product ควรจะถูกใช้ในการสะสมความมั่งคั่งในช่วง “ก่อนเกษียณ” ในขณะที่ Product หนึ่งที่ตอบโจทย์ในการสร้างกระแสเงินสดรับที่สม่ำเสมอในช่วงวัย “หลังเกษียณ” คือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งเป็น Product ที่มักถูกมองข้าม แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนออมเงินเพื่อวัยเกษียณ

ลักษณะของประกันชีวิตแบบบำนาญ คือ แบบประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ โดยที่ผู้เอาประกันจะต้องออมเงินอย่างสม่ำเสมอด้วยการชำระเบี้ยประกันตามระยะเวลาที่กรมธรรม์ระบุ เช่น 5 ปี 10 ปี คล้ายกับประกันสะสมทรัพย์ โดยผู้เอาประกันจะได้รับ “เงินคืน” หรือ “เงินบำนาญ” เป็นรายงวดนับตั้งแต่วันที่เกษียณอายุ เช่น ตอนอายุ 55 หรือ 60 ปี ไปจนถึงอายุสูงสุดที่กรมธรรม์ได้กำหนดไว้ เช่น อายุ 85 ปี, 90 ปี หรือ 99 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์ จุดเด่นของประกันชีวิตแบบบำนาญ คือ ผู้เอาประกันสามารถที่จะออกแบบได้ว่าตนเองต้องการเงินในแต่ละงวดเท่าไหร่เพื่อนำไปใช้ในช่วงหลังเกษียณ โดยแบบประกันชนิดนี้มักจะมีการจ่ายเงินคืนในอัตราที่สูงถึง 15 - 24% ของทุนเอาประกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นอัตราที่สูงแล้ว ยังเป็นผลประโยชน์ที่มีความแน่นอนตามที่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ด้วย ทำให้ผู้เอาประกันสามารถที่จะมั่นใจได้ว่า ในช่วงวัยหลังเกษียณจะมีรายได้ที่แน่นอนจำนวนหนึ่งเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ไม่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาด

           ยกตัวอย่างเช่น นาย A อายุ 30 ปี ตั้งเป้าว่าต้องการจะมีรายได้ที่แน่นอนในช่วงวัยหลังเกษียณเดือนละ 12,500 บาทหรือปีละ 150,000 บาทต่อปี นาย A สามารถเลือกทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งมีเงื่อนไขการจ่ายเงินผลประโยชน์ในอัตรา 15% ของทุนประกัน ดังนั้นจึงต้องเลือกทำประกันบำนาญที่ทุนเอาประกัน 1 ล้านบาท ภายใต้กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีทุนประกัน 1 ล้านบาทนี้ นาย A จะต้องจ่ายเบี้ยประกันทุกปี ปีละ 87,900 บาท ตั้งแต่อายุ 30 - 55 ปี หรือคิดเป็นเบี้ยประกันรวมทั้งสิ้นราว 2.19 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา หลังจากนั้นเมื่อนาย A เกษียณอายุตอนอายุ 55 ปี นาย A จะได้รับเงินบำนาญทุกปี ปีละ 150,000 บาท ตั้งแต่อายุ 55 ปี ยาวไปจนถึงอายุ 90 ปีตามที่ได้วางแผนไว้ หรือคิดรวมเป็นเงินผลประโยชน์ที่ได้รับถึง 4.5 ล้านบาท

           ในแง่ของสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ผู้เอาประกันสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของรายได้และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนรวม RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กองทุนสงเคราะห์ครู รวมถึงกองทุนรวม SSF แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้หากท่านใดยังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนของประกันชีวิต 100,000 บาท สำหรับกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ก็สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปคำนวณรวมในส่วนนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันบำนาญสูงสุดถึง 300,000 บาท จะเห็นได้ว่าประกันชีวิตแบบบำนาญเป็น Product ที่ตอบโจทย์ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำและต้องการกระแสเงินสดรับที่สม่ำเสมอในวัยหลังเกษียณ อีกทั้งยังให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีให้กับผู้มีรายได้ประจำได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วย นับว่ามีประโยชน์หลายด้านไม่แพ้ Product ทางการเงินอื่นๆ และควรเป็นส่วนสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้ามในการวางแผนการเงิน
 
 
 


       


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ภาคภูมิ พีรยวัฒนา ธนาคารทิสโก้

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความการเงิน

วันที่ 25 ธันวาคม 2563

3225 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย