หน้าหลัก > บทความเศรษฐกิจ > บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564)

บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ(ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564)

                ข้อมูลเดือนธันวาคม 2563 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำมันกลับมามีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นไป ในขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดก็มีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัว จึงส่งผลทำให้ราคามีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในเดือนนี้ ส่วนภาคการผลิตยังมีแนวโน้มในการปรับตัวลดลงไป เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดระลอกใหม่ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ในเดือนนี้คำสั่งซื้อมีการปรับตัวได้น้อยลงตามภาวะของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ในเดือนนี้มีการผลิตสินค้าที่ปรับตัวได้น้อยลงมา ในขณะเดียวกันดุลการค้าปรับตัวสูงขึ้นและยังมีทิศทางที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการนำเข้ายังมีค่าที่ไม่สูงมากเท่าไรนัก จึงทำให้ไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง โดยปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่ามากขึ้น เนื่องจากประชาชนได้กลับมามีการออมเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนยังมีความผันผวนอยู่ จึงส่งผลให้การออมเงินมีการขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อมีค่าสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารได้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปช่วยในการเพิ่มเสริมสภาพคล่อง จึงส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นมาได้ แต่ก็ยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีกด้วย

 
ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

รายละเอียด

กันยายน 63

ตุลาคม 63

พฤศจิกายน 63 ธันวาคม 63
ดัชนีราคาผู้บริโภค

102.18

102.23

102.19 102.34
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

95.40

96.14

98.11 96.33
อัตราการใช้กำลังการผลิต

63.46

63.47

65.43 63.77
ดุลการค้า

3,524.48

3,493.53

1,903.40 2,834.49
ดุลบัญชีเดินสะพัด

1,426.78

1,000.26

-1,475.99 -692.58
เงินฝาก

15,400.43

15,424.05

15,627.31 n.a.
เงินให้สินเชื่อ

16,397.14

16,310.54

16,659.40 n.a.

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2558  เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็น พันล้านบาท
อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2559  
ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ภาวะอสังหาริมทรัพย์ เดือนธันวาคม 2563
     • ด้านอุปทาน
        - ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ธ.ค. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ธ.ค. 62

117,965

-14.66%

ณ ธ.ค. 63

109,385

-7.27%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

       - ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการจดทะเบียน ณ ธ.ค. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต)

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

59,012

53.95

บ้านเดี่ยว

30,198

27.61

ทาวน์เฮ้าส์

14,455

13.21

อาคารพาณิชย์

3,165

2.89

บ้านแฝด

2,555

2.34

รวม

109,385

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์


     • ด้านอุปสงค์
        - การโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปรียบเทียบ ณ ธ.ค. 62 กับ 63 มีรายละเอียดดังนี้

ปี

จำนวน(ยูนิต)

การเติบโต(%)

ณ ธ.ค. 62

206,290

0.71%

ณ ธ.ค. 63

196,936

-4.68%

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
 

       -ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ธ.ค. 63 เรียงตามลำดับมีรายละเอียดดังนี้

ประเภท

จำนวน(ยูนิต) 

สัดส่วน(%)

อาคารชุด

98,698

50.19

ทาวน์เฮ้าส์

55,234

28.09

บ้านเดี่ยว

27,670

14.07

บ้านแฝด

7,796

3.97

อาคารพาณิชย์

7,241

3.68

รวม

196,639

100.00

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปลอยตัวเฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ปี 63

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย
6 ธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.

มกราคม

5.95

1.25

กุมภาพันธ์ 5.93 1.00
มีนาคม 5.83 0.75
เมษายน 5.50 0.75
พฤษภาคม 5.28 0.50
มิถุนายน-กันยายน 5.24 0.50
ตุลาคม-ธันวาคม 5.32 0.50

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
หมายเหตุ: 6 ธนาคาร ประกอบ ธ.อาคารสงเคราะห์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

 

สรุปภาพรวมภาวะอสังหาริมทรัพย์เดือนธันวาคม 2563
 

         ภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 7.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการ        ฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปได้อย่างช้าๆ ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่มาก จึงทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่ยังชะลอการพัฒนาโครงการออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดมีทิศทางที่หดตัวลงมา ในขณะเดียวกันทางด้านอุปสงค์ก็มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 4.68% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่ต่อไป ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวด เนื่องจากทิศทางของหนี้ด้อยคุณภาพมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยทรงตัวอยู่ที่ 5.32% และ 0.50% ตามลำดับ

วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจโลกในอนาคต

                  
 
        ณ ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเริ่มหดตัวรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในสหรัฐอเมริกาตัวเลขตลาดแรงงานและยอดขายปลีกเริ่มปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน ในยุโรปเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายตัวโดยเฉพาะในภาคบริการหดตัวในช่วงปลายปี ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเข้าสู่โซน       หดตัว ในญี่ปุ่นยอดค้าปลีกที่เริ่มฟื้นตัวในเดือน ต.ค. เริ่มชะลอลงรุนแรงในเดือน พ.ย. และมีแนวโน้มที่จะหดตัวถึง 2 หลัก จะมีก็แต่เศรษฐกิจจีนที่เศรษฐกิจยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่สี่และเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งเดียวที่ยังขยายตัวได้ในปีนี้ 
 
        แน่นอนว่าสาเหตุหลักของการหดตัวมาจากการระบาดของ COVID-19 ครั้งใหม่โดยจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นถึง 100 ล้านราย ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเกิน 2 ล้านราย ทำให้ทางการในหลายประเทศกำหนดมาตรการปิดเมืองที่รุนแรงอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา  อย่างไรก็ตามหากมองไปข้างหน้านักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความหวังที่ดีขึ้น จากปัจจัยสองประการ ได้แก่
        (1) นโยบายของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา
        (2) ความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีน 
        ในประเด็นแรก ประธานาธิบดีไบเดนเริ่มเปิดเผยนโยบาย 100 วันแรกของการทำงาน ซึ่งรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึงการแจกเงิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ให้กับพลเมืองสหรัฐอเมริกาทุกคน และเพิ่มสวัสดิการการว่างงานเป็น 400 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อสัปดาห์จนถึงเดือน ก.ย. รวมถึงเสนอให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา จาก 7.25 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในปัจจุบัน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธต่างปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปีนี้ขึ้น 
 
        ในส่วนของความก้าวหน้าของวัคซีน หลังจากวัคซีนที่พัฒนาโดย AstraZeneca และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านสุขภาพในสหราชอาณาจักรอินเดียและที่อื่นๆ มากขึ้นและกำลังจะได้รับอนุมัติในสหรัฐอเมริกา ข่าวนี้รวมกับการเร่งการกระจายและการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงไบเดนที่ตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ให้ได้ภายใน 100 วัน ขณะที่ในยุโรปทางการตั้งเป้าที่จะฉีด 70% ของประชากรทั้งหมดภายในกลางปีนี้ ทำให้ความหวังว่าจะเกิด Herd immunity หรือการที่ 70% ของจำนวนประชากรมีภูมิต้านทานต่อโรคก็มีความสดใดมากขี้น ด้วยปัจจัยสำคัญทั้งสองประการ คือ
  1. การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของไบเดน และยิ่งได้ เจ  เน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางหรือ Fed มาเป็นว่าที่ รมว. คลังด้วยแล้ว ตลาดยิ่งมั่นใจขึ้นว่ามาตรการต่างๆ จะสามารถทำได้ 
  2. ความเชื่อมั่นของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากได้รับวัคซีน จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น (Pent up demand) ซึ่งจะรวมไปถึงการเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งหมดนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกในอนาคตพุ่งขึ้นไปอย่างฉุดไม่อยู่ 
 
        แม้ว่จะเชื่อว่าแนวคิดนั้นจะเป็นไปได้ แต่ก็หาได้ไร้ซึ่งความเสี่ยงไม่ โดยมองว่าแนวคิดที่ว่าการใช้นโยบายการคลังขนาดใหญ่โดยเฉพาะการแจกเงินจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวที่แข็งแกร่งในปีนี้นั้นเป็นการมองโลกในแง่ดีค่อนข้างมาก ทั้งนี้หลักฐานเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่านโยบายการคลังโดยการแจกเงินจะมีประสิทธิภาพหากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤตเช่นในครึ่งแรกของปีที่แล้ว แต่หากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว ประสิทธิผลการแจกเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการขาดดุลการคลังที่ชดเชยด้วยการขึ้นภาษีในอนาคต หากเป็นเช่นนั้นผู้คนมักจะออมเงิน (เพื่อจ่ายภาษีในอนาคต) หรือจ่ายหนี้เก่ามากกว่าที่จะใช้จ่าย ณ ขณะนี้ (ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "Ricardian Equivalence") 
 
        นอกจากนั้นกฎระเบียบทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น จากแนวทางของว่าที่ผู้นำหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลทางการเงินที่ไบเดนจะตั้งขึ้น เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และสำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค (Consumer Financial Protection Bureau) ทำให้เป็นไปได้ว่าในอนาคตนั้น ภาคการเงินสหรัฐอเมริกาจะต้องถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และหากหน่วยงานด้านการกำกับธุรกิจการเงินของสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้มงวดขึ้นแล้ว เป็นไปได้สูงที่ผู้กำกับธุรกิจการเงินในประเทศอื่นๆ จะเพิ่มระดับความเข้มงวดตาม ซึ่งก็จะทำให้อุตสาหกรรมการเงินทำธุรกิจยากลำบากมากขึ้น 
 
        ขณะเดียวกันแนวนโยบายด้านการค้าของไบเดน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Buy American ที่เน้นให้ภาครัฐซื้อสินค้าอเมริกันในการจัดซื้อจัดจ้างและเสี่ยงต่อการขัดหลัก WTO หรือแม้แต่แนวนโยบายที่จะขึ้นภาษีให้กับบริษัทอเมริกันที่ไปลงทุนในต่างชาติ ก็มีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศเช่นกัน 
 
        ในส่วนของการตั้งเป้าฉีดวัคซีน แม้ว่าเป้าที่ไบเดนตั้งไว้ว่าจะฉีด 100 ล้านโดส ใน 100 วัน (หรือวันละ 1 ล้านโดส) นั้นจะดูยิ่งใหญ่ แต่นักวิชาการด้านสาธารณสุขกล่าวว่าด้วยอัตราดังกล่าวจะทำให้เกิด Herd immunity ในสหรัฐอเมริกาในกลางปี 2022 แต่หากจะให้เกิด Herd immunity ภายในปีนี้แล้ว จะต้องฉีดให้ได้ วันละ 3 ล้านโดส ซึ่งห่างไกลความเป็นจริงในปัจจุบัน (ที่มีการฉีดประมาณ 7-8 แสนโดสต่อวัน) ค่อนข้างมาก 
 
        นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น coronavirus ที่กลายพันธุ์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจดื้อต่อวัคซีนมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าความเชื่อมั่นของประชาชนและธุรกิจจะกลับคืนมา และทำให้การบริโภคและลงทุนในอนาคตเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าในระยะใกล้ภาพจะสดใส แต่ความเสี่ยงในอนาคตอาจเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังที่อาจสูงเกินไปเกี่ยวกับนโยบายการคลัง นโยบายสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น มาตรการภาษีที่อาจไม่เป็นมิตรต่อการลงทุน ความล่าช้าของการฉีดวัคซีนและความเสี่ยงการกลายพันธุ์ของไวรัส เป็นสิ่งที่ต้องจับตามมองในอนาคตเป็นอย่างดีว่าทิศทางของเศรษฐกิจโลกอาจจะไม่ได้เป็นไปตามดังที่คาดหวังไว้ก็เป็นไปได้นั่นเอง 
 
วิเคราะห์ RCEP กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย
 
        ท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียดจากการกีดกันทางการค้า การต่อต้านโลกาภิวัฒน์ และกระบวนการผลิต ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิคที่ยืดเยื้อ การร่วมลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (RCEP) เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประเทศสมาชิก เรื่องการเปิดเสรีทางการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีต่อกัน โดยเฉพาะในเอเชีย เพราะอาร์เซ็ปจะเป็นข้อตกลงทางการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนครอบคลุม 30% ของจีดีพีโลก และ 27% ของมูลค่าการค้าทั่วโลก 
ในระหว่างนี้อยู่ในกระบวนการการให้สัตยาบันของแต่ละประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในกลางปีนี้ เมื่อ         อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้แล้ว นอกจากผลประโยชน์ทางด้านภาษีนำเข้าที่จะเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิก นอกเหนือไปจากข้อตกลงเสรีการค้าแบบทวิภาคีที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว กระบวนการทางศุลกากรที่รวดเร็วขึ้น และมาตรการช่วยเหลือทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้สินค้าสามารถเดินทางถึงมือผู้บริโภคปลายทางได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการส่งพัสดุแบบด่วน หรือสินค้าที่เน่าเสียง่าย ให้สามารถผ่านกระบวนการศุลการภายใน 6 ชั่วโมง ช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งออกเคมีภัณฑ์ผลิตภัณฑ์พลาสติก และอาหารแปรรูป ไปยังตลาดประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป 
 
        เป้าหมายหลักของอาร์เซ็ปคือเพื่อเปิดเสรีภาคการค้า การบริการ กระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ และเพิ่มความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศสมาชิก แน่นอนว่าจะเกิดการไหลของเม็ดเงินลงทุนจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอาร์เซ็ปเข้าสู่ประเทศสมาชิก อีกทั้งส่งผลให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงเงินลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน
 
        ทางด้านภาคบริการ จะเห็นการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาติของประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปหลายประเทศ ในภาคธุรกิจโทรคมนาคม การเงิน        การบริการด้านคอมพิวเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ และบริการขนส่งโลจิสติก มีแนวโน้มจะเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 51%
 
        ทางด้านซัพพลายเชน อาร์เซ็ปจะเอื้ออำนวยให้ธุรกิจสามารถใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนต่างๆ จาก 14 ประเทศสมาชิก โดยนับว่ามาจากแหล่งเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถผ่านกฎระเบียบด้านแหล่งที่มาของวัตถุดิบสำหรับสินค้าส่งออก และบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
        อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากความแตกต่างด้านกฎระเบียบข้อบังคับของแต่ละประเทศสมาชิก ยังคงต้องมีการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันในรายละเอียด ในเรื่องความเป็นไปได้ของการใช้ Made in RCEP ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจจะเป็นโอกาสให้ประเทศสมาชิกทบทวนเรื่องนโยบายต่างๆ ที่ทำให้สนองต่อข้อเรียกร้องของประเทศคู่ค้าใหม่ หรือคู่ค้าปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น
 
        ในขณะเดียวกันอาร์เซ็ปยังสอดรับยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ที่ตั้งเป้าขยายเศรษฐกิจจีนให้เติบโตอีกเท่าตัวภายในปี 2578 โดยการสร้างตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ขึ้นภายในจีน ในขณะเดียวกันก็เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น
 
        ขณะที่ตลาดรีเทลของจีนจะเข้ามาแทนที่สหรัฐอเมริกาภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ธุรกิจมองหาทางที่จะเจาะเข้าตลาดจีนอย่างเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด ในฐานะที่จีนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก มูลค่าการค้าของจีนที่มีกับประเทศสมากชิกอาร์เซ็ปนั้นค่อนข้างมากมายอยู่แล้ว กลุ่มประเทศสมาชิก RCEP นับเป็น       คู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยคิดเป็นสัดส่วน 32% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของจีน ซึ่งมากกว่าสัดส่วนของการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนกว่าเท่าตัว อาร์เซ็ปจะเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนให้เข้าสู่ “ตลาดรวม” นอกเหนือจากความน่าสนใจของตลาดอาเซียนที่กำลังมาแรง
 
        หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจต้องมองหาที่จะปรับเปลี่ยนเส้นทางซัพพลายเชน และตลาดใหม่ในการขายสินค้า จากการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าธนาคารยูโอบีจำนวน 300 รายทั่วเอเชีย การปรับกลยุทธ์ด้านซัพพลายเชนจะต้องใช้เวลา 1-3 ปี หรือมากกว่านั้น สิทธิพิเศษด้านการค้าที่จะมาพร้อมกับอาร์เซ็ปจะเข้ามาช่วยธุรกิจปรับตัวรับมือกับซัพพลายเชนที่ขาดตอน และเพิ่มเม็ดเงินลงทุนให้ไหลเข้ามาในอาเซียนมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยเอง จะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากอาร์เซ็ปเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีก็ยังสามารถพัฒนาขีดความสามารถในแข่งขันเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายด้านการส่งออก สัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างชาติในธุรกิจ มาตรฐานการดูแลแรงงาน รวมถึงนโยบายด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
 
กลุ่มวางแผนกลยุทธ์และงบประมาณ
ฝ่ายยุทธศาสตร์และวางแผนธุรกิจองค์กร

บทความเศรษฐกิจ

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

3087 Views

BAM Mobile Application

ค้นหาทรัพย์ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส

บริการฝากขาย
อสังหาฯ
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย