รายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนมีนาคม 2557
ข้อมูลเดือนมีนาคม 2557 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าในหมวดอาหารสำเร็จรูปยังทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งราคาน้ำมันก็มีความผันผวนและมีราคาที่ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนภาคการผลิตปรับตัวลดลง เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่ได้ข้อยุติและยืดเยื้อ ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ รอดูสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง จึงทำให้การผลิตในเดือนนี้ยังปรับตัวลดลงต่อไป ในขณะเดียวกันดุลการค้ามีค่าลดลงแต่ยังเป็นบวกอยู่ จึงยังไม่ต้องเป็นห่วงมากเท่าไรนัก เพราะความเชื่อมั่นของต่างประเทศยังมีอยู่สูง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะธนาคารพาณิชย์ยังมีการระดมเงินอยู่ ส่งผลทำให้ประชาชนยังคงออมเงินอย่างต่อเนื่อง สำหรับการปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อไปมากแล้ว จึงเริ่มมีการทยอยปล่อยสินเชื่อออกมาบ้าง
ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน
รายละเอียด |
ธันวาคม 56 |
มกราคม 57 |
กุมภาพันธ์ 57 |
มีนาคม 57 |
ดัชนีราคาผู้บริโภค |
106.0 |
106.5 |
106.7 |
106.9 |
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม |
170.38 |
171.41 |
170.52 |
166.86 |
อัตราการใช้กำลังการผลิต |
61.57 |
61.84 |
60.90 |
61.13 |
ดุลการค้า |
1,997.40 |
-857.27 |
3,896.01 |
3,480.32 |
ดุลบัญชีเดินสะพัด |
1,782.28 |
262.68 |
5,065.27 |
2,898.44 |
เงินฝาก |
11,175.67 |
11,220.92 |
11,384.19 |
n.a. |
เงินให้สินเชื่อ |
12,342.09 |
12,258.62 |
12,346.12 |
n.a. |
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2545 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2543
ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนมีนาคม 2557
• ด้านอุปทาน
- ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มี.ค. 56 กับ 57 มีรายละเอียดดังนี้
ปี |
จำนวน(ยูนิต) |
การเติบโต(%) |
ณ มี.ค. 56 |
18,181 |
NA |
ณ มี.ค. 57 |
18,623 |
2.43% |
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
- ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ม๊.ค. 57 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้
ประเภท |
จำนวน(ยูนิต) |
สัดส่วน(%) |
บ้านเดี่ยว |
7,382 |
39.63 |
อาคารชุด |
5,694 |
30.58 |
ทาวน์เฮ้าส์ |
3,011 |
16.17 |
อาคารพาณิชย์ |
1,806 |
9.70 |
บ้านแฝด |
730 |
3.92 |
รวม |
18,623 |
100.00 |
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
• ด้านอุปสงค์
- การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ มี.ค. 56 กับ 57 มีรายละเอียดดังนี้
ปี |
จำนวน(ยูนิต) |
การเติบโต(%) |
ณ มี.ค. 56 |
39.851 |
NA |
ณ มี.ค. 57 |
37,559 |
-5.75% |
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
- ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ม๊.ค. 57 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้
ประเภท |
จำนวน(ยูนิต) |
สัดส่วน(%) |
อาคารชุด |
15,947 |
42.46 |
ทาวน์เฮ้าส์ |
11,086 |
29.52 |
บ้านเดี่ยว |
6,419 |
17.09 |
อาคารพาณิชย์ |
2,912 |
7.75 |
บ้านแฝด |
1,195 |
3.18 |
รวม |
37,559 |
100.00 |
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
• อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้
ปี 57 |
อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 6 ธนาคาร |
อัตราดอกเบี้ย นโยบาย ธปท. |
มกราคม |
7.03 |
2.25 |
กุมภาพันธ์ |
7.12 |
2.25 |
มีนาคม |
7.03 |
2.00 |
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ,
ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์
สรุปภาพภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนมีนาคม 2557
ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวขึ้น 2.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ในขณะที่ทางด้านอุปสงค์หดตัวลง 5.75% เนื่องจากปัจจัยลบในด้านต่างๆ เช่น ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปก่อน ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด ในขณะที่ที่ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7.03% ตามการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลงมาเหลืออยู่ที่ 2.00%
