หน้าหลัก > บทความการเงิน > วิเคราะห์การปรับพอร์ตภายใต้พฤติกรรม Search for Yield

วิเคราะห์การปรับพอร์ตภายใต้พฤติกรรม Search for Yield

วิเคราะห์การปรับพอร์ตภายใต้พฤติกรรม Search for Yield*

         
          วิกฤติครั้งนี้ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ถือเป็นวิกฤติที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หลายๆ ประเทศประกาศตัวเลข GDP สำหรับไตรมาส 2 ที่ย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่มีการเก็บตัวเลขกันมา ทำให้มีการออกมาตรการต่างๆ ทุกวิถีทางขึ้นมาใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงอย่างมากด้วย ดอกเบี้ยถูกปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงศูนย์ และยืนยันว่าดอกเบี้ยจะต่ำไปอีกนาน รวมมาตรผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก็ถูกนำกลับมาใช้ในหลายประเทศ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเรียกความมั่นใจกลับคืนมา อย่างไรก็ตามปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบนี้ ทำให้หลายคน โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการเงินเอง มีความกังวลใจต่อพฤติกรรมหาประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยต่ำ (Search for yield) ซึ่งสร้างความเสี่ยงหรือกระทบต่อเสถียรภาพในอนาคต 

          จริงๆ หากพิจารณาเรื่องการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) นั้น ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำลง มันคงจะดูไม่สมเหตุสมผลที่จะยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลง โดยไม่ทำอะไรกับพอร์ตการลงทุน ทฤษฎีการจัดสรรเงินลงทุนจะแนะนำว่าคนส่วนใหญ่น่าจะต้องผสมสินทรัพย์ที่เสี่ยงเพิ่มเข้ามาในพอร์ตมากขึ้นอยู่แล้ว การผสมสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นบ้าง จะทำให้ผลตอบแทนคาดหวังของพอร์ตสูงขึ้นได้บ้าง (แต่ก็คงไม่เท่าเดิม) แม้ว่าจะไม่ได้ “สบายใจ” กับพอร์ตใหม่นี้เท่าใดนัก เพราะมันเสี่ยงขึ้น แต่ก็น่าจะ “สบายใจ” กว่าที่จะถือพอร์ตเดิมและรับผลตอบแทนที่ต่ำลงมาก แต่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของพอร์ตการลงทุนนั้น จำเป็นต้องอยู่ภายในกรอบที่สมเหตุสมผล คือ เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ และความต้องการใช้เงิน (ที่สมเหตุสมผล) ในระยะยาว ไม่ใช่ว่าในภาวะปรกติเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง เคยลงทุนหุ้นอยู่ครึ่งนึงของพอร์ต และก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้เงินในอนาคต พอมาในวันนี้เห็นธนาคารไหนๆ ก็ทำ QE เลยตัดสินใจเปลี่ยนพอร์ตเป็นลงทุนในหุ้น 100% เสียเลย หรือการเข้าไปซื้อตราสารที่ไม่รู้จักเพียงเพราะให้ดอกเบี้ยที่สูง อย่างนี้ก็อาจจะถือเป็นการรับความเสี่ยง “มากเกินไป” (“Excessive” risk taking) ซึ่งตรงนี้ต่างหากที่เป็นพฤติกรรมที่ต้องเฝ้าคอยระวัง

          แน่นอนว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ได้หมายความว่าควรจะกลัวหรือถูก “ขู่” ให้กลัวความเสี่ยงนั้น แต่ควรจะหาความรู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไรเสียมากกว่า การติดตามสถานการณ์ และประเมินแนวโน้มการลงทุนระยะยาว รวมถึงการศึกษาเข้าใจการลงทุนว่ามีความเสี่ยงใดบ้าง (ไม่ใช่ความเสี่ยงด้านราคาเท่านั้น แต่เป็นความเสี่ยงด้านอื่นด้วย) มีการกระจายการลงทุนที่เพียงพอเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวม เหล่านี้ก็สามารถช่วยให้รับมือกับความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม อย่างการติดตามพอร์ตการลงทุน และการปรับน้ำหนักการลงทุนปัจจุบันกลับมาสู่ระดับที่เหมาะสม (Rebalance) ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาได้เช่นกัน อาทิเช่น หากพอร์ตเดิมมีหุ้นไทยอยู่ 50%, ทองคำอยู่ 10% และบอนด์อีก 40% พอร์ตนี้คงจะติดลบอยู่ราวๆ -2.7% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าหุ้นไทยจะปรับตัวลงถึง -13.8% และมีหุ้นไทยอยู่ถึงครึ่งพอร์ต แต่การที่ราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นมากราวๆ 35% ในปีนี้ ก็สามารถช่วยพยุงพอร์ตได้ไม่น้อย (สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายความเสี่ยง) แต่ทว่าเมื่อผ่านไป 7 เดือน สัดส่วนการลงทุนก็จะเริ่ม “เบ้” จากที่วางแผนไว้ จาก บอนด์-หุ้น-ทอง ที่ 40 : 50 : 10 สัดส่วนก็จะกลายเป็นราวๆ 42 : 44 : 14 จากราคาสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 7 เดือนแรก ก็อาจจะมีการ Rebalance พอร์ต โดยปรับลดน้ำหนักทองคำ (และบอนด์) กลับมาระดับที่วางแผนไว้เดิม (หรือจะมากกว่านั้นเล็กน้อยก็ได้ขึ้นอยู่กับมุมมองราคาทองคำ) ซึ่งเท่ากับเป็นการล็อคกำไรที่ได้จากลงทุนในทองคำ และหันเข้ามาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น ซึ่งอาจจะหมายถึงการได้ซื้อของที่ “ถูก” ก็เป็นได้

          นั่นเป็นแค่พอร์ตตัวอย่าง แต่จะให้ดีกว่านั้นคือการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นต่างประเทศบ้าง ซึ่งมีหลายจุดเด่นที่หุ้นในประเทศอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ได้นัก ดังนั้นพฤติกรรม Search for yield และการรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น จึงอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยต่ำ (ผลจากนโยบายและมาตรการ QE) แต่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้กรอบที่สมเหตุสมผล และไม่ได้รับความเสี่ยงจน “มากเกินไป” เพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะสมจากการลงทุนนั่นเอง
 
 


       


_______________
* แหล่งที่มาของข้อมูล : ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ. กรุงไทย

กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บทความการเงิน

วันที่ 21 สิงหาคม 2563

1233 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย