เกี่ยวกับเรา
BAM ประกอบธุรกิจด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยมีส่วนช่วยเหลือลูกหนี้และแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เพิ่มเติม
ทรัพย์
อื่นๆ
ติดต่อเรา
0-2630-0700
0-2266-3377
99 ถนนสุรศักดิ์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
หน้าหลัก > บทความการเงิน > นิสัยแห่งความสำเร็จของการลงทุน
นิสัยแห่งความสำเร็จของการลงทุน*
คนที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้นมักจะมีนิสัยที่สำคัญหลายๆ ประการ ดังต่อไปนี้
1. เวลาลงทุนอะไรก็ตาม คิดถึงเรื่องความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากกว่ากำไร ในการคิดถึงเรื่องนี้นั้นมักจะดูหรือวิเคราะห์ถึง “พื้นฐาน” ที่แท้จริงของบริษัท แปลว่าจะต้องคิดถึงผลประกอบการในระยะยาวหลายปี กรณีบริษัทปกติอย่างน้อย 3-5 ปีขึ้นไป กรณีของกิจการที่เป็นสัมปทานหรือมีใบอนุญาตที่มีกำหนดเวลาแน่นอน ส่วนใหญ่จะต้องคิดไปถึงเวลาที่ครบกำหนด มักจะ “หลอก” ตัวเองว่าเมื่อซื้อหุ้นแล้ว ไม่มีสิทธิที่จะขายในเวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี ดังนั้นเวลาคิดแบบนี้จะไม่เอาข่าวหรือการคาดการณ์ผลประกอบการในระยะสั้นๆ เพียงไม่กี่เดือนหรือแค่ 2-3 ปี มาเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุน มีอยู่บ่อยๆ ที่พลาดลงทุนในหุ้นราคาปรับตัวขึ้นสูง เพราะกำลังมีเหตุการณ์ดีๆ เกิดขึ้น และคิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตามก็ไม่ซื้อหุ้นตัวนั้น เหตุเพราะคิดว่าหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว อนาคตต่อไปก็ “ไม่แน่นอน” ถ้าถือหุ้นยาวไปก็อาจจะขาดทุนได้ ความมี “วินัย” แบบนี้ ทำให้พลาดโอกาสทำกำไรง่ายๆ แต่ช่วยให้ไม่ขาดทุนกับหุ้นได้ง่ายๆ และแม้ว่าบางตัวจะ “แย่” ในช่วงแรก แต่เมื่อถือยาวต่อไปมักจะ “ได้ทุนคืนมา”
2. ถ้าเลือกหุ้นพื้นฐานดีในระยะยาว และหรือมีระบบในการลงทุนที่ถูกต้อง เช่น มีพอร์ตลงทุนที่คิดว่าเหมาะสมแล้ว เช่น มีจำนวนเงินลงทุนในหุ้น 50% มีหุ้นกู้หรือพันธบัตร 30% มีสินทรัพย์ทางเลือกเช่น ทอง 10% ที่เหลือเป็นเงินสด ก็ควรรักษาการลงทุนให้ “คงเส้นคงวา” เมื่อประสบกับสถานการณ์อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่อย่าตื่นเต้นหรือตกใจง่ายกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง นิสัยสำคัญที่จะต้องสร้างคือต้องทำใจให้สงบ เป็นคนที่ “ใจเย็น” เวลาลงทุน
3. ควรจะเตือนตัวเองให้ปฏิบัติตลอดเวลาคือ “สังเกตและคิดแบบนักลงทุน” จะทำให้พบโอกาสในการลงทุนเช่นเดียวกับการฝึกฝนให้เป็นนักวิเคราะห์ที่ดี สูตรที่ใช้ก็คือ พยายามคิดว่าทุกสิ่งในโลกนี้ต่างก็ “แข่งขันกัน” ผู้ชนะนั้นจะได้ “รางวัล” มากน้อยตามระดับการชนะนั้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทหรือองค์กรอะไรก็ตามมี “ค่า” ต่อ “เจ้าของ” ตามที่ควรจะเป็น แน่นอนบางสิ่งบางอย่าง เช่นศิลปินที่ไม่มีสังกัดนั้น ไม่มี “เจ้าของ” ซึ่งในฐานะของนักลงทุนจะทำอะไรไม่ได้ แต่ในกรณีของบริษัทจดทะเบียนนั้น สามารถเป็นเจ้าของได้ ซึ่งคือโอกาสที่จะลงทุน ในช่วงที่ยังไม่คุ้นเคยกับการคิดแบบนี้ สิ่งที่มักจะสับสนคือ ไม่รู้ว่าใครแข่งกับใคร บ่อยครั้งอาจจะสรุปว่า “ไม่มีคู่แข่ง” อย่าลืมว่าสิ่งมีชีวิตหรือองค์กรของสิ่งมีชีวิตนั้น มีคู่แข่งและแข่งกันเสมอ เพียงแต่บางครั้งอาจจะยังหาไม่พบ
4. หมั่นศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และจิตวิทยา นอกเหนือไปจากการศึกษาเรื่องการลงทุน เพราะจะช่วยให้มีพื้นฐานและความคิดในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการลงทุน
5. อย่าเล่น “หุ้นปั่น” ทุกกรณี และพยายามหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ทำให้หุ้นปรับตัวขึ้น สูงมากในเวลาอันสั้น วิธีสังเกตว่าตัวไหนเข้าข่ายเป็นหุ้นปั่น นอกจากข่าวและเหตุผลดีๆ ที่มาจากบริษัทหรือแหล่งข่าวอื่นๆ แล้ว ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นก็เป็นข้อมูลสำคัญที่จะชี้ว่าเป็นหุ้นดังกล่าว หรือไม่ เกณฑ์คร่าวๆ คือราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงติดต่อกันหลายวัน คิดแล้วหุ้นอาจจะขึ้นไปเป็น 100% ในเวลาเพียงไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ ส่วนปริมาณหุ้นจะสูงขึ้นมาก อัตราการหมุนเวียนหุ้นอาจสูงเป็น 50-100% ของปริมาณหุ้นทั้งหมดของบริษัทภายในการซื้อขายเพียงวันเดียว เป็นต้น นอกจากนั้นในเว็บบอร์ดเกี่ยวกับหุ้นที่มีผู้ติดตามมากนั้นมักจะมีคนโพสต์ข้อ ความเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าวมากผิดปกติ นิสัยไม่สนใจหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูงและราคาหุ้นขึ้นไปมากแล้วนั้น คิดว่าจะช่วยปกป้องให้ไม่ขาดทุนหรือล้มเหลวจากการลงทุนในระยะยาว ซึ่งต้องเลือกลงทุนในหุ้นเฉพาะกิจการที่มีผลประกอบการเป็นหลัก แทนที่จะเน้นข่าวและปัจจัยเอื้ออำนวยในระยะสั้น ซึ่งอาจไม่ได้กระทบกับพื้นฐานจริงของบริษัท
6. ลงทุนเฉพาะในสิ่งที่ตนเองรู้และเข้าใจ นั่นคือไม่ลงทุนตามคนอื่นตราบใดที่ตนเองยังไม่เข้าใจตัวกิจการจริงๆ อาจไม่ยอมลงทุนในหุ้นของอุตสาหกรรมบางอย่าง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมนอกเหนือความรู้ของเรา การลงทุนก็จะ Focus หรือไม่กระจายมากเกินไป และจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนมีแนวโน้มสูงขึ้น
7. การเน้นคุณค่าเวลาจะซื้อหรือทำอะไรต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะการลงทุน แต่รวมถึงการซื้อของอย่างอื่นหรือแม้แต่การทำงาน พูดง่ายๆ ทำอะไรก็ต้องดูว่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่ารายจ่าย หรือต้นทุนที่ทุ่มเทลงไป เมื่อทำแบบนี้จนกลายเป็นนิสัย การลงทุนก็จะมีแนวทางหรือแนวคิดแบบเดียวกัน และจะทำให้การลงทุนเป็นเรื่องของ Value Investment หรือเป็นการลงทุนแบบเน้นคุณค่าโดยอัตโนมัติ ผลที่ตามมาคือจะได้ผลตอบแทนดีในระยะยาวโดยที่มีความเสี่ยงต่ำ ถ้าจะว่าไป ไม่มี VI คนไหนที่จะรักษาสถิติหรือผลงานการลงทุนที่ดีได้โดยปราศจากการมีนิสัยการลง ทุนที่ดีด้วย และไม่มีใครคนไหนที่จะกลายเป็น VI ได้ถ้าไม่ได้ปฏิบัติและพัฒนานิสัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการเป็น VI
_________________
* โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