วิเคราะห์ปัญหาการกระจายรายได้กับความมั่งคั่งของไทย*
โดยส่วนใหญ่ทางเศรษฐศาสตร์มักพูดกันแต่เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ Growth แต่จะละเลยปัญหาด้านการกระจายรายได้ที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศในระยะยาว และในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยถ้าจะสรุปก็จะมีรายละเอียดดังนี้
1. ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยไม่ดีขึ้นเลยในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาตรงกับข้อสังเกตที่ว่าเศรษฐกิจยิ่งโตยิ่งเหลื่อมล้ำ โดยความแตกต่างของรายได้ของครอบครัวที่จนที่สุดสิบเปอร์เซ็นต์กับครอบครัวที่รวยที่สุดสิบเปอร์เซ็นต์เพิ่มมากขึ้น จากความแตกต่างประมาณ 20 เท่าในปี 2529 เป็น 21 เท่าในปี 2554
2. ครอบครัวในประเทศไทยปี 2554 มี 2.2 ล้านครอบครัว ประมาณร้อยละ 40 ของครอบครัวที่จนที่สุดสิบเปอร์เซ็นต์ (รายได้เฉลี่ย 4,266 บาทต่อเดือน) จะมีคนชราเป็นหัวหน้าครอบครัว โดยมีรายได้หลักจากเงินที่ลูกหลานส่งมาให้ อีกร้อยละ 25 เป็นครอบครัวเกษตรกร ขณะที่ครอบครัวที่รวยที่สุดสิบเปอร์เซ็นต์ (รายได้เฉลี่ย 90,048 บาทต่อเดือน) ประมาณร้อยละ 40 เป็นครอบครัวที่ประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น หมอ วิศวกร และอีกร้อยละ 12 เป็นเจ้าของธุรกิจ
3. เกือบครึ่งหนึ่งของครอบครัวไทยมีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน (ปี 2554) โดยรายได้เฉลี่ยของครอบครัวไทยตกประมาณ 23,000 บาทต่อเดือน แต่รายได้ที่ครอบครัวไทยได้รับมากที่สุดก็คือ 7,000 - 8,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีราว 1.1 ล้านครอบครัว
4. ความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงจะแย่กว่าที่รายงานทั่วไปอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ เพราะรายได้รวมของครัวเรือนที่ได้จากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (ซึ่งเป็นข้อมูลหลักที่ใช้วัดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้) มีประมาณ 6.4 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าตัวเลขรายได้ครัวเรือนที่สภาพัฒน์ประมาณการในการคำนวณตัวเลขจีดีพีประเทศที่ประมาณออกมา 7.3 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้ารวมตัวเลขที่หายไปเกือบหนึ่งล้านล้านบาท ความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้นกว่าตัวเลขที่ประเมินจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม
5. ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของประเทศไทยอยู่เกือบอันดับสุดท้ายของโลก คือ เหลื่อมล้ำมากเป็นอันดับที่ 162 จาก 174 ประเทศ โดยกลุ่มที่มั่งคั่งที่สุดสิบเปอร์เซ็นต์ของไทยจะมีสัดส่วนในรายได้ของประเทศประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ ทรัพย์สินสุทธิ 57 เปอร์เซ็นต์ ที่ดิน 60 เปอร์เซ็นต์ และเงินฝาก 93 เปอร์เซ็นต์
6. ทรัพย์สินเฉลี่ยของครอบครัวของ ส.ส. (500 ครัวเรือน) แต่ละครอบครัวรวยกว่าอีก 99 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวไทย
7. นอกเหนือจากรายได้และทรัพย์สินยังมีความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆ เช่น การเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุขที่มีคุณภาพ
8. ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุดที่ควรแก้ คือ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส
ทั้ง 8 ข้อ นี้เป็นข้อเท็จจริงที่มานำเสนอในบทความ และเท่าที่สรุปมาคงพอเห็นภาพว่าประเทศไทยมีปัญหาด้านการกระจายค่อนข้างมาก และถ้าปัญหานี้แย่ลง ไม่มีการแก้ไข ก็จะสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของประเทศมากขึ้นๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ (กระทบความสามารถของเศรษฐกิจที่จะขยายตัวในระยะยาว) ด้านการเมือง (ความเหลื่อมล้ำนำไปสู่โอกาสทางการเมืองและการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียมกัน) และด้านสังคม (มีปัญหาด้านความปลอดภัยและความขัดแย้ง) ด้วยเหตุนี้ปัญหาด้านการกระจายที่รุนแรงจึงมักถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจและของประเทศ
ในกรณีของไทย ความเหลื่อมล้ำได้นำไปสู่ความแตกต่างในระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศที่ ชาวต่างประเทศมองเห็นได้ชัดเจนและพูดถึงมาก ล่าสุดคือ รายงานของสำนักข่าว Global Post เรื่อง The Great Divide : Global income inequality and its cost ที่ได้ยกประเทศไทยเป็นตัวอย่างว่าเหมือนมีโลกสองโลกอยู่ในประเทศเดียว ในแง่เศรษฐศาสตร์คำถามที่ตามมาก็คือ
1. ความเหลื่อมล้ำที่มีมากไม่ดีต่อเศรษฐกิจอย่างไร
2. จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
ปัญหาความเหลื่อมล้ำดีหรือไม่ดีต่อเศรษฐกิจเป็นข้อถกเถียงที่นักเศรษฐศาสตร์มีมานานจนพัฒนาขึ้นมาเป็นแนวคิดทางการเมืองระหว่างพวกอนุรักษนิยมที่ไม่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำว่าเป็นปัญหากับพวกเสรีนิยมที่มองว่าความเหลื่อมล้ำที่มีมากเป็นภัยต่อเศรษฐกิจและต่อประเทศ และตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 แนวคิดว่าความเหลื่อมล้ำที่มีมากเป็นภัยต่อเศรษฐกิจได้รับการยอมรับมากขึ้นๆ โดยเฉพาะจากงานเขียนล่าสุดของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล คือ Joseph Stiglitz ในหนังสือ The Price of Inequality หรือ ผลกรรมความเหลื่อมล้ำที่เสนอแนวคิดว่าความเหลื่อมล้ำที่มีมากไม่ดีทั้งต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เพราะความเหลื่อมล้ำที่มีมากทำลายอำนาจซื้อของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ประเทศขาดความต้องการภายในที่จะใช้จ่าย ทำให้ขาดพลังขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ก็นำมาสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ เพราะรัฐบาล เมื่อประชาชนไม่มีรายได้พอที่จะใช้จ่าย ก็มักใช้นโยบายประชานิยมภายใต้ชื่อต่างๆ แก้ไข โดยพยายามทำให้ประชาชนสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายโดยการสร้างหนี้ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีชั่วคราว แต่เศรษฐกิจก็กลับมาชะลออีก เมื่อการกระตุ้นโดยนโยบายประชานิยมจบลง ผลที่ตามมาก็คือปัญหาการชำระหนี้ของครัวเรือน ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์หรือหนี้เสียที่อาจนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจในที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีแนวคิดว่าเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำ เพราะความเหลื่อมล้ำมีมาก ครัวเรือนที่มีรายได้สูงก็จะพยายามเพิ่มผลตอบแทนให้กับการลงทุนของตน โดยการเก็งกำไร ซึ่งก็จะสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง อันนี้คือผลของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการขยายตัวและเสถียรภาพ
ในส่วนของคำถามที่ว่าแล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร คำตอบที่ยอมรับกันมากที่สุดก็คือ ต้องลดความไม่เท่าเทียมกันทางด้านโอกาสก่อน เพื่อให้คนที่เกิดในสังคมไม่ว่าจนหรือรวยสามารถมีโอกาสที่จะยกฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองได้ โดยที่ไม่ต้องทำผิดกฎหมายด้วยการผ่านนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งสร้างโอกาสให้กับคนในสังคม ให้มีโอกาสไม่แตกต่างกันมากที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ เข้าถึงความปลอดภัยในการรักษาสินทรัพย์ที่หามาได้ เช่น มีบัญชีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ ประเทศมีระบบการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง และเข้าถึงโอกาสของการมีงานทำบนพื้นฐานความรู้ความสามารถ ในเรื่องนี้ประเด็นที่ต้องตระหนักมาก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยก็คือ ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในการกระจายทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งมาก ความแตกต่างในโอกาสของคนในประเทศยิ่งจะมีมาก จำเป็นต้องแก้ไข เพื่อลดความแตกต่างหรือความได้เปรียบเสียเปรียบด้านโอกาสของคนในสังคมตั้งแต่จุดเริ่มต้น ในลักษณะนี้สิ่งที่ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศจึงมีมาก มีหลายมิติ และจำเป็นต่อการเติบโตและเสถียรภาพของประเทศในระยะยาว
วิเคราะห์นโยบายการเงินของสหรัฐเมื่อกลับสู่ภาวะปกติ
ในทางเศรษฐศาสตร์การเดินทางกลับของนโยบายการเงินสหรัฐสู่ระดับที่เป็นปรกติมากขึ้น แบ่งได้เป็นสามขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนแรก คือ การลดวงเงินซื้อพันธบัตรใหม่ที่ได้เริ่มทำแล้ว จาก 85 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือนปีที่แล้ว เหลือ 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนขณะนี้
ขั้นตอนที่สอง คือ การดูดซับสภาพคล่องที่มีอยู่ในตลาดการเงินบางส่วนกลับโดยขายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อลดสภาพคล่องส่วนเกิน ซึ่งจะเป็นทิศทางของการเข้าสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ขั้นตอนที่สาม คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะมีครั้งแรกและครั้งต่อไป
คำถามขณะนี้ก็คือ เงื่อนเวลาในแต่ละขั้นตอนจะนานแค่ไหน และเมื่อไรธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อันนี้เป็นคำถามในตลาดการเงินที่เกิดขึ้น ซึ่งคำตอบจะขึ้นอยู่ว่าขั้นตอนแรกและขั้นตอนที่สองจะใช้เวลานานแค่ไหน ก่อนจะถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ช่วงเวลาที่จะใช้ในแต่ละขั้นตอนชัดเจนว่าจะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ
นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาในระยะต่อไปมีสามประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่
1. ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาคงให้ความสำคัญกับตัวเลขการว่างงานและการมีงานทำน้อยลงในระยะข้างหน้า และหันมาให้ความสำคัญกับข้อมูลเศรษฐกิจในภาพรวมมากขึ้น คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ
2. ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกามีพื้นที่ที่จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินได้อย่างคล่องตัว เพราะความห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบของการลดการผ่อนคลาย คือ อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินขณะนี้ลดลง จากผลการทดสอบความเพียงพอของเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์สหรัฐอเมริกาต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและนโยบาย (Stress-Test) ที่ออกมาอย่างพอใจคือมี 29 ธนาคารพาณิชย์สหรัฐอเมริกา จาก 30 ธนาคาร ที่ทดสอบผ่านเกณฑ์ความเพียงพอของเงินกองทุนที่ประเมินว่าจะสามารถรองรับแรงกระทบของสถานการณ์ที่ผันผวนได้ ทำให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์จะไม่เป็นประเด็นต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
3. ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาที่สูงขึ้นต่อเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเงินทุนไหลออกก็จะไม่เป็นประเด็นในการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา คือ นโยบายการเงินสหรัฐอเมริกาจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอเมริกา เมื่อเกิดขึ้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบใหม่ในระบบการเงินโลกที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ในอดีตในทุกวัฏจักรที่อัตราดอกเบี้ยปรับเป็นขาขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติในประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีมากขึ้นทุกครั้ง เพราะจะเกิดเงินทุนไหลออกที่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หมายถึง ภาระการชำระหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาครัฐ หนี้บริษัทเอกชน หรือหนี้ครัวเรือน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็จะกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทั้งหมดนี้คือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยจะต้องมีการติดตามว่าประเทศตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจโลกพร้อมหรือยังกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกที่จะสูงขึ้น เพราะจะมีผลกระทบที่อาจจะทำให้เกิดเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจของโลกได้อีกครั้ง
___________________
* โดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
กลุ่มข้อมูลและวางแผนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร