หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนมีนาคม 2564)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนมีนาคม 2564)

ข้อมูลเดือนมกราคม 2564 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำมันกลับมามีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นไป ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัว จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตมีแนวโน้มในการปรับตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว ทำให้ในเดือนนี้คำสั่งซื้อเริ่มมีการปรับตัวได้สูงขึ้นตามภาวะของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ขยายตัวขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวลดลงแต่ยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากประชาชนได้กลับมามีการออมเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนยังมีความผันผวนอยู่ จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารได้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปช่วยในการเพิ่มเสริมสภาพคล่อง จึงส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นมาได้ แต่ก็ยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย
 
ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

ตุลาคม 63

พฤศจิกายน 63 ธันวาคม 63 มกราคม 64
ดัชนีราคาผู้บริโภค

102.23

102.19 102.34 99.79
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

96.14

98.11 96.33 101.34
อัตราการใช้กำลังการผลิต

63.47

65.43 63.77 66.41
ดุลการค้า

3,493.53

1,903.40 2,834.49 1,893.71
ดุลบัญชีเดินสะพัด

1,000.26

-1,475.99 -692.58 -673.34
เงินฝาก

15,424.05

15,627.31 n.a. n.a.
เงินให้สินเชื่อ

16,310.54

16,659.40 n.a. n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ : ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2562 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559
ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดมีหน่วยเป็นล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนมกราคม 2564

 ด้านอุปทาน
  • ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ม.ค. 63 กับ 64 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ม.ค. 63

11,353

143.41

ณ ม.ค. 64

4,805

-57.68

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 
  • ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ม.ค. 64 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

บ้านเดี่ยว

2,440

50.78

อาคารชุด

1,151

23.95

ทาวน์เฮ้าส์

798

16.61

อาคารพาณิชย์

302

6.29

บ้านแฝด

114

2.37

รวม

4,805

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 
ด้านอุปสงค์
  • การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ม.ค. 63 กับ 64 มีรายละเอียดดังนี้
 

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ม.ค. 63

11,791

15.63 %

ณ ม.ค. 64

8,578

-27.25 %

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 

 

  • ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ม.ค. 64 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

3,932

45.84

ทาวน์เฮ้าส์

2,455

28.62

บ้านเดี่ยว

1,419

16.54

อาคารพาณิชย์

414

4.83

บ้านแฝด

358

4.17

รวม

8,578

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

 
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่บุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ณ ไตรมาส 4 ปี 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 172,310 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.62% จาก ณ ไตรมาส 4 ปี 62 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 171,252 ล้านบาท
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไปของสถาบันการเงินทั้งระบบ
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างบุคคลทั่วไป ณ ไตรมาส 4 ปี 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,254,730 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.10% จาก ณ ไตรมาส 4 ปี 62 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้นอยู่ที่ 4,010,235 ล้านบาท
  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 63

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม

5.38

0.50

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนมกราคม 2564
 
ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 57.68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการ        ฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปได้อย่างช้าๆ ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่มาก อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กลับมาระลอกใหม่ จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 27.25% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่ต่อไป ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวด เนื่องจากทิศทางของหนี้ด้อยคุณภาพมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างทรงตัวตามความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ส่งผลทำให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยที่ 0.62% ณ ไตรมาส 4 ปี 63  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 5.38% แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยทรงตัวอยู่ที่ 0.50% ตามลำดับ
 

วิเคราะห์ทิศทาง Deep Tech กับบริบทอนาคตของธุรกิจ*

 
ที่มาของภาพ :  https://www.techworks.org.uk/wp-content/uploads/2017/08/IMAGE-2_WHAT-IS-DEEP-TECH-0.jpg
 
นักอนาคตศาสตร์ได้เริ่มมองฉากทัศน์อนาคตของการเกิดเทคโนโลยีที่จะสามารถสร้างผลกระทบคลื่นการเติบโตของวัฏจักรธุรกิจในยุคต่อไปจากนี้มากขึ้น แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะมีความเข้าใจมาเป็นเวลาเกือบ 100 ปีมาแล้วว่า คลื่นวัฏจักรการขึ้นลงของเศรษฐกิจโลกจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกให้กับการเติบโตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ที่รู้จักกันในนามของ “ทฤษฎีคลื่นยาว” ไม่ว่าจะเป็นคลื่นการเติบโตจากเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ คลื่นจากเทคโนโลยีการผสมโลหะที่ทำให้สามารถผลิตเหล็กที่มีความทนทานสูงนำมาใช้สร้างเป็นรางรถไฟ ทำให้เกิดการคมนาคมและขนส่งในเส้นทางที่ยาวไกลได้เกินกว่าการใช้แรงงานจากสัตว์ คลื่นจากการเทคโนโลยีเคมีและไฟฟ้าที่ทำให้เกิดเครื่องใช้ในบ้านที่มีความสะดวกสบายในการใช้งานมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คลื่นจากเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายในและเทคโนโลยีเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม มาจนถึงคลื่นของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ไอที อินเตอร์เน็ต และชีวเคมี ที่เกิดต่อเนื่องกันเป็นช่วงๆ มาจนถึงในปัจจุบัน
 
นักอนาคตศาสตร์ได้เริ่มมองฉากทัศน์อนาคตของการเกิดเทคโนโลยีที่จะสามารถสร้างผลกระทบคลื่นการเติบโตของวัฏจักรธุรกิจในยุคต่อไปจากนี้ และได้เริ่มเกิดการกล่าวถึงคำว่า “ดีพเทค” (Deep Tech) กันมากยิ่งขึ้น มีการให้คำนิยามว่า “ดีพเทค” ไม่ได้หมายความถึงการค้นหาเทคโนโลยีในเชิงลึกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีขอบเขตในเชิงกว้างที่เกิดกับประเภทของเทคโนโลยีอย่างหลากหลายอีกด้วย
 
ลักษณะที่สังเกตได้ของ “ดีพเทคโนโลยี” คือ การเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีความก้าวหน้าขั้นที่สูงกว่าเทคโนโลยีล่าสุดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปพร้อมๆ กัน มีพลังเพียงพอที่จะสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาเอง หรือสามารถ “ดิสรัป” ตลาดที่มีอยู่เดิมได้อย่างสิ้นเชิง และสามารถปกป้องการลอกเลียนแบบได้ในระดับที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเชิงธุรกิจจากคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ในเชิงธุรกิจ ความพยายามที่จะค้นหา “ดีพเทค” ที่ประสบความสำเร็จ จะวัดกันที่ขนาดของผลตอบแทนทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ระยะเวลาที่จะได้รับความนิยมให้คงอยู่ในตลาด และขนาดของการลงทุนและทรัพยากรที่ต้องใช้ โดยความรู้สึกปัจจุบันต่อ “ดีพเทค” ก็คือ จะให้ผลตอบแทนทางธุรกิจสูง คงอยู่ในตลาดได้ยาวนาน และต้องใช้การลงทุนค้นคว้าวิจัยในระดับสูง
 
มีผลการวิจัยที่แสดงว่า “ดีพเทค” ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ สามารถแยกออกได้เป็นกลุ่มเทคโนโลยีได้อย่างน้อย 7 สาขา ได้แก่
  • วัสดุขั้นสูง (Advanced Materials)
  • ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)
  • เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)
  • บล็อกเชน (Blockchain)
  • โดรนและหุ่นยนต์ (Drone and Robotics)
  • อนุภาคแสงและอิเล็กทรอนิกส์ (Photonics and Electronics)
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยทฤษฏีควอนตัม (Quantum Computing)
 
ทั้ง 7 สาขาของ “ดีพเทค” สามารถแพร่กระจายเข้าสู่สาขาของธุรกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างกว้างขวาง เช่น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เกษตรกรรม ยานยนต์และยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภค บริโภค และการบริการ พลังงานและสาธารณูปโภค อาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพและการดูแลสุขภาพ การผลิตและก่อสร้าง โลหะและการทำเหมืองแร่ อุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม การค้าปลีก การทำซอฟต์แวร์ การจัดการทรัพยากรน้ำ การกำจัดของเสีย เป็นต้น
 
ปัจจัยขับเคลื่อนที่จะผลักดันการพัฒนา “ดีพเทค” ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ความแข็งแกร่งของเทคโนโลยีพื้นฐานในปัจจุบัน การกีดกันผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจที่ลดลง ความหลากหลายของธุรกิจทั้งในด้านขนาดและประเภทของธุรกิจที่มีเพิ่มมากขึ้น แหล่งเงินลงทุนที่กล้าเสี่ยงในธุรกิจเกิดใหม่ที่มีเพิ่มมากขึ้น การสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ และความท้าทายต่อปัญหาด้านต่างๆ ของโลกในที่เพิ่มมากขึ้นที่รอการแก้ไขจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เป็นต้น
ส่วนปัจจัยเอื้อที่จะช่วยสนับสนุนการสร้าง “ดีพเทค” ก็คือระบบนิเวศธุรกิจที่ค่อนข้างจะแตกต่างไปจากระบบนิเวศของธุรกิจทั่วไป โดยระบบนิเวศธุรกิจ “ดีพเทค” จะประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ เช่น การรวมกลุ่มของผู้สนใจที่หลากหลายและมีที่มาจากสาขาเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน บริบทและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดพลวัตสูง ลักษณะการบริหารการรวมตัวที่ยืดหยุ่น และกระบวนทัศน์ที่มีต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยกลุ่ม      ผู้เล่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศธุรกิจ “ดีพเทค” มักจะได้แก่ สตาร์ทอัพ ธุรกิจขนาดใหญ่ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย องค์กรภาครัฐ นักลงทุน และผู้นำทางความคิดที่จะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามระยะต่างๆ ของการพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจทำให้ผู้เล่นบางกลุ่มจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามผลลัพธ์ของการพัฒนา
 
โดยสรุปจะเห็นได้ว่าถึงแม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรแห่ง “ดีพเทค” แต่ก็มีสัญญาณที่ดีของการเริ่มก่อตัวของระบบนิเวศและความคาดหวังว่ายุคที่รุ่งเรืองของ “ดีพเทค” จะเคลื่อนเข้ามาให้เห็นในระยะเวลาที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
 
วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกกับวัคซีนป้องกันโควิด-19
 
แม้ทุกประเทศจะพยายามทุ่มทรัพยากรเต็มที่เพื่อแก้ปัญหา แต่ถึงขณะนี้การระบาดของโควิด-19 ก็ยังไม่หยุด และส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก ความหวังจึงมีอย่างเดียวคือ “วัคซีน” ที่จะหยุดการระบาดแล้วนำเศรษฐกิจโลกและชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกกลับสู่ภาวะปกติ ด้วยเหตุนี้ข่าวการรับรองวัคซีนป้องกัน         โควิด-19 และการเริ่มนำวัคซีนมาฉีดให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในหลายประเทศ จึงเป็นข่าวดีทั้งต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก ให้ความหวังว่าการระบาดอาจหยุดได้ ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.5 สะท้อนความหวังนี้โดยมองสามปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวปีนี้ 
 
1. โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปีที่แล้วที่ดีกว่าคาด คือ หดตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี ที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนฟื้นตัวเข้มแข็งในไตรมาสสาม หลังหลายประเทศ         ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน แต่การฟื้นตัวแผ่วลงใน          ไตรมาสสี่ เมื่อเกิดการระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ รวมถึงในเอเชียและประเทศไทย ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 3.5 เลวร้ายสุดคือประเทศอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่หดตัวร้อยละ 2.4 
 
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มเติมช่วงปลายปีที่แล้วโดยสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการที่จะมาจากรัฐบาลใหม่ของสหรัฐอเมริกาในปีนี้ ที่มุ่งมั่นจะทำเต็มที่เพื่อหยุดการแพร่ระบาดและฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังถดถอย มาตรการเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และจะเข้มแข็งกว่าที่ประเมินไว้เดิม 
 
3. วัคซีน โดยคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมและในประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศ จะฟื้นตัวได้มากขึ้นในปีนี้จากการชะลอตัวของการระบาดที่เป็นผลจากการฉีดวัคซีนที่ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ประมาณว่าการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศเหล่านี้จะมีต่อเนื่องถึงปลายปี ซึ่งหมายถึงคนส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีน ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เหลือก็จะเริ่มฉีดวัคซีนในปีนี้เช่นกัน และจะใช้เวลาไปถึงปลายปีหน้า 
 
ไอเอ็มเอฟมองว่าการมีวัคซีนและการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางต่อเนื่องถึงปลายปีหน้า รวมถึงวิธีการรักษาที่ดีขึ้นจะส่งผลให้การระบาดของโควิด-19 ลดลง เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขยายตัว และกระตุ้นให้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว เป็นการฟื้นตัวที่ขับเคลื่อนด้วยความปลอดภัยของการใช้ชีวิตที่มาจากวัคซีน  โดยประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 5.5 และที่จะขยายตัวมากสุด คือ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมจีนและอินเดียที่จะขยายตัวร้อยละ 6.3 ปีนี้ อย่างไรก็ตามในระดับประเทศ ความสามารถในการขยายตัวจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ความรวดเร็วในการเข้าถึงวัคซีน ประสิทธิภาพของนโยบายที่แต่ละประเทศใช้ในการฟื้นเศรษฐกิจ และความอ่อนแอของเศรษฐกิจที่ประเทศมีอยู่เดิม สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งรวมไทย ไอเอ็มเอฟประเมินว่าปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่ำกว่าอัตรารวมของเศรษฐกิจโลก 
 
จากสามปัจจัยนี้ ชัดเจนว่าที่สำคัญสุดและเป็นตัวแปรจากปีที่แล้วก็คือ วัคซีน ที่จะทำให้การระบาดของโควิด-19 สามารถชะลอและ/หรือยุติลง นำเศรษฐกิจโลกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ยิ่งถ้าวัคซีนพิสูจน์ผลออกมาว่ามีประสิทธิภาพ สามารถกระจายไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลกได้เร็ว รวมทั้งประเทศตลาดเกิดใหม่ และการใช้วัคซีนถูกต่อยอดไปสู่วิธีการรักษาและป้องกันโควิด-19 ได้ดีกว่าที่มีขณะนี้ การระบาดของ         โควิด-19 ทั่วโลกก็อาจจบหรือยุติลงเร็วกว่าคาด สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน นำมาสู่การ         ฟื้นตัวของการบริโภค การลงทุนและการจ้างงาน สิ่งเหล่านี้เมื่อรวมกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะมีอยู่ต่อไป บวกกับนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย ก็จะสร้างโมเมนตัมการฟื้นตัวที่เข้มแข็งให้เศรษฐกิจโลกกลับสู่การขยายตัว นี่คือ ความหวังที่มากับวัคซีน 
 
อย่างไรก็ตามทุกอย่างมีความไม่แน่นอนและวัคซีนก็อาจเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจได้ ถ้าผลพิสูจน์ออกมาว่าวัคซีนไม่สามารถป้องกัน หรือลดการระบาดได้อย่างที่หวัง คือไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การระบาดจะยังไม่หยุดง่ายๆ เพราะในทางการแพทย์ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้หรือไม่ ทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน อาจนึกว่าตัวเองปลอดภัยเลยใช้ชีวิตอย่างไม่ระวัง การ์ดตกในแง่การสวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่างและเดินทางไปทั่วรวมถึงต่างประเทศ โดยไม่ตระหนักว่าแม้วัคซีนจะช่วยป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยถ้ามีการติดเชื้อ แต่เชื้อที่ตนมีอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ ทำให้การระบาดจะไม่หยุดง่าย นี่คือเป็นประเด็นสำคัญที่ทางการแพทย์ยังไม่มีข้อสรุปและทุกฝ่ายกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อหาคำตอบ
 
ดังนั้นความเสี่ยงที่วัคซีนอาจไม่มีประสิทธิภาพพอ มีความล่าช้าในการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนให้ประชากรรวมถึงการอุบัติขึ้นของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ (strains) ใหม่ ที่วัคซีนที่ผลิตมาอาจต่อกรหรือปราบไม่ได้  เหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ทำให้การระบาดอาจจะยังไม่จบลงง่ายๆ รวมถึงผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ที่สำคัญถ้าการระบาดลากยาว ผลต่อเศรษฐกิจ ต่อธุรกิจ และต่อความเป็นอยู่ของประชากรก็จะลากยาวตามไปด้วย สร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมให้กับเสถียรภาพของภาคธุรกิจ เสถียรภาพของระบบการเงิน และเสถียรภาพของสังคม และในประเทศที่สถานการณ์การเมืองของประเทศอ่อนไหว ความยืดเยื้อดังกล่าวก็จะมีผลต่อความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อภาครัฐและต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศ
 
ท่ามกลางข่าวดีของวัคซีน ซึ่งต้องถือว่าเป็นข่าวดีจริง เพราะย้อนกลับไปหกเดือนคงไม่มีใครกล้าบอกว่าโลกจะพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เร็วขนาดนี้  จึงต้องตระหนักถึงความไม่แน่นอนต่างๆ ที่ยังมีอีกมาก ทำให้การทำนโยบายของประเทศต้องไม่ประมาทและต้องเตรียมพร้อมกับความเป็นไปได้ที่สถานการณ์การระบาดจะยืดเยื้อ และกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ในบริบทนี้นอกเหนือจากการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคมที่ได้รับผลกระทบ สิ่งที่นโยบายของประเทศต้องให้ความสำคัญคือ รักษาความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข สร้างงานให้คนในประเทศทำเพื่อให้มีรายได้ และสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศในเศรษฐกิจโลกหลังยุคโควิดต่อไป
 
 
 
 
กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และงบประมาณ
ฝ่ายยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจองค์กร
 

แหล่งที่มาของข้อมูล : เรวัต ตันตยานนท์ Knowledge Community SMEs

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 26 มีนาคม 2564

1281 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย